โรงเรียน-ชุมชน พื้นที่ผลิต ‘อาหารคุณภาพ’

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


โรงเรียน-ชุมชน พื้นที่ผลิต 'อาหารคุณภาพ' thaihealth


โรงเรียน-ชุมชน พื้นที่ผลิตอาหารคุณภาพ คนปลูก-ลูกหลาน-สังคม 'กินของดีมีสุขภาวะ'


เครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร ร่วมกับ มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดงานสมัชชาความมั่นคงทางอาหารประจำปี 2561 ในประเด็นการจัดการอาหารโรงเรียนและชุมชน และตลาดทางเลือกเพื่อความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยการสร้างความมั่นคงทางอาหารในมิติที่มีโรงเรียนเป็นจุดตั้งต้น เพื่อหาความร่วมมือในการขับเคลื่อนระหว่างภาคชุมชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเนื่องจากการจัดการและเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชน ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติเป็นจุดเริ่มต้นของการมีสุขภาพดีควบคู่ไปกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจที่เข้มแข็งไปพร้อมๆ กัน


โรงเรียน-ชุมชน พื้นที่ผลิต 'อาหารคุณภาพ' thaihealth


"เก็บอาหารดีไว้ขายแล้วตัวเองก็ได้กินอาหารที่ไม่ดี ซึ่งความจริงแล้ว คนปลูกคือคนที่ควรได้กินอาหารที่ดี" ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานกรรมการกำกับทิศ แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกแนวคิดการจัดการระบบอาหารของคนส่วนใหญ่และอธิบายเพิ่มเติมว่า หากพูดถึงคำว่า 'ความมั่นคงทางอาหาร' แบบให้เข้าใจง่ายๆ คือ คนไทยมีกิน มีใช้ และมีเหลือเก็บ ไม่ว่าจะในยามปกติหรือเกิดเหตุภัยพิบัติต่างๆ ในแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. จึงให้ความสำคัญกับแนวคิดที่ว่าคนปลูก-ลูกหลาน-ชุมชน ต้องได้กินผลผลิตที่ดีเหล่านั้นเป็นลำดับแรก


โรงเรียน-ชุมชน พื้นที่ผลิต 'อาหารคุณภาพ' thaihealth


เช่นเดียวกับโครงการเด็กไทยแก้มใส ที่เป็นโครงการดำเนินงานตามรอยพระยุคลบาทเจ้าฟ้านักโภชนาการ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ ในด้านการบริหารจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียนอย่างครบถ้วน เพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็กไทย ซึ่ง จงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้อำนวยการมูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า โครงการมีเป้าหมาย ดังนี้ 1) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้โรงเรียนในสังกัดต่างๆ ที่ร่วมโครงการฯมีความสามารถในการบริหารจัดการอาหาร โภชนาการ และสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการด้านอาหารและโภชนาการในโรงเรียนที่นำไปสู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืน จากการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม วิธีคิด โดยมีนักเรียนเป็นตัวตั้งเด็กต้องมีโภชนาการสูงวัยตั้งแต่วัยอนุบาล-ประถมศึกษา


"อาหารเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกๆ คน โดยไม่มีการแบ่งแยกเพศ อายุ อาชีพ หรือ การศึกษาและการได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนเพียงพอในแต่ละวันยังช่วยทำให้ร่างกายของเด็กได้เจริญเติบโตอย่างสมวัยและมีคุณภาพ การจัดการอาหารในโรงเรียน จึงมีความเชื่อมโยงกันไปโดยปริยาย" ผอ.มูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ กล่าว


โรงเรียน-ชุมชน พื้นที่ผลิต 'อาหารคุณภาพ' thaihealth


"โรงเรียนเป็นสถานที่ปลูกคน เป็นพื้นที่ที่บ่มเพาะคนและสร้างกระบวนการเรียนรู้รวมไปถึงปลูกฝังทักษะชีวิตในด้านต่างๆ ให้เด็กนักเรียน โรงเรียนบางพื้นที่เป็นจุดรวมของชุมชน เชื่อมประสานระหว่างนักเรียนและผู้ปกครองได้" เกียรติศักดิ์ ยั่งยืนมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ร่วมขยายความคิดด้วยการพูดถึงความสำคัญของโรงเรียน ก่อนจะเล่าว่า มูลนิธิฯ ได้ทำการศึกษาปัจจัยที่ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารของโรงเรียนจากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 22 โรงเรียน สำหรับภาพรวมด้านภาวะโภชนาการ พบว่า เกือบทุกโรงเรียนมีการประเมินทางโภชนาการ โดยวัดน้ำหนักส่วนสูง เพื่อคำนวณดัชนีมวลกาย ซึ่งพบว่า นักเรียนกลุ่มตัวอย่างส่วนมากอยู่ในเกณฑ์ปกติเฉลี่ย 87% มีต่ำกว่าเกณฑ์อยู่ 3% ภาวะเริ่มอ้วน 6% และภาวะอ้วน 4% ฯลฯ


โรงเรียน-ชุมชน พื้นที่ผลิต 'อาหารคุณภาพ' thaihealth


"ผมมองว่าการขับเคลื่อนงานโดยยึดโรงเรียนเป็นตัวตั้งเชื่อมระหว่างชุมชน และสังคม เปรียบเสมือนเต้าเสียบกับปลั๊กที่เมื่อมาต่อกันจะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้า ทำให้เกิดการไหลของกระแสไฟ เพราะที่จริงแล้วโรงเรียนมีบทบาทเป็นแหล่งพันธุกรรม เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ส่วนชุมชนเองก็มีบทบาทในการเข้ามาให้ความรู้เรื่องเกษตรในโรงเรียน ขณะที่โรงเรียนมีหน้าที่เก็บรักษาพันธุกรรมและเก็บความรู้นั้นไว้ต่อไปนั่นแหละจึงจะทำให้การจัดการอาหารไม่จบเพียงแค่ในโรงเรียน" เกียรติศักดิ์ ทิ้งท้าย


อาหาร จึงไม่ใช่เพียงแค่การกินเพื่ออยู่หรืออยู่เพื่อกินแต่ต้องนำไปสู่สุขภาวะทางร่างกายสติปัญญาด้วยอันจะเชื่อมโยงไปสู่ความมั่นคงของชาติบ้านเมือง เพราะหากสังคมใดไม่สามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารโดยเฉพาะหลักโภชนาการเพื่อสุขภาวะด้วยแล้ว สังคมนั้นอาจถึงล่มสลายได้อย่างนึกไม่ถึง

Shares:
QR Code :
QR Code