โลกมืดสนิท จากลูกศิษย์ สู่…การเป็น “ครูสอนภาษาจีน”
ชวนรู้จัก! “นันทพร ก้อนรัมย์” ผู้ช่วยครูและสอนเสริมภาษาจีนโรงเรียนคนตาบอดกรุงเทพฯ ที่แม้ดวงตาจะมองไม่เห็น แต่เธอมีจิตวิญญาณความเป็นครูเป็นเลิศ
บ้านเกิดของ “นันทพร” อยู่ที่ อ.กระสังข์ จ.บุรีรัมย์ เธอมีสถานะเป็นคนพิการทางการเห็นแบบบอดสนิทตั้งแต่กำเนิดตั้งแต่แรกเกิด แม้ดวงตามของเธอจะมองโลกใบนี้ไม่เห็น แต่…สิ่งที่เป็นไม่เคยทำให้เธอหมดกำลังใจและย่อท้อเลยสักนิดเดียว
ชีวิตที่ “ครูนันทพร” ฝันใฝ่ ตั้งแต่วัยเด็ก
ดวงตามองไม่เห็น แต่…ฉันเรียนภาษาจีนได้ เป็นสิ่งที่นันทพรย้ำเตือนตัวเองตลอด เพราะเธอเชื่อว่า การฟัง พูด และอ่าน ผ่านประสาทสัมผัส 3 สิ่งนี้ คือ “พรสวรรค์” ของคนพิการทางการเห็น ทำให้ชีวิตที่ผ่านมา นันทพรพยายามฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้ได้เรียนภาษาจีนที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
เส้นทางชีวิตของนันทพรไม่ง่าย เธอต้องสอบสัมภาษณ์หลายด่าน เพื่อพิสูจน์ว่าความบกพร่องทางสายตาของเธอว่าไม่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนภาษาจีน ในที่สุดความพยายามของนันทพรไม่สูญเปล่า เธอได้รับโอกาสให้เข้าเรียนสาขาวิชาการสอนภาษาจีนตอนอายุ 20 ปี ใช้เวลาเรียน 5 ปี เมื่อจบการศึกษา เธอได้รับบทบาทเป็นครูผู้ช่วยที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ
“สติปัญญา และ ความรู้ เป็นสมบัติที่ทุกคนควรได้รับเท่าเทียมกัน เพื่อเป็นใบเบิกทาง ทำให้ชีวิตมี “สุขภาวะ” เพื่ออาชีพที่ดีและสร้างชีวิตครอบครัวให้มีความสุข ” นันทพร กล่าว
กว่านันทพรจะเรียนรู้วิชาภาษาจีน จนคล่องแคล่วไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ อักษรจีนมี 4-5 พันตัว รากคำศัพท์มีความซับซ้อน ทำให้การหัดออกเสียงยากกว่าภาษาไทยและภาษาอังกฤษหลายเท่าตัว ส่วนการพิมพ์อักษรเบรลล์ภาษาจีน ต้องขยัน หมั่นเพียรมาก เพราะต้องใช้พรสวรรค์ด้านการฟัง พูด อ่าน ที่เธอมีให้เป็นประโยชน์ จนในที่สุดเธอพิสูจน์ตัวเองให้ครู อาจารย์ เพื่อน ยอมรับและนับถือความมุ่งมั่นของเธอ
เทคโนโลยี “เครื่องมือช่วยชีวิต” ครูนันทพร เรียนจบสาขาวิชาการสอนภาษาจีน ม.แม่ฟ้าหลวง
การเรียนสำหรับคนพิการในยุคนี้ นันทพรมองว่า การมีแอปพลิเคชันในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเป็นเรื่องโชคดี เพราะช่วยให้การสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ ง่ายขึ้นหลายเท่าตัว อยู่บ้าน นั่งรถ ลงเรือ ก็ฝึกฝนภาษาจีนได้ทุกที่ ไม่ใช่แค่เรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว ประโยคแรกที่นันทพรพูดได้คือชื่อตัวเองที่ถูกแปลเป็นภาษาจีนโดยเหล่าซือหรือครูของเธอ ส่วนอักษรเบรลล์ภาษาจีนที่พิมพ์เป็นประโยคได้ครั้งแรก คือ “หว่ออ้ายหนี่” ฉันรักเธอ
“สังคมต้องไม่คิดว่า คนพิการไร้ศักยภาพ เขาเหมือนคนทั่วไป แค่บกพร่องทางร่างกาย แต่…สมอง สติปัญญา ยังใช้งานได้อยู่”
ในฐานะคนพิการทางการเห็น ที่ผลักดันตัวเองจนมาเป็นครูได้ นันทพรอยากให้สังคมและบริษัทต่าง ๆ มองว่า คนพิการมีความสามารถหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษา การเรียนคอมพิวเตอร์ ด้านการเข้าสังคม ช่วยเหลือตัวเองได้แค่ได้รับโอกาสทางการศึกษาและการจ้างงาน ขอบคุณสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่มีส่วนทำให้ชีวิตของคนพิการมีคุณค่า เห็นศักยภาพ ความโดดเด่นของคนกลุ่มนี้ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจ้างงานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของพวกเราทุกมิติ จนทำให้รู้สึกว่า “ความเท่าเทียมกัน” มีจริงในสังคม ไม่ว่าเราจะมีต้นทุนชีวิตแบบไหน หรือ จะเกิดมามีรูปร่าง หน้าตาอย่างไร