โรงเรียน ‘เด็กไทยแก้มใส’
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
โครงการเด็กไทยแก้มใส เป็นการดำเนินงานตามรอย พระยุคลบาท สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เจ้าฟ้า นักโภชนาการ ในการพัฒนาด้านโภชนาการอาหารและสุขภาพเด็ก ในโรงเรียน เน้นส่งเสริม 8 องค์ประกอบ คือ 1.ส่งเสริมการเกษตรในโรงเรียน 2.ส่งเสริมสหกรณ์นักเรียน ร้านค้า ออมทรัพย์ ส่งเสริมการผลิต 3.จัดบริการอาหารของโรงเรียนตามหลักโภชนาการ ด้วยโปรแกรมแนะนำจัดสำรับอาหาร Thai School Lunch 4.ติดตามภาวะโภชนาการของ นักเรียน 5.พัฒนาสุขนิสัยและส่งเสริมอนามัยนักเรียน 6.พัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน 7.จัดบริการสุขภาพนักเรียน และ 8.จัดการเรียนรู้ แบบ Active Learning ที่เชื่อมโยงทั้งการเกษตร โภชนาการ และสุขภาพ
และ วันนี้ รร.เทศบาล 2 วัดดอนมูลชัย จ.ตาก สังกัดองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการเด็กไทยแก้มใส ด้วยความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมาคมโภชนาการ แห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร และกระทรวง มหาดไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จนเกิดเป็น "ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบเด็กไทยแก้มใสดอนมูลชัยโมเดล" ที่พร้อมขยายการถอดบทเรียนและกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ระดับจังหวัดในการจัดอาหารคุณภาพสู่โรงเรียนอื่นๆ ในจังหวัดต่อไป
นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ให้ทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายระดับจังหวัดว่า การนำต้นแบบดอนมูลชัยโมเดลมาขยายผลสู่โรงเรียนอื่นๆ ในจังหวัดจะช่วยแก้ไขปัญหาโภชนาการนักเรียนได้อย่างครอบคลุม ส่วนหนึ่งเกิดจากการสนับสนุน โดย สสส. ในการสร้างต้นแบบบูรณาการความร่วมมือระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน ซึ่งจะขยายผลใช้ควบคู่กับ 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1.สร้างความเข้าใจและความตระหนัก บูรณาการงานที่เกี่ยวข้อง 2.เสริมสร้างความเข้มแข็งผลผลิตปลอดภัยในพื้นที่ 3.ส่งเสริมให้ใช้โปรแกรม Thai School Lunch เพื่อให้จัดเมนูได้สะดวก มีคุณค่าอาหาร และการใช้ งบประมาณอย่างยั่งยืน 4.บังคับใช้กฎหมาย กำกับ ติดตาม ประเมินผล ส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายระหว่างโรงเรียน นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน ในการจัดซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหาร
คุณจงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้จัดการโครงการเด็กไทยแก้มใส กล่าวว่า จากการทำงานร่วมในโครงการ ดอนมูลชัยโมเดล พบว่า โรงเรียนมีการวิเคราะห์ภาวะทุพโภชนาการของเด็กในโรงเรียน ว่ามีสัดส่วนเด็กอ้วน เตี้ย ผอมเท่าไหร่ หลังจากนั้นครู นักเรียน จะวางแผนร่วมกับกรรมการ สถานศึกษาและผู้ปกครอง โดยมี สสส. เข้ามาจุดประกายความคิด เช่น การเชื่อมโยงกับแหล่งวัตถุดิบ การเลือกวัตถุดิบมาประกอบอาหาร ที่เชื่อมโยงกับการเรียนรู้ เช่น การนำหลักคูณร่วมน้อย (ค.ร.น.) มาใช้ คำนวณระยะเวลาปลูกผักแต่ละชนิด รวมถึงลงพื้นที่สำรวจเพื่อหาแหล่งต้นทางวัตถุดิบปลอดภัยจากชุมชนมาใช้ เช่น ไร่ขัตติยะ ที่สำคัญคือ ผู้นำที่นี่มองเห็นความสว่างในความมืด โดยเชิญให้ครูที่มีความรู้ด้านโภชนาการอาหารมาดูแล
ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศ แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส.มุ่งหวังให้คนไทยมีสุขภาพดี ซึ่งโภชนาการสำหรับเด็กเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนาสมองและการเรียนรู้ สสส. จึงเข้ามาส่งเสริมรูปแบบการจัดอาหารในโรงเรียนภายใต้โครงการเด็กไทยแก้มใส ทำให้เกิดการนำร่องใน 50 โรงเรียนหลักทั้งในเขตเมืองและชนบทในสังกัดสพฐ. อปท. และกทม. ที่เน้นการเกษตรในโรงเรียนให้เชื่อมโยงสู่สังคมชุมชน จากการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคมของโครงการ โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI พบว่า ทุกๆ 1 บาท ที่ สสส. ลงทุนให้กับโรงเรียนในโครงการ เด็กไทยแก้มใส สังคมจะได้ผลตอบแทนทางสุขภาพกลับคืนมา 2 บาท และ มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ จึงขอชื่นชมการมีส่วนรวมของ จ.ตาก ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียน นักเรียน ผู้ปกครอง และคนในชุมชน ที่เห็นความสำคัญของการจัดอาหารมื้อคุณภาพ สู่การประกาศเป็นนโยบายของโรงเรียนและขยายสู่นโยบายระดับจังหวัด เพื่อให้ลูกหลานเด็กนักเรียนได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการปลูกฝัง ความฉลาดรู้ทางสุขภาพให้ติดตัวเด็กตลอดไป
ดร.สุพจนีย์ พัดจาด ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 2 วัดดอนมูลชัย ซึ่งเป็นเสาหลักสำคัญที่ขับเคลื่อน ดอนมูลชัยโมเดล กล่าวว่า เดิมที่โรงเรียนนี้มีเด็กอ้วนร้อยละ 13 และมีนักเรียนไม่เกิน 120 คน จนกระทั่งปี 2557 ได้เข้าร่วมโครงการเด็กไทยแก้มใส ด้วยการเยี่ยมบ้าน นักเรียนทุกคนในช่วงปิดเทอมเพื่อติดตามภาวะโภชนาการและให้ความรู้ทำความเข้าใจแก่ผู้ปกครอง ทำให้ลดจำนวนนักเรียนอ้วนให้เหลือเพียงร้อยละ 5 ถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์ที่ตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 7 ทั้งผ่านการประเมินศูนย์เรียนรู้ต้นแบบเด็กไทยแก้มใส ระดับดีเยี่ยม ปีการศึกษา 2559-2560 ได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนต้นแบบด้านโภชนาการที่มีผลต่อการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ระดับเขต ประจำปี 2561 และส่งตัวแทนนักเรียนไปแข่งขันในระดับจังหวัดและระดับประเทศถึง 11 กิจกรรม
เห็นได้ว่า อาหารสามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตนักเรียนและชุมชนได้อย่างแท้จริง ดอนมูลชัยโมเดล จึงกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบเด็กไทยแก้มใสที่ขยายผลไปยังโรงเรียนเครือข่าย อปท. ทั้ง 31 แห่ง ซึ่งได้มีการประชุมหารือกันไปแล้ว ระหว่างวันที่ 21-23 สิงหาคม ที่ผ่านมา พร้อมขยายผลแนวทางการดำเนินงานให้ทุกโรงเรียนใน จ.ตาก ได้นำไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของตนเอง เพื่อเป็นต้นทางของการเติมเต็มสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย นำมาซึ่งการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางสมอง ที่จะต่อยอดสู่ชีวิตในอนาคตที่จะเติบโตเป็นเสาหลักของชาติที่มั่นคงแข็งแรง