โลกจิตวิทยาเด็ก…เรื่องที่พ่อแม่ยุคใหม่ต้องรู้เท่าทัน
เรื่องโดย : ดนยา สุเวทเวทิน Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพโดย สสส.
“เข้าใจ” เป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในทุกสังคม ไม่ว่าจะสังคมเล็ก ใหญ่ หรือมีจำนวนประชากรมากหรือน้อยสักแค่ไหน ซึ่ง “ครอบครัว” เป็นหนึ่งในสถาบันพื้นฐานที่ต้องอาศัยความเข้าใจกันและกัน เพราะความไม่เข้าใจจากสถาบันครอบครัวถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาต่าง ๆ ในสังคม
เพื่อส่งเสริมความเข้าใจให้เกิดขึ้นในครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยสถาบันที่เล็กที่สุดแต่กลับมีศักยภาพในการพัฒนาคน พัฒนาประเทศได้มากที่สุด เพราะการที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาอย่างสมบูรณ์และมั่นคงทางอารมณ์ได้นั้นจะต้องอาศัยความเข้าใจจากครอบครัวเป็นพื้นฐานสำคัญ เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) ร่วมกับ สำนักพิมพ์ Bookscape และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC จัดงานเสวนาสาธารณะ (Public Forum) ภายใต้โครงการขับเคลื่อนความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและครอบครัวและการพัฒนาศักยภาพเยาวชน เรื่อง "เปิดโลกจิตวิทยาเด็ก : ไขปัญหาและแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่" โดยผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานด้านเด็กและครอบครัว ได้แก่ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ และ คุณเมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาด้านเด็กและครอบครัว
นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนัก 4 สสส. กล่าวว่า กิจกรรมนี้เกิดจากการนำองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่จะมีส่วนช่วยพัฒนาเติมเต็มศักยภาพเด็กและเยาวชน กิจกรรมเวทีเสวนาสาธารณะในประเด็นการพัฒนาเด็กและครอบครัวจะมีทั้งหมด 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 "เปิดโลกจิตวิทยาเด็ก : ไขปัญหาและแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่" ครั้งที่ 2 "เรียนรู้ อยู่กับเด็ก : ถอดรหัสประสบการณ์ใช้จิตวิทยาเด็กผ่านมุมมองหลากหลายอาชีพ" และครั้งที่ 3 เวิร์คช็อปกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตามหลักจิตวิทยาเด็ก ภายใต้การที่ สสส. และสำนักพิมพ์ Bookscape ร่วมกันคัดสรรเนื้อหาที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลมาแปลเป็นภาษาไทย เพื่อสร้างบทเรียน ติดอาวุธให้เด็กไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพและความมั่นคงทางสติปัญญาและทางจิตใจที่แข็งแรงซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันให้เป็นคนที่อยู่รอดในสังคมได้ในอนาคต
ด้านเจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หรือ หมอโอ๋ กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า สิ่งที่เป็นปัญหาในครอบครัวยุคนี้คือพ่อแม่คาดหวังในตัวลูกมากเกินไป ไม่เข้าใจธรรมชาติและพัฒนาการการเจริญเติบโตของเด็กตามช่วงวัย ไม่เข้าใจว่าพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ลูกแสดงออกมานั้นเพื่อการเรียนรู้การเป็นตัวของตัวเอง เช่น การร้องไห้โวยวาย ไม่ยอมกินข้าว ไม่ยอมทำการบ้าน หากพ่อแม่ผู้ปกครองมีเวลาเลี้ยงดูลูกตั้งแต่เด็ก ๆ จะทำให้เกิด Trust หรือความวางใจเชื่อใจ รู้ว่าพ่อแม่มีอยู่จริง ซึ่งเป็นสายสัมพันธ์ที่จะเป็นภูมิคุ้มกันในอนาคตแม้จะอยู่ในวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ ยกตัวอย่าง เมื่อลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วมีปัญหาการทำงาน แม้งานจะหนัก จะโดนเจ้านายบ่นสักแค่ไหนก็จะยังไปต่อได้ เพราะเขารู้ว่ายังมีพ่อและแม่ที่จะคอยเป็นกำลังใจให้เขา และยังคงมีความรักให้เขาแม้ในวันที่เขาทำผิดพลาด อีกทั้งการสร้าง Trust ยังเป็นส่วนหนึ่งที่จะลดการนำพาไปสู่ปัญหาการฆ่าตัวตาย
“การเลี้ยงลูกคือการพัฒนาตัวเองไปสู่คนที่ดีกว่า เพราะท้ายที่สุดลูกไม่ได้เป็นไปตามที่พ่อแม่สอน แต่ลูกจะเป็นในแบบที่พ่อและแม่เป็น ดังนั้นจึงต้องอาศัยการมีสติ ความตั้งใจ การฝึกฝน การสังเกตเป็นพิเศษ เพราะวัยเด็กเป็นช่วงวัยแห่งการเริ่มต้นของชีวิต หากผู้ปกครองคอยปลูกฝัง ส่งเสริมพัฒนาการ ก็เสมือนการรดน้ำพรวนดิน ที่จะทำให้เมล็ดพันธุ์นี้งอกงามเป็นพันธ์ไม้ที่สมบูรณ์แม้สิ่งแวดล้อมรอบข้างอาจจะไม่เอื้ออำนวยมากนัก หมอจึงเปิดเพจนี้ขึ้นมาเพราะเชื่อว่าการสร้างวัยรุ่นให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพทั้งระบบความคิด ทัศนคติ พฤติกรรม นั้นง่ายกว่าการซ่อม” หมอโอ๋ กล่าว
ส่วนเจ้าของเพจตามใจนักจิตวิทยา คุณเมริษา ยอดมณฑป หรือ หมอเม นักจิตวิทยาด้านเด็กและครอบครัว ก็ได้อธิบายถึงพัฒนาการของเด็กว่า เด็กในช่วง 0-2 ปี จะต้องการความเชื่อใจ เชื่อมั่น ช่วงอายุ 3 ปี จะเป็นช่วงที่เด็กต้องการทดสอบการใช้งานกล้ามเนื้อ ทั้งแขน นิ้วมือ และขา และในวัยนี้ทุกสิ่งทุกอย่างจะถูกตีความว่าเป็นของเล่นหมด เช่น อาหาร รีโมท ช้อน จึงไม่แปลกหากเขาจะขยำข้าวเล่น เล่นรีโมท หรือหยิบจับอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น ส่วนช่วงอายุ 3-7 ปี จะเป็นช่วงที่เด็กภาคภูมิใจในการช่วยเหลือตัวเอง เช่น ร้อยเชือกรองเท้าเอง ติดกระดุมเอง ตีไข่เจียวเป็น ทอดไข่ดาวได้ ดังนั้นหากเด็กยังไม่สามารถทำได้ด้วยตนเองพ่อแม่ควรอธิบายและทำไปพร้อม ๆ กัน ให้เด็กเรียนรู้วิธีการทำเพื่อให้เขาทำได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่พ่อแม่คอยทำให้ลูกตลอด หากเป็นเช่นนั้นจะทำให้ลูกทำเองไม่เป็น ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะไม่ภาคภูมิใจในตนเอง ขาดความมั่นใจในตนเอง ซึ่งการมองว่าตนเองไม่มีคุณค่านั้นเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่นอกจากจะทำให้เข้าหาปัจจัยเสี่ยง ทั้งสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ยาเสพติด ทะเลาะวิวาท เนื่องจากต้องการเป็นที่ยอมรับแล้วยังเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าและอาจนำสู่ปัญหาการคิดสั้นฆ่าตัวตายได้
ดังนั้นผู้ใหญ่อย่างเราคงต้องหันกลับมาทบทวนดูว่าทุกวันนี้เราให้ความสำคัญกับการเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์เหล่านี้สักแค่ไหน ซึ่งครอบครัวเป็นสถาบันสำคัญที่จะหล่อหลอมคนคุณภาพ แน่นอนว่าไม่สามารถสร้างเด็กให้เก่งเท่ากันทุกคนได้ แต่เด็กทุกคนย่อมมีคุณค่าในตัวเอง อย่าเร่งเติมเต็มด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเติมเต็มความรัก ความผูกพัน และความเข้าใจด้วย