“โสภณ ฉิมจินดา” ชายพิการ หัวใจเต็ม 100%

หนังสั้นคนพิการแต่ไม่ใช่สำหรับคนพิการ

 “โสภณ ฉิมจินดา” ชายพิการ หัวใจเต็ม 100%

          “ผมมีโอกาสเดินทางไปสำรวจหาโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารถึง จ.แม่ฮ่องสอน ด้วยนิสัยส่วนตัวเป็นคนชอบการเดินทาง การถ่ายภาพ จึงได้อาศัยการเดินทางด้วยการโบกรถเอา และขากลับรถกระบะที่ผมโบกได้ประสบอุบัติเหตุตกเขา ทำให้กระดูกหลังขาดและอัมพาตในช่วงล่างทั้งหมด ทุกวันนี้การเดินทางต้องพึ่งพายานพาหนะคู่ใจคือ วีลแชร์”

 

          หากเป็นคุณจะเป็นเช่นไร เมื่อตั้งใจบริสุทธิ์ว่าจะไปหาสถานที่ทำบุญ แต่ต้องลงเอยด้วยการพึ่งพาวีลแชร์ไปตลอดชีวิต แถมด้วยวัยหนุ่มเพียง 31 ปี ชีวิตอีกยาวไกลจะต้องมีข้อจำกัดเพิ่มมากขึ้นคุณจะเป็นเช่นไร

 

          เศร้า เหงา ท้อแท้กับชีวิต จนอาจเลยเถิดไปถึงขั้นฆ่าตัวตายเพราะรับไม่ได้กับสภาพร่างกายและการถูกสังคมมองว่าเป็นคนอีกชนชั้นหนึ่ง

 

          แต่คงไม่ใช่สำหรับเขาคนนี้ โสภณ ฉิมจินดา ชายพิการ แต่หัวใจเต็ม 100% วีลแชร์ไม่ทำให้เขามีข้อจำกัดในการเดินทาง และการถ่ายภาพของเขาเลยแม้แต่น้อย

 

          และในงาน “เทศกาลภาพยนตร์และการสัมมนาเรื่องความพิการ Disability film festival & seminar 2008″ ที่โรงแรมเซนทารา เซ็นทรัลเวิร์ล ชั้น 22 ระหว่างวันที่ 20-21 มิถุนายนนี้ จัดโดยแผนงานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการในสังคมไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

(สสส.) ที่มีการประกวดหนังสั้นเพื่อมอบรางวัลหนังสั้นยอดเยี่ยม และหนังสั้นยอดนิยมจากผู้ที่โหวดผ่านเว็บไซต์ www.thaihealth.or.th

 

          เขาก็ไม่ยอมแพ้และได้ส่งหนังสั้นจากชีวิตจริงเข้าประกวดด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุผลที่ว่า “ถ้ามีการประกวดหนังสั้นเกี่ยวกับคนพิการถ้าให้คนปกติมาทำหนังก็คงไม่ได้บอกรายละเอียดและความรู้สึกได้ดีเท่ากับคนพิการเอง”

 

          เขาเล่าว่า หนังสั้นเรื่องนี้ทำมาจากเรื่องของตัวเอง นิสัยส่วนตัวที่ชอบการเดินทาง ชอบการถ่ายภาพ จึงคิดถึงเรื่องใกล้ตัว ผมจึงถ่ายทอดเรื่องราวที่ผมจะต้องเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ ในแต่ละวันเป็นแบบเรียลลิตี้

 

          “การถ่ายหนังสั้นเรื่องนี้เป็นการเล่าเรื่องที่ผมไปในสถานที่ต่างๆ ภายใน 1 วันของผมเอง โดยฉากประทับใจในหนังสั้นเรื่องนี้”

 

          ตอนหนึ่งที่เป็นทางทอดยาว ผมจำเป็นที่จะต้องสัญจรทางนั้นแต่มันไม่มีทางลาด ขณะเดียวกันก็มีผู้ที่พร้อมจะมาช่วยเหลือ หรืออีกมุมหนึ่งก็มีคนเร่ร่อนมาขอเงินบริจาคกับผู้พิการอย่างผมในขณะเดียวกันคนพิการกลับทำทุกอย่างเพื่อยังชีพ ไม่ว่าจะเป็นการขายของเล็กๆ น้อยๆ แสดงให้เห็นว่าคนพิการสามารถช่วยเหลือคนกลุ่มอื่นในสังคมได้เช่นกัน

 

          และที่สำคัญ ไม่ได้เป็นเพียงผู้ด้อยโอกาส ไร้ศักยภาพ หรือเป็นพวกที่รอรับโอกาส หรือเป็นกลุ่มคนที่มีเวรกรรมในชาติปางก่อน เหมือนที่คนในสังคมส่วนใหญ่ตีตราไว้”

 

          ไม่เพียงแต่มุมมองเรื่องนี้ ยังมีอีกแง่มุมที่เป็นการสะท้อนถึงระบบเครื่องอำนวยความสะดวกของไทยที่ยังไม่ช่วยเหลือผู้พิการใดๆ เลย แต่ในมุมที่ดูจะโหดร้ายกับการดำรงชีวิตของคนพิการเมื่อพ้นรั้วบ้านแล้ว หนังสั้นเรื่องนี้ยังสะท้อนให้เห็นอีกมุมที่งดงามและไม่หมดไปจากสังคมไทย คือ น้ำใจ น้ำใจที่หลายคนยินดีและพร้อมใจหยิบยื่นให้เขา เมื่อต้องการขึ้นรถโดยสาร หรือความช่วยเหลืออื่นที่ร้องขอ

 

          “ประสบการณ์บนโลกวีลแชร์ของผมที่ได้ถ่ายทอดมาเป็นหนังสั้นเรื่องนี้ ทำให้ผมคิดว่า คนพิการ ก็คือความหลากหลายหนึ่งในสังคมนี้เท่านั้น เช่นเดียวกับที่ในสังคมนี้มีเด็ก มีคนแก่ มีคนสูง มีคนเตี้ย มีคนผมดำ มีคนผมขาว ในขณะที่สังคมเห็นว่าคนพิการคือคนด้อยค่า ไร้ศักยภาพ แต่จริงๆ แล้วคนพิการไม่ใช่เช่นนั้นเลย และพวกเราเป็นเพียงคนหนึ่งบนความหลากหลายของอีกหลายกลุ่มในสังคมที่มีเรื่องราวที่น่าสนใจแตกต่างกันไป”

 

          คุณจะไม่ไปให้กำลังใจเขาและหนังสั้นคนพิการอีก 4 เรื่อง และงานสัมมนาดีๆ เกี่ยวกับคนพิการที่ปกติก็ควรรับรู้จริงหรือ

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต

 

 

 

 

Update : 26-08-51

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code