โรงเรียนผู้สูงอายุ ชีวิตใหม่ของคนชนบท
โรงเรียนผู้สูงอายุ ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อเพิ่มศักยภาพของผู้สูงอายุ และพัฒนาสุขภาวะคนในชุมชน
จากเวทีฟื้นพลังชุมชนสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทยครั้งที่ 5 จัดโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่นสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่เมื่อเร็วๆนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อร่วมสร้างท้องถิ่นในประเด็นต่างๆ อาทิ การพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ,การส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และจัดการความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการช่วยเหลือดูแลและเพื่อขยายเครือข่ายการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วม
โครงการดังกล่าวถูกจัดขึ้นในต่างจังหวัดเนื่องจาก ในพื้นที่ต่างจังหวัด ถือว่าเผชิญหน้ากับปัญหาของผู้สูงอายุมานานแล้ว เพราะประชากรวัยแรงงานย้ายถิ่นฐานเข้าเมืองเพื่อหาเลี้ยงชีพ ละทิ้งผู้เฒ่าคนแก่ และ เด็ก ไว้ที่บ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคภัยไข้เจ็บ โรคเรื้อรัง เมื่อไม่มีคนดูแลทำให้สุขภาพยิ่งแย่ลง และทำให้เกิดผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุที่ซึมเศร้า จำนวนมาก หากไม่เร่งแก้ไขและปล่อยปละละเลยปัญหานี้อนาคตที่ผู้สูงอายุจะเพิ่มมากกว่านี้แน่นอน
ด้วยเหตุนี้จึงได้เกิด “โรงเรียนผู้สูงอายุ” ขึ้น โดย คุณดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชนสสส. อธิบายว่า การพัฒนาคนพัฒนาคุณภาพชีวิตสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างเข้มแข็งและสามารถต่อยอดกับชมรมผู้สูงอายุที่มีอยู่ทั่วประเทศได้ โดยสสส. ได้เน้นเรื่องการสนับสนุนชุดความรู้เกี่ยวกับผู้สูงอายุซึ่งจะมีการถอดบทเรียนจากพื้นที่ต่างๆเพื่อให้ชุมชนนำไปปรับใช้รองรับโครงสร้างประชากรที่กำลังเปลี่ยนไป
วันนี้โรงเรียนไม่ได้มีขอบเขตแค่การมีสถานที่และหลักสูตรที่รับรองโดยกระทรวงศึกษาเท่านั้น แต่โรงเรียนจะเป็นเครื่องมือสำคัญให้ชุมชนสามารถจัดการตนเองได้เกื้อกูลกันเพื่อแก้ไขปัญหาได้ ฉะนั้นภาครัฐจำเป็นต้องมีนโยบายที่เข้มแข็งเพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนได้คิดเองและเชื่อมั่นว่าชุมชนสามารถจัดการตนเองได้เพราะทุกปัญหามีคำตอบอยู่ที่พื้นที่
ลองมาดูตัวอย่างจากการก่อตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุในพื้นที่ต่างๆ ที่ดำเนินการมาต่อเนื่องหลายปีแล้วในเวทีฟื้นพลังชุมชนสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย
คุณวันชัย นารีรักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองวังน้ำเย็น จ.สระแก้ว กล่าวว่าพื้นที่วังน้ำเย็นเริ่มโรงเรียนผู้สูงอายุในปี2557 มีการสำรวจพื้นที่และแยกแยะลักษณะผู้สูงอายุเพื่อระบุปัญหาแยกวิธีการแก้ไขนำมาสู่การเตรียมความพร้อมในชุมชนการตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุจะเน้นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อเพิ่มศักยภาพของผู้สูงอายุเองทั้งสุขภาพร่างกายลดการเจ็บป่วยลดการพึ่งพาด้านจิตใจลดความเหงาเพิ่มคุณค่าตนเองด้านสังคมได้มีโอกาสสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันด้านจิตปัญญาสามารถปรับตัวดำเนินชีวิตได้ซึ่งผู้สูงอายุเป็นผู้มีภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นสามารถเป็นส่วนช่วยชุมชนและสังคมได้ด้วยการเข้ามาร่วมเป็นจิตอาสาโดยจะกำหนดหลักสูตรไว้ 5 รายวิชาคือ 1 การพยาบาลและสาธารณสุขเพื่อให้ผู้สูงอายุใช้ดูแลตนเอง 2 ด้านของจิตใจเช่นการรวมกลุ่มเข้าวัด 3 เรื่องจิตอาสาเพื่อให้ผู้สูงอายุรู้สึกได้ถึงคุณค่าของตนเอง 4 สุขภาพจิตเป็นกิจกรรมเพื่อให้เกิดความสุขแจ่มใส 5 เป็นวิชาเลือกเช่นการเรียนคอมพิวเตอร์ เปตอง วารีบำบัด ซึ่งเป็นการเรียนตามความต้องการผู้สูงอายุ
คุณขยัน วิพรหมชัย นายกเทศมนตรีตำบลอุโมงค์อ.เมืองจ.ลำพูน บอกเล่าประสบการณ์ของโรงเรียนผู้สูงอายุในพื้นที่ว่าได้สร้างความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองอีกครั้งให้กับผู้สูงอายุโดยทุกวันเสาร์สมาชิกในโรงเรียนผู้สูงอายุจะรวมตัวกันออกเยี่ยมผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียงเพื่อให้กำลังใจสร้างความรู้สึกว่าสังคมไม่ทอดทิ้งกันและยังทำให้ผู้สูงอายุเหล่านี้รู้สึกว่าต้องดูแลตนเองเพื่อไม่ให้กลายเป็นผู้ติดบ้านติดเตียงซึ่งการจัดตารางการสอนก็จะเน้นวิธีการดูแลตนเองกินอย่างไรดูแลตัวเองอย่างไรทั้งกายและใจ
คุณวิศาล วิมลศิลป์ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลไกรนอก อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัยอธิบายว่าปัญหาในผู้สูงอายุไม่ใช่แค่สุขภาพกายเท่านั้น ในพื้นที่ ต.ไกรนอก?มีผู้สูงอายุ 831 คนพบว่าในพื้นที่มีอัตราการฆ่าตัวตายทุกปีปีละ 2-3 รายซึ่งสูงกว่าอัตราการฆ่าตัวตายเฉลี่ยของประเทศสาเหตุเนื่องจาก?ผู้สูงอายุในพื้นที่ต้องรับภาระการดูแลครอบครัวเพราะคนวัยหนุ่มสาวเดินทางเข้าเมืองไปทำงานแล้วทิ้งลูกหลานไว้ซึ่งก่อนหน้าก็เคยมีการทำกิจกรรมในพื้นที่แต่ผู้สูงอายุไม่ให้ความสนใจนักเมื่อปรับเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบของโรงเรียนมีคาบวิชามีหลักสูตรก็ทำให้เกิดความต่อเนื่องในการทำกิจกรรม และเน้นการพัฒนาศักยภาพ?การฝึกสมองมากขึ้น รวมทั้งการอธิบายเรื่องสิทธิต่างๆที่ผู้สูงอายุต้องได้รับจากรัฐ
การสร้างพื้นที่กิจกรรมนี้ทำให้ผู้สูงอายุได้กลับมามีสังคมอีกครั้ง เพราะเมื่อทุกคนออกจากบ้านก็ต้องดูแลสุขลักษณะของตนเองแปรงฟันอาบน้ำใส่รองเท้าซึ่งเป็นวิธีง่ายๆที่กระตุ้นให้ผู้สูงอายุได้ดูแลตัวเองเมื่อผู้สูงอายุรู้สึกมีคุณค่าขึ้นก็พร้อมที่จะแบ่งปันกลับไปสู่คนในชุมชนช่วยดูแลซึ่งกันและกันไม่ทอดทิ้งกันทำให้บรรยายากาศในชุมชนมีความสุขเกิดขึ้นอย่างเต็มที่อีกครั้ง
ที่มา: เว็บไซต์แนวหน้า