โรงเรียนเกษตรกรบ่อแร่ ส่งเสริมชาวนาลดปุ๋ยเคมี

คำว่า “โรงเรียน” มิได้มีความหมายจำกัดอยู่แค่เพียง อาคารเรียน ห้องเรียน หรือกระดานดำ การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นได้ทุกๆ ที่ไม่ว่าจะใต้โคนต้นไม้ ทุ่งนา หรือท้องทะเล มหาสมุทร ซึ่งถือได้ว่าสถานที่เหล่านี้มีสถานะไม่ต่างไปจากโรงเรียนเหมือนกัน

อย่างที่ตำบลบ่อแร่ อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งในเครือข่ายตำบลสุขภาวะ สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สสส.) องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อแร่ได้มีการส่งเสริมการให้ความรู้แก่ชาวนาและเกษตรกรชาวบ่อแร่ ที่นี่มีโรงเรียนเกษตรกรก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2553 โดยนางธัญลักษณ์ สวนบ่อแร่ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 บ้านบ่อแร่ ที่เห็นว่าเกษตรกรในหมู่บ้านไม่มีความรู้เรื่องพันธุ์ข้าว ต้องไปซื้อพันธุ์ข้าวจากที่อื่นในราคาสูง การทำนาปลูกข้าวจึงต้องลงทุนสูง ได้กำไรน้อย รวมทั้งยังมีการใช้ปุ๋ย ใช้สารเคมี และยาฆ่าแมลง ทำให้ต้นทุนในการผลิตยิ่งสูงเพิ่มขึ้น

ผู้ใหญ่ธัญลักษณ์จึงมีแนวคิดในการจัดตั้งกลุ่มโรงเรียนเกษตรกรขึ้น เพื่อให้ความรู้เรื่องการเพาะพันธุ์ข้าว และการทำเกษตรที่ปลอดภัยโดยลดการใช้สารเคมี รวมถึงการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ซึ่งตำบลบ่อแร่เป็นเขตพื้นที่ปลายน้ำของระบบชลประทาน การทำเกษตรจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต

นายธาดา เสถียรบุณย์ หรือลุงโดด อาสาผู้ช่วยหมอดินและเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มโรงเรียนเกษตรกร เล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นสำนักงานเกษตรอำเภอวัดสิงห์เข้ามาประชุมสาธิตกับกลุ่มชาวบ้านเรื่องการทำนา และแนะนำให้จัดตั้งกลุ่มเป็นโรงเรียนเกษตรกรขึ้นมา เพื่อจะได้เข้ามาสนับสนุนได้ง่าย สมาชิกเริ่มแรกมี 24 คน

หลังจากนั้นสำนักงานเกษตรอำเภอจึงหาเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก เข้ามาสนับสนุนแจกจ่ายให้กับสมาชิกภายในกลุ่มโรงเรียนเกษตรกร ปีแรกเขาเข้ามาสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าว 4 ตัน เพื่อให้เรามาแจกจ่ายให้สมาชิกกลุ่ม โดยการหักกำไรที่ได้จากการขายให้สมาชิกกลุ่มถังละ 20 บาท เพื่อเก็บเอาไว้ในการจัดกิจกรรมและบริหารภายในกลุ่ม หรือหากสมาชิกมีปัญหาในเรื่องการลงทุน เราก็ยินดีให้กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

ลุงธาดา เล่าว่า หลังจากก่อตั้งโรงเรียนเกษตรกร สมาชิกภายในกลุ่มจะมีการส่งเสริมการเรียนรู้ในหลายด้านเกี่ยวกับการทำเกษตร โดยมีสำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานพัฒนาที่ดิน และหน่วยงานราชการเข้ามาสนับสนุนเป็นบางครั้ง ทั้งการส่งเสริมการใช้น้ำหมักชีวภาพ การทำสารเบื่อเมา รวมทั้งให้ความรู้และอบรมการเพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวสายพันธุ์ต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรนำไปพัฒนาและปรับปรุงข้าวพันธุ์ใหม่ที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนเรื่องการลดใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชด้วยการปลูกผักตามคันนา และเอื้อเฟื้อข้อมูลวิชาการด้านทำเกษตรกรรมปลอดสาร

“ที่นี่มีการทำน้ำหมักชีวภาพ และส่งเสริมให้สมาชิกในกลุ่มและเกษตรกรใกล้เคียงเข้ามาเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ หรือการทำพวกสารเบื่อเมาที่ใช้ในการไล่แมลง ที่ลุงธาดาทำเองจากสมุนไพรจำพวกข่า สะเดา ซึ่งเรียนรู้มาจากปราชญ์ชาวบ้านแล้วนำมาประยุกต์ใช้ หรืออย่างสารที่ใช้ในการบำรุง เป็นสารเชื้อราโดยใช้น้ำตาลหมัก เช่น ฮอร์โมนไข่หอยเชอรี่ ฮอร์โมนไข่ไก่ ฮอร์โมนจากลูกตาลที่ใช้ในการฉีดตอนข้าวออกเมล็ด จะทำให้ไม่มีเชื้อรา หรือฮอร์โมนรกหมูที่ใช้บำรุงใบ ซึ่งเป็นการให้อาหารทางใบ นอกจากนี้ยังมีการทำเชื้อราบิวเวอเรียอีกด้วย”

ลุงธาดา อธิบายว่า เชื้อราบิวเวอเรีย (beauveria bassiasna) เป็นจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคกับแมลง ซึ่งสามารถทำลายแมลงได้หลายชนิด ได้แก่ แมลงจำพวกเพลี้ยต่างๆ หนอนผีเสื้อ ด้วง และแมลงวัน โดยวิธีการฉีดพ่นหรือปล่อยเป็นละอองสปอร์ออกไป เมื่อสปอร์ของเชื้อราสัมผัสกับผิวของแมลงในสภาพความชื้นที่เหมาะสม บิวเวอเรียจะงอกเป็นเส้นใยแทงผ่านผิวหนังเข้าไปในลำตัวแมลง แล้วขยายจำนวนเจริญอยู่ภายในโดยใช้เนื้อเยื่อของแมลงเป็นอาหาร ในที่สุดแมลงจะตายภายในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์

ขั้นตอนการผลิตเชื้อราบิวเวอเรีย เริ่มจากการซื้อเมล็ดข้าวโพดที่ไม่ผ่านการคลุกสารเคมี ด้วยข้าวโพดมีเมล็ดใหญ่ เชื้อสามารถเติบโตได้ดี โดยนำข้าวโพดมาล้างและแช่น้ำไว้ 1 คืน ผึ่งให้หมาดแล้วนำมากรอกใส่ถุงเพาะเห็ด สวมปากถุงด้วยคอขวด อุดด้วยสำลี แล้วหุ้มด้วยกระดาษอีกรอบ จากนั้นจึงนำไปนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในถุง นึ่งอย่างน้อย 3 ชั่วโมง แล้วทิ้งไว้ให้เย็น แล้วจึงนำไปเขี่ยเชื้อในตู้เขี่ยเชื้อ

หลังจากเขี่ยเชื้อเสร็จ สามารถเก็บเอาไว้ในสภาพอากาศปกติ มีอากาศถ่ายเทได้ เชื้อจะเจริญเติบโตจนเต็มเมล็ดข้าวโพดโดยใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ เมื่อเชื้อเดินเต็มแล้วจึงสามารถนำไปใช้งานได้ โดยใช้ก้อนเชื้อ 2 ถุงต่อน้ำ 20 ลิตร เอามายีขยี้ในน้ำให้สปอร์เชื้อราหลุดจากเมล็ดข้าวโพด แล้วนำน้ำไปใช้ฉีดพ่นในนาได้ตามต้องการ แต่ควรใช้เชื้อบิวเวอเรียในช่วงเวลาเย็นหรือค่ำ เพราะเชื้ออ่อนต่อแสงแดด

ลุงธาดา เล่าว่า ตนได้นำกากบิวเวอเรียที่ได้มาใส่ในกระบอกไม้ไผ่หรือท่อพีวีซีแขวนไว้ตามทุ่งนา โดยการติดหางเสือไว้ที่กระบอกเพื่อให้หมุนตามทิศทางลม พอลมพัดผ่านกระบอก สปอร์ของเชื้อราก็จะฟุ้งออกไปโดยที่เราไม่ต้องไปเดินฉีดเอง เมื่อปีก่อนนั้นเพลี้ยกระโดดชุมมาก ลุงใช้บิวเวอเรียตัวเดียวก็ได้ผล คนที่ผ่านไป ผ่านมาเห็นนาของลุงก็ขำ เขาบอก เอาเครื่องบินมาแขวนไว้ในนา คือเขายังไม่เข้าใจ พอตอนหลังเห็นผลก็เริ่มเข้ามาเรียนรู้กันมากขึ้น ซึ่งเราก็ยินดี

ลุง บอกว่า “แต่ถึงแม้จะมีความพยายามเพื่อพัฒนาเชื้อบิวเวอเรียให้สามารถนำมาใช้ให้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่ที่นี่ก็ยังมีปัญหากับทัศนคติของชาวบ้านว่า การใช้สารอินทรีย์เหล่านี้ต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะได้ผล ต่างจากการใช้สารเคมี มันทำให้การต่อยอดไม่สมบูรณ์ เพราะการใช้กำจัดแมลงจะช้า ของเราสู้ของเจ๊กไม่ได้ อย่างปีนั้นผมทำนาปลอดสารพิษ ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ใช้สารเคมี ก็ได้ผลค่อนข้างดี ก็มีคนมาขอซื้อแต่เราไม่ขาย เพราะจะเก็บเอาไว้กินเอง ซึ่งเวลาเราจะชักชวนลูกกลุ่มหรือชาวบ้านข้างเคียงให้หันมาทำนาอินทรีย์หรือชีวภาพ ผลตอบแทนตรงนี้อาจช่วยให้เขาสนใจมากขึ้น เพราะมันดีต่อสุขภาพ”

ปัจจุบันชาวนาบ่อแร่จึงยังคงทำนาแบบผสมผสานระหว่างอินทรีย์และใช้สารเคมี แต่พวกเขาก็ได้พูดคุยกันอยู่เสมอที่จะก้าวไปสู่การทำเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มรูปแบบ เพราะเรารู้ว่าการทำเกษตรแบบอินทรีย์จะช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้มาก ซึ่งจะเริ่มทำตั้งแต่การเตรียมดินด้วยวิธีการทำปุ๋ยหมักในแปลงนา โดยการหว่านเมล็ดถั่วมะแฮะ ปอเทือง ถั่วเขียว พอขึ้นเป็นลำต้น เราจะใช้วิธีการไถกลบ 1 ไร่ ได้ปุ๋ยหมัก 1 ตันมารองพื้น ซึ่งเรามีแนวคิดที่จะทำนาแบบนี้อยู่ เพียงแต่ตอนนี้กลุ่มเรายังไม่เอื้อที่จะทำได้ สมาชิกเรายังน้อยไม่ค่อยมีแนวร่วมมากนัก

ลุงธาดาพูดด้วยความหวังว่า อยากเห็นชาวบ่อแร่มีความเข้าใจเรื่องเกษตรตามแบบวิถีอินทรีย์มากขึ้น เพื่อการเติบโตและการขยายตัวของการทำเกษตรอินทรีย์ไปทั่วทั้งหมู่บ้านและตำบลในที่สุด

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ 

 

Shares:
QR Code :
QR Code