ใช้ดนตรีไทยเพื่อการพัฒนาสุขภาพ
ผลวิจัยระบุชัดเด็ก-คนชรามีพัฒนาการดีขึ้น
อาจารย์สุภาสิรีร์ ปิยะพิพัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาดุริยางค์ไทย ภาควิชานาฏดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยถึงการวิจัยถึงการใช้ดนตรีไทยเพื่อบำบัดว่า ตนและอาจารย์มนศักดิ์ มหิงษ์ อาจารย์ประจำร่วมภาควิชานาฏดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “ดนตรีไทยเพื่อการพัฒนาสุขภาพ” เพื่อศึกษาแนวทางการใช้รูปแบบกิจกรรมดนตรีไทยกับกลุ่มผู้เข้ารับการพัฒนา สุขภาพ และศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมก่อนและหลังของกลุ่มผู้เข้ารับการพัฒนาสุขภาพ โดยมีกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาวิจัยที่ประกอบไปด้วย กลุ่มวัยเด็ก กลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มวัยผู้สูงอายุ จำนวน 75 คน ซึ่งกลุ่มตัวอย่างจะได้รับการฝึกกิจกรรมดนตรีไทย จำนวน 16 ครั้ง สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง และแบ่งขั้นการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะก่อนการทดลอง ระยะการทดลอง และหลังการทดลอง โดยผู้ทำการวิจัยได้ใช้เครื่องมือในการวิจัย คือ แบบทดสอบดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยฉบับสมบูรณ์ใหม่ปี 2547 (54 ข้อ) หรือแบบวัดสุขภาพจิตเพื่อประเมินภาวะสุขภาพจิตของบุคคล ซึ่งกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขได้สร้างขึ้น รวมถึงการกลุ่มตัวอย่างได้ร่วมกิจกรรมดนตรีไทย ซึ่งจะให้แต่ละคนเลือกเครื่องดนตรีตามความสนใจและความถนัดของตนเองเช่นบางคนก็เลือกฆ้องวงใหญ่ขิม และอังกะลุง เป็นต้น รวมทั้งให้เลือกเครื่องประกอบจังหวะ เช่น ฉิ่ง ฉาบกลองยาว และให้ร้องเพลง และฟ้อนรำ
อาจารย์สุภาสิรีร์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างจะได้รับการทดสอบก่อนการทดลอง และหลังการทดลองด้วยสถิติผลการวิจัยการเปรียบเทียบคะแนนสุขภาพระหว่างระยะก่อนการทดลองกับระยะหลังการทดลองของกลุ่มตัวอย่างทั้ง 3 กลุ่ม ผลปรากฏว่า ระยะก่อนการทดลองของกลุ่มวัยผู้สูงอายุจะมีคะแนนสุขภาพจิตสูงกว่ากลุ่มวัย เด็ก และกลุ่มวัยรุ่นแต่ทั้ง 3 กลุ่มจะมีสุขภาพจิตต่ำกว่าคนทั่วไป ส่วนระยะหลังการทดลอง กลุ่มผู้สูงอายุ มีคะแนนสูงกว่ากลุ่มวัยเด็กและวัยรุ่น แต่คะแนนสุขภาพจิตของทั้ง 3 กลุ่มอยู่ในเกณฑ์มากกว่าคนทั่วไป จึงสามารถสรุปได้ว่าดนตรีไทยสามารถช่วยฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพจิตใจของมนุษย์ให้ดีขึ้น ช่วยลดความเครียดได้อย่างเห็นผล โดยคะแนนเฉลี่ยสุขภาพจิตของผู้เข้ารับการพัฒนาสุขภาพจิตทั้ง 75 คน มีคะแนนสุขภาพจิตหลังการทดลองสูงกว่าระยะก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 อย่างไรก็ตามตนหวังว่าผลงานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์ในการฟื้นฟูสภาพจิตใจของคนไทยในยุคตึงเครียดในปัจจุบันนี้ได้เป็นอย่างดี
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
update : 07-12-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร