“โลกที่เหมาะสมสำหรับเด็ก” ในด้านความปลอดภัย

พบเด็กไทยตายปีละกว่าสามพันราย เป็นทารกกว่า 100 ราย

“โลกที่เหมาะสมสำหรับเด็ก” ในด้านความปลอดภัย 

          “โลกที่เหมาะสมสำหรับเด็ก (WORLD FIT FOR CHILDREN)” เป็นข้อตกลงร่วมระหว่างประเทศที่มีการขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิบัติจริงในรัฐบาลแต่ละประเทศ ในประเทศไทยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหน่วยงานหลักและเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดทำนโยบายระดับชาติยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติด้านการพัฒนาเด็กตามแนวทางโลกที่เหมาะสมสำหรับเด็กร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องและเสนอให้ท่านนายกรัฐมนตรีเมื่อเร็วๆ นี้

 

          การสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็กจากบุคคลและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องหนึ่งในแผนความปลอดภัยเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการดูแลเพื่อให้เติบโต เล่น และมีพัฒนาการที่ดีในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยอย่างเสมอภาคกัน ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (convention on the rights of the child) ได้กำหนดให้รัฐภาคีต้องดำเนินการคุ้มครองเด็กและดูแลตามเหตุความจำเป็นทั้งปวง โดยต้องยอมรับว่าเด็กทุกคนมีสิทธิติดตัวที่จะมีชีวิตและต้องประกันอย่างเต็มที่ให้มีโอกาสในการอยู่รอดและพัฒนาอย่างเสมอภาค พร้อมทั้งต้องดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวง ในอันที่จะคุ้มครองเด็กจากความรุนแรงที่เกิดจากการถูกกระทำโดยเฉพาะการพิพาทกันด้วยอาวุธ ส่งผลทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงการทอดทิ้ง การปฏิบัติโดยประมาท ทำให้เกิดการผิดพลาดหรือการแสวงหาผลประโยชน์ เป็นต้น

 

          นอกจากนั้น รัฐภาคีต้องให้สิทธิแก่เด็กที่จะมีเวลาพักผ่อน เข้าร่วมกิจกรรมการละเล่นทางสันทนาการที่เหมาะสมตามวัยของเด็ก ที่สำคัญรัฐต้องดำเนินมาตรการทั้งปวงดังกล่าวมาแล้วอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อประกันให้เกิดการคุ้มครองดูแลเด็กอย่างจริงจัง

 

          ในบ้านเราได้มีกฎหมายใหม่คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ เป็นเครื่องมือสำคัญอันจะนำไปสู่การรวบรวมสรรพกำลังของภาครัฐ เอกชน และองค์กรอิสระเพื่อค้นหากลุ่มเสี่ยง และแก้ปัญหาให้กับเด็กที่ต้องอยู่ในภาวะเสี่ยงต่างๆ รวมทั้งช่วยเหลือและพัฒนาสถาบันครอบครัว พ.ร.บ.ดังกล่าวมีสาระสำคัญระบุชัดถึงแนวทางปฏิบัติและประโยชน์สูงสุดที่มีต่อเด็ก และไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม โดยกำหนดเรื่องการสงเคราะห์และคุ้มครอง อาทิ เด็กที่ถูกเลี้ยงดูต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานถูกละเลย ถูกใช้ไหว้วานหรือชักจูงอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตราย เช่น เด็กขายพวงมาลัย เด็กชกมวย ส่วนเด็กที่ต้องได้รับการคุ้มครอง ได้แก่ กลุ่มเด็กที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น เมาแล้วขับ เที่ยวยามวิกาล เล่นการพนัน เร่ร่อน ก่อความรุนแรง หรือทำผิดกฎหมายอื่นๆ เป็นต้น

 

          ใน พ.ร.บ.นี้ยังได้กำหนดให้ครอบครัว ชุมชน และสังคมมีบทบาทร่วมกัน ในการจัดการความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็กในระดับครอบครัวได้กำหนดให้ผู้ดูแลเด็กมีหน้าที่ต้องจัดการให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำ เช่น สั่งสอน ควบคุมเด็กที่มีพฤติกรรมเสี่ยง

 

          อย่างไรก็ตาม ในครอบครัวที่ไม่มีศักยภาพเพียงพอในการดูแลตามเกณฑ์ที่กำหนด พ.ร.บ.ได้กำหนดให้เป็นบทบาทของชุมชนและสังคม อันประกอบด้วยผู้ปกครองชุมชน องค์กรท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงานต่างๆ จะต้องมีความรับผิดชอบในการจัดการสงเคราะห์และคุ้มครองเด็กแทน

 

          ทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นที่มาของการละเมิดสิทธิเด็กทั้งสิ้น ทำให้แต่ละปีเด็กไทยต้องเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจำนวนกว่าสามพันราย เป็นเด็กทารกกว่า 100 ราย จมน้ำ เป็นเหตุอันดับหนึ่ง แต่ละปีเด็กต้องสังเวยให้กับการจมน้ำกว่า 1,400-1,600 ราย ต่อมาคือการจราจร ปีละ 700-900 ราย นอกจากนั้นก็เป็นสาเหตุอื่นอีกหนึ่งพันกว่าราย เช่น การบาดเจ็บจากกระแสไฟฟ้าจากวัสดุ อุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ การขาดอากาศหายใจ จากความร้อน เช่นไฟน้ำร้อนลวก ตกจากที่สูง สารพิษ แมลงสัตว์กัดต่อย ฯลฯ เป็นต้น

 

          เมื่อวิเคราะห์รากเหง้าของปัญหาการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุและความรุนแรงเหล่านี้แล้ว พบว่า ต้นตอที่สำคัญเกิดจากสิ่งแวดล้อมเสี่ยงและผลิตภัณฑ์เสี่ยงที่มีอยู่รอบตัวเด็ก ชุมชน องค์กรท้องถิ่น หน่วยงานรัฐ รวมทั้งผู้ผลิตภาคเอกชนที่มีหน้าที่ดูแลจัดการสิ่งแวดล้อมหรือสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ดำเนินการโดยขาดการคำนึงถึงความปลอดภัยแก่เด็กมักคาดหวังให้ผู้ดูแลเด็กทำหน้าที่ในการเฝ้าระวังเด็กแต่ฝ่ายเดียว เมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้นไม่มีการสาวไปถึงรากเหง้าของผู้รับผิดชอบเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง

 

          ฉะนั้นการให้ความรู้ เสริมทักษะ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในภาวะเสี่ยงถือเป็นหน้าที่ที่หน่วยงานทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน รวมถึงครอบครัวผู้ดูแลเด็ก รวมทั้งตัวเด็กเองต้องช่วยกัน จะอ้างว่าให้เป็นความรับผิดชอบของใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่งไม่ได้ หากทุกคนในสังคมสามารถรวมพลังกัน ได้คิดว่า “โลกที่เหมาะสมสำหรับเด็ก” คงไม่ไกลเกินเอื้อม

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : รศ.นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

Update:25-07-51

Shares:
QR Code :
QR Code