ใครว่ามหา’ลัย ปลอดภัย The Hunting Ground

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน


ใครว่ามหา'ลัย ปลอดภัย The Hunting Ground  thaihealth


ใครว่ามหา'ลัย ปลอดภัย The Hunting Ground ความรุนแรงทางเพศและการปกปิดความจริง


การได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับประเทศหรือระดับโลก อาจเป็นความฝันที่หลายคนบากบั่นเพื่อต้องการให้เป็นความจริง เพราะนอกจากจะได้ร่ำเรียนกับอาจารย์และเพื่อนระดับหัวกะทิ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันเจริญหูเจริญตาและสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน รวมถึงโอกาสเจริญก้าวหน้าในชีวิตการทำงาน การได้เรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำยังมีข้อดีอีกหลายสิ่งที่บางคนนึกไม่ถึง


แต่นั่นไม่ได้การันตีว่า "มหาวิทยาลัยคือพื้นที่ปลอดภัย"


คณะกรรมการนักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) จึงร่วมกับ สสส. และแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ จัดฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง "The Hunting Ground ชมรมล่าหญิง" ซึ่งตีแผ่ปัญหาความรุนแรงทางเพศทั้งต่อผู้หญิงและผู้ชาย และการปกปิดความจริงในสถาบันอุดมศึกษาทั่วสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่มหาวิทยาลัยประจำรัฐไปจนถึงมหาวิทยาลัยเอกชนในกลุ่มไอวีลีก (Ivy League) อย่างมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด, มหาวิทยาลัยเยล และวิทยาลัยดาร์ตมัธ ที่ถูกเอ่ยถึงในสารคดีเรื่องนี้


ทว่าสิ่งที่น่ากลัว กลับไม่ใช่เพียงความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่รวมถึงการเยียวยาและความช่วยเหลือของสถาบันที่ไม่เคยมาถึง


"เราไม่มีทนาย มีแต่เด็กอายุ 18-19 ที่ลุกขึ้นมาท้าชนมหา'ลัยตัวเอง" แอนนี่ คลาร์ค มหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนาแชเปิลฮิลล์ ผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศจากนักศึกษาชายร่วมสถาบัน และ แอนเดรีย พิโน เพื่อนนักศึกษาที่เคยผ่านประสบการณ์แบบเดียวกัน ทั้งสองคนร่วมกันต่อสู้เพื่อให้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในสถาบันการศึกษาทั่วสหรัฐฯได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง


มหาวิทยาลัยพื้นที่ปลอดภัยจริงหรือ?


ดร.สายพิณ ศุพุทธมงคล คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. ดอกเตอร์จาก ม.ฮาร์วาร์ด บอกว่านักศึกษาส่วนใหญ่ที่เรียนใน ม.ฮาร์วาร์ด อย่างต่ำคือปริญญาโท เนื่องจากเป็นวิชาชีพ ที่น่าสนใจคือไม่มีเคสของเด็กปริญญาตรี ในแง่นี้มหาวิทยาลัยเขาเก็บความลับได้ดีอย่างน่าอัศจรรย์


"เรารู้สึกประหลาดใจที่สารคดีสามารถขุดข้อมูลของมหาวิทยาลัยอื่นมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ แต่ว่าขุดของ ม.ฮาร์วาดได้แค่รายเดียวซึ่งเป็นผู้ใหญ่ ฉะนั้น คดีนี้มหา'ลัยทำอะไรไม่ได้มาก หากคดีไปถึง ศาลก็ไปไม่ถึงไหน ตัวคนที่โดนข่มขืนก็เป็น แม้นักศึกษาที่มาเล่าประสบการณ์จะเรียนกฎหมายโดยตรง"


"ที่น่าสนใจคือ วิธีการมองมหาวิทยาลัย ใครบอกว่ามหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ปลอดภัย? ใครบอกว่าคุณเข้ามหาวิทยาลัยแล้วจะ ปล่อยเนื้อปล่อยตัว กินเหล้าได้ ใครบอก?"


"จริงๆ มหาวิทยาลัยก็เหมือนหมู่บ้าน เหมือนเมืองๆ หนึ่ง ในโรงเรียนมัธยมก็เหมือนกัน ยิ่งโรงเรียนที่มีชื่อเสียงจะมีเด็กรังแก กันมาก การมองว่าเด็กไม่มีพิษสง การมองสถาบันการศึกษาเป็น พื้นที่ปลอดภัย นี่เป็นความเข้าใจผิด เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาชาย ราวกับคุณได้ภูมิคุ้มกัน หมายที่จะกระทำ รุนแรงใดๆ ก็ได้ แล้วคิดว่าเป็นพื้นที่พิเศษ"


"หนังเรื่องนี้บอกว่าเราต้องมองมันใหม่ แต่จะมองอย่างไร เป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันคิด" ดร.สายพิณทิ้งท้ายให้คิดตาม


ใครว่ามหา'ลัย ปลอดภัย The Hunting Ground  thaihealth


 'การโทษเหยื่อ' กับวัฒนธรรมแห่งความเงียบในความรุนแรงทางเพศ


"ดูหนังเรื่องนี้หลายรอบ แต่ทุกครั้งยังอึ้งในหลายตอนของหนัง รู้สึกว่าประสบการณ์ของคนที่เจอเหตุการณ์เหล่านี้ยังกระแทกความรู้สึกเรา" ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ เกริ่นหลังภาพยนตร์ "ชมรมล่าหญิง" จบลง


และว่า ยังทึ่งกับปรากฏการณ์ความเหมือนกันของเหตุการณ์ ในภาพยนตร์ ที่เป็นเรื่องราวในมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา กับ บริบทที่แวดล้อมกรณีข่มขืนในสังคมไทยซึ่งไม่จำกัดแค่พื้นที่มหาวิทยาลัย เท่าที่รับรู้ ม.ฮาร์วาร์ด ปกปิดเก่ง แต่มหา'ลัยไทยปกปิดเก่งยิ่งกว่า


"เราไม่ค่อยได้ยินข่าวทางการ เรื่องความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย ที่น่าสนใจคือจากการฉายหนังใน 3-4 สถาบัน แต่ละแห่งจะมีคนบอกว่าตัวเองเจอเหตุการณ์คล้ายกัน บ้างก็ เพื่อนเจอ คล้ายกันคือมหาวิทยาลัยไกล่เกลี่ยให้ยอมความ พ่อแม่ ไม่ให้แจ้งความ จนเป็นโรคซึมเศร้า จะทำอย่างไร"


บริบทความเหมือนที่แวดล้อมการข่มขืนในหนังกับสังคมไทย สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ "การโทษเหยื่อ" (Blaming the victim)


"ความรุนแรงทางเพศเป็นอาชญากรรมที่แปลก หากเราถูกตีหัว ถูกฉกทรัพย์สิน เราจะรีบบอกคนรอบข้างว่าฉันเจอเหตุการณ์นี้ คนรอบข้างจะบอกให้รีบแจ้งความ แต่กับคนที่ประสบเหตุความรุนแรงทางเพศ หลายคนไม่กล้าบอกใคร อึ้ง เงียบอยู่นาน ส่วนรายที่ ตัดสินใจบอกครอบครัว พ่อแม่จะบอกว่าอย่าไปบอกเรื่องนี้กับใคร อย่าเอาเรื่อง หรือถ้าบอกผู้บริหารมหาวิทยาลัย เขาก็จะให้ไกล่เกลี่ย"


"คนหนึ่งไปบอกอาจารย์อาจารย์บอกว่า 'เพื่อนผู้ชายเธอที่เขาพยายามข่มขืนเธอ เขาเป็นคนดี เธอจะทำให้เขาเสียอนาคตหรือ?' นี่เหมือนในหนังมาก เหมือนจนทำให้แปลกใจ" ดร.วราภรณ์เล่า ก่อนสรุปว่า สิ่งที่ตามมาคือ วัฒนธรรมของความเงียบในความรุนแรงทางเพศ


"มันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกพูดถึง คนที่เจอเหตุการณ์ส่วนใหญ่จะปิดปากเงียบ ในเมืองไทยเราไม่เคยรู้ว่าสถิติการล่วงละเมิดทางเพศจริงๆ มีอยู่เท่าไหร่ เพราะคนที่ถูกข่มขืนส่วนใหญ่ไม่แจ้งความ หรือไม่บอกคนรอบข้างด้วยซ้ำ"


อีกส่วนที่ ดร.วราภรณ์มองว่า เหมือนกันระหว่างหนังกับสังคมไทยคือ วัฒนธรรมการลอยนวล "ละครเป็นพื้นที่แสดงชัดเจน เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมที่ ปล่อยให้มีการลอยนวลในกรณีข่มขืน มันเหมือนวงจรซ้ำ เหยื่อ ไม่กล้าพูดเพราะพูดไปแล้วก็ถูกกล่าวหา ว่าไปหาเขาทำไม? เมาหรือเปล่า?พอลอยนวล คนก่อเหตุก็ทำซ้ำ กลายเป็นวงจรอุบาทว์"


อีกข้อสังเกตของ ดร.วราภรณ์ คือการเคลื่อนไหวของ แอนนี่ คลาร์ค และ แอนเดรีย พิโน หลายคนอาจมองว่าเขาเป็นเด็ก แต่น่าประทับใจว่าคนที่เรามองว่าเป็นเด็ก สามารถลุกขึ้นสู้โดย ไม่มีใครสนับสนุน ไม่มียุทธศาสตร์ ดิ้นรนหาวิธีด้วยตัวเอง กระทั่งเขาพบว่า การใช้เรื่องเล่าส่วนตัว (Personal narratives) ทำให้สื่อสนใจสังคมสนใจ เพราะรู้ว่าเรื่องราวเกิดกับใคร


'ผู้ชาย'ก็เป็น'เหยื่อ' ได้เหมือนกัน


"การทำร้ายร่างกายไม่ว่าจะแบบไหน ต่างเป็นการละเมิดเนื้อตัวร่างกาย ทำให้ 'ขวัญหาย' เหมือนกัน จะมีความหวาดระแวงติดค้างในใจ หรือคนที่มีประสบการณ์ขโมยขึ้นบ้าน จะบอกว่า 'ความรู้สึกที่มีต่อบ้าน' เปลี่ยนไป ยิ่งเป็นเรื่องทางเพศ จะมีมิติของระบบการให้คุณค่าในสังคมที่บวกทับเข้า ไปอีก"


"พอจะรู้กันอยู่ว่าในแง่ของเรื่องเพศ จะมีการให้อิสระกับเพศชายมากกว่า มีลักษณะของการควบคุมเพศหญิงตั้งแต่เด็กๆ เช่น อย่านั่งอ้าขา วิ่งก็อย่าให้กระโปรงเปิด โตขึ้นมาหน่อยก็สอนให้รักนวลสงวนตัว เป็นระบบวัฒนธรรมที่พยายามควบคุมเรื่องเพศ ของผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย… เหมือนเป็นภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบของคนที่มีความเสี่ยงที่ต้องระวังตัวเอง ไม่ไปที่เปลี่ยว ไม่ไปกับ ผู้ชายสองต่อสอง อยู่ในสำนึกของคน" ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะ ผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศกล่าวต่างกับกรณีที่เหยื่อเป็นเพศชาย ดร.วราภรณ์บอกว่า หากถูก ล่วงละเมิด เท่ากับศักดิ์ศรีความเป็นชายถูกย่ำยี


 "เคยทำงานเรื่องการคุกคามทางเพศกับพนักงาน ขสมก. พบว่าการคุกคามทางเพศเกิดกับทั้งผู้หญิงและชาย แน่นอนว่าเกิดกับ ผู้หญิงมากกว่า แต่ความยากในการออกมาพูดหรือบอกเล่าเรื่องราวของผู้หญิงและชายนั้นต่างกัน"


"ในหนังจะเห็นว่าเป็นผู้ชายยิ่งพูดยาก เพราะว่ามันมีอีกแง่มุมหนึ่ง เป็นวัฒนธรรมเรื่องเพศที่กลับด้าน แต่ว่าสร้างความเจ็บปวด สร้างความลำบากให้ผู้ชายที่ถูกข่มขืน เพราะมิติหนึ่งคือ 'ความเป็นชาย' ผู้ชายควรจะเข้มแข็งสิ ถ้าเป็นผู้ชายยังไงต้องสู้ได้อยู่แล้ว เหมือนในหนังคนมักมองผู้ชายที่ถูกข่มขืนว่ายอมเองไม่ใช่ เหรอ? หรือผู้ชายจำนวนหนึ่งที่ถูกข่มขืนอาจเป็นคนที่ไม่ conformity กับ norm ทางเพศ ไม่แสดงความเป็นชายที่แข็งแกร่งพอ ก็อาจจะเป็นการข่มขืนเพื่อกลั่นแกล้ง" ดร.วราภรณ์แสดงความเห็นหยุด'ตีตรา'เหยื่อเสียที


"สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก่อนเป็นสารคดีเรื่องนี้ คือการยอมรับ ตัวเองของผู้โดนกระทำ" นลินี นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ที่เคยมีประสบการณ์ถูกล่วงละเมิดทางเพศกล่าว


"สำหรับเรามันยาก… เราเป็นคนหนึ่งที่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ มันจึงยากสำหรับคนที่ออกมาพูดว่าเราเคยโดนอย่างนั้นอย่างนี้ ยิ่งเป็นสารคดีที่ถูกเผยแพร่ออกไปในที่สาธารณะที่เราไม่รู้ว่าจะไปฉายที่ไหนบ้าง มันอาจเป็นความกล้าของผู้ถูกกระทำทั้งหญิงและชายในเรื่อง"


"เหยื่อมักถูกตีตรา ถูกทำให้เป็นผู้ผิดเสมอ และถูกทำให้เงียบที่สุด และคนที่กระทำก็ยังลอยนวลและถูกปกป้อง เพื่อที่สุดท้ายแล้ว มันจะเป็นกระบวนการปกป้องชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยหรือในสารคดีคือนักกีฬา แต่สุดท้ายแล้ว ผู้ถูกกระทำมักเป็นฝ่ายที่ต้องจมอยู่กับอะไรไม่รู้ ต้องขวนขวายหาวิธีการปลดปล่อยตัวเองให้ หลุดจากสภาวะนั้นเสียที"


"มันยากนะที่จะบอกว่าตัวเองเคยเจอเหตุการณ์แบบนั้น มันไม่เคยหายไปจากตัวเราเลย" เรื่องราวของนลินี ทำให้ทุกคนเงียบงัน ตามมาด้วยข้อคิดเห็นของผู้ร่วมเสวนาและผู้ฟังถึงสาเหตุ ที่มาที่ไปของการล่วงละเมิดทางเพศ


ก่อนการสรุปของนลินี ว่าในความเป็นจริง เราไม่สามารถแยกโลกชาย-หญิงได้ ปัญหาเรื่องการข่มขืน คือผู้กระทำเป็นคนที่มีความต้องการทางเพศ แล้วออกมา "ล่า' แต่ก็ยังมีคนที่มีความต้องการแล้วไม่ออกมาล่า ถ้ามีความต้องการทางเพศแล้วอยากมีอะไรกับเรา ถ้าเราไม่เอา ปราศจาก consent ความยินยอมจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นั่นคือ การล่วงละเมิด ไม่ว่าคุณจะจับตัวเขาหรือทำอะไรก็ตาม ควรสร้างพื้นที่ที่มันอยู่ร่วมกันได้ของทุกๆ เพศ" นลินีทิ้งท้าย

Shares:
QR Code :
QR Code