“โลกสร้างเด็ก เด็กสร้างโลก”
เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก เวทีเสวนา “ตั้งหลักใหม่ เติมความฝันเด็ก-เยาวชนไทย”
ภาพโดย ชยวี ลิ้มถาวรรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th
โลกยุคปัจจุบันเปิดกว้างในทุกมิติ ทั้งการสื่อสารด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย การแสดงออกทางความคิด จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองให้ความสำคัญและเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของเด็กยุคใหม่ เพื่อคอยเติมเต็มสิ่งที่พวกเขาสนใจและถนัด
ด้วยเหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว จึงร่วมกับศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101 Public Policy Think Tank หรือ 101 PUB) จัดเสวนาสาธารณะ “เด็กและครอบครัวไทยใน 3 วิกฤต : รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2565” พร้อมเวทีเสวนา “ตั้งหลักใหม่ เติมความฝันเด็ก-เยาวชนไทย”
“เด็กทุกคนเหมือนเป็นต้นน้ำที่ควรได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และสังคม เป็นต้นทางที่จะทำให้มีทุนสุขภาพติดตัวไปจนถึงวัยเติบโต” เป็นมุมมองของ นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.
นางสาวณัฐยา ให้ข้อมูลว่า การเปลี่ยนแปลงไปของสังคมทำให้เราควรหาวิธีการใหม่ ๆ ในการเลี้ยงดูเด็ก ๆ พ่อแม่ผู้ปกครองต่างพยายามหาข้อมูลเพื่อรับมือกับภาวะวิกฤตหลากหลายด้านในอนาคต ขณะที่เราต้องการคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างสังคมที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต ดังนั้น เด็กทุกคนควรเข้าถึงโอกาสและทรัพยากรต่าง ๆ ที่เพียงพอ
ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. ยังเผยให้ฟังถึง 7 แนวโน้มสำคัญสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัวปี 2565 ที่ต้องเฝ้าระวัง ประกอบด้วย
1. เด็กและเยาวชนเผชิญภาวะการเรียนรู้ถดถอย พัฒนาการหยุดชะงัก
2. เด็กและครอบครัวเข้าถึงบริการของรัฐได้ยากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด
3. เด็กและเยาวชนถูกผลักเข้าสู่โลกออนไลน์โดยขาดฐานที่จำเป็น
4. เด็กและเยาวชนเครียดและมีปัญหาสุขภาพจิตสูงขึ้น
5. เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ภาครัฐสกัดกั้นด้วยความรุนแรงมากขึ้น
6. โครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ ครอบครัวมีขนาดเล็กและเปราะบางยิ่งขึ้น
7. ความไม่ลงรอยระหว่างรุ่นรุนแรงขึ้น บั่นทอนความสัมพันธ์ภายในครอบครัว
ด้าน รศ. ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เล่าให้ฟังว่า เด็กรุ่นใหม่ถูกคาดหวังให้เป็นรุ่นที่มีความสมบูรณ์แบบ ต้องมีทักษะต่าง ๆ มากมาย ซึ่งนโยบายส่วนใหญ่ ก็มักจะมาจากการที่ผู้ใหญ่คิดแทนเด็ก ไม่ได้รับฟังเสียงของเด็ก ๆ ทำให้เกิดความวิตกกังวลเพราะถูกคาดหวังว่าจะต้องประสบความสำเร็จโดยเร็ว สิ่งเหล่านี้อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตกับเด็กได้
“โลกสมัยใหม่จำเป็นต้องมีทักษะที่มากขึ้น และควรเลือกมุ่งพัฒนาเด็กและเยาวชน แต่เราก็ต้องมีทรัพยากรมีงบประมาณที่เพียงพอในการสนับสนุนพวกเขาด้วย ดังนั้น เราควรลดค่าใช้จ่ายในเรื่องที่ไม่จำเป็นออก และเพิ่มเติมงบประมาณให้กับการพัฒนาทักษะเด็กและเยาวชนไทยมากขึ้น” รศ. ดร.ประจักษ์ กล่าว
สอดคล้องกับ หมอโอ๋-จิราภรณ์ อรุณากูร ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์รามาธิบดี ม.มหิดล เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน อธิบายว่า สภาพสังคมถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถช่วยโอบอุ้มความฝันของเด็ก ๆ แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่าสังคมถูกกดทับด้วยคำว่าต้องอยู่รอด เช่น เด็กบางคนมีความฝันอยากเป็นครูแต่ไม่มีทุนทรัพย์ มีภาระที่ต้องดูแลพ่อแม่ที่ป่วย ทำให้ถูกขอร้องให้ลาออกมาช่วยทำงานหาเงินเพื่อความอยู่รอดของครอบครัว ดังนั้น จะเห็นว่าเราสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่มีค่าไปมากมายให้กับความอยู่รอดเหล่านี้
หมอโอ๋ บอกว่า ขณะที่เด็กบางคนต้องเผชิญกับความคาดหวัง ต้องสอบแข่งขันให้ผ่าน เนื่องจากรู้สึกว่าพ่อแม่ทุ่มให้หมดหน้าตัก เพื่อส่งเข้าสู่ระบบการศึกษาที่พ่อแม่เห็นว่าน่าจะสร้างอนาคตที่ดีให้กับลูก พอจบออกมาจะได้เป็นเจ้าคนนายคน ทำอาชีพที่สังคมให้การยอมรับ
“ความเครียดสะสมของเด็ก ๆ และอาจกลายเป็นปัญหาซึมเศร้าในอนาคต ที่แย่ไปกว่านั้นเด็กจำนวนหนึ่งตัดสินใจไม่มีความฝันในชีวิตไปเลยดีกว่า เพราะฝันไปก็เท่านั้น สิ่งเหล่านี้จึงเป็นปัญหาจากการที่สังคมไม่ได้โอบอุ้ม หรือช่วยสนับสนุนทำความฝันให้เป็นจริง” เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน กล่าว
ขณะที่ ครูลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์ เจ้าของสถาบันสอนภาษา ANGKRIZ บอกว่า ผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องเข้าใจเด็ก ๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งที่ผู้ใหญ่อย่างเราทำได้คือลองรับฟังพวกเขา รับฟังโดยไม่ตำหนิ หรือไม่ต้องมีคำสอนกลับไปก็ได้
“สำคัญที่สุดคือการรับฟังกันและกัน ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็ก เพียงเท่านี้ก็ช่วยลดความรู้สึกกดดันของเด็กลงไปได้บ้าง อย่างไรก็ตาม อยากให้โรงเรียนและทุกครอบครัวให้ความสำคัญกับการพูดคุยกันด้วยเหตุผลหรือรับฟังเด็กมากกว่านี้ เพื่อทำให้บ้านและโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเด็ก ๆ อย่างแท้จริง” ครูลูกกอล์ฟ กล่าว
เด็กและเยาวชนในวันนี้คืออนาคตของสังคมในวันข้างหน้า สสส. และภาคีเครือข่ายขอสนับสนุนทุกความฝันของเด็กและเยาวชน ตามเส้นทางที่แต่ละคนได้เลือกเอง รวมไปถึงการรณรงค์เฝ้าระวังลดปัจจัยเสี่ยงปัญหาสุขภาวะ เช่น เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด การพนัน และอุบัติเหตุทางท้องถนน เป็นต้น เพื่อให้เด็กและเยาวชนเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ