โรงเรียนผู้สูงอายุร่วมสร้างท้องถิ่นน่าอยู่

โรงเรียนผู้สูงอายุร่วมสร้างสุขสร้างท้องถิ่นน่าอยู่ thaihealth


          ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเลี่ยงไม่ได้ หลายหน่วยงานต่างก็ตื่นตัว และเตรียมพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะระดับชุมชนท้องถิ่นที่จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ


          "การจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ" เป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวและเป็นประเด็นร้อนที่ถูกหยิบยกนำมาถกแถลงกันในเวที "ฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย"ครั้งที่ 5 ประจำปี 2558 โดยเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


          พระครูสุจิณกัลยาณธรรม เจ้าคณะอำเภอพานจังหวัดเชียงราย กล่าวถึงความสำคัญในการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุไว้ว่า ในพื้นที่อำเภอพานวันนี้มีปัญหาเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าของผู้สูงอายุมากทีเดียวโดยเกิดจากหลายสาเหตุ อาทิ ถูกลูกหลานทอดทิ้งไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ มีภาระค่าใช้จ่ายสูง ฐานะยากจน และขาดโอกาสจนส่งผลนำไปสู่การทำร้ายตัวเองในที่สุด


โรงเรียนผู้สูงอายุร่วมสร้างสุขสร้างท้องถิ่นน่าอยู่ thaihealth


          โรงเรียนผู้สูงอายุจึงทำหน้าที่เหมือนสวนสาธารณะทางอารมณ์ของผู้สูงอายุที่จะเอาความเหงาความเศร้า ความทุกข์ มาปลดปล่อย และมารับรอยยิ้มจากเพื่อนเช่นเดียวกับที่ผู้สูงอายุหลายท่านได้สะท้อนเอาไว้ว่า เงินทองไม่มีความหมายเท่ารอยยิ้มของเพื่อน เพราะเงินที่มีจับแล้วไม่อุ่นเท่าจับมือเพื่อน บางครั้งเหงาต้องการกำลังใจ เงินก็คุยกับเขาไม่ได้


          "นายขยัน วิพรหมชัย" นายกเทศมนตรีตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เล่าว่า "โรงเรียนผู้สูงอายุดอกซอมพอ" จัดตั้งเมื่อวันที่ 5  ธันวาคม 2556 เนื่องจากในพื้นที่มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีแนวคิดให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมร่วมกัน ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ โดยเริ่มต้นด้วยการระดมสมองเพื่อจัดทำหลักสูตร เชิญผู้สูงอายุมานั่งคุยกันว่าอยากเรียนอะไร และได้ข้อสรุปว่า วิชาที่เรียนจะเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ กิจกรรมนันทนาการการทัศนศึกษานอกสถานที่ และการรวมกลุ่มทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ และนี่คือสิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการ


โรงเรียนผู้สูงอายุร่วมสร้างสุขสร้างท้องถิ่นน่าอยู่ thaihealth


          "จากนั้นเราก็ค้นหาปราชญ์ท้องถิ่นที่จะมาเป็นครูผู้สอนและสรรหาวิทยากรจากภายนอกตำบลและกำหนดเวลาเรียน ทุกวันพฤหัสตั้งแต่บ่ายโมงเป็นต้นไป โดยมีรถรางรับส่งตามจุดแต่ละหมู่บ้านนอกจากนี้ก่อนที่จะมาเข้าเรียน ก็ต้องผ่านการตรวจสุขภาพ เจาะเลือดเพื่อคัดกรองโรคเบื้องต้น และเมื่อมาเรียนรู้ร่วมกัน ก็จะมีการติดตามผลโดยการตรวจสุขภาพก่อนจบเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงด้วย" นายขยันเล่าโรงเรียนผู้สูงอายุดอกซอมพอยังมี "ธรรมนูญสุขภาพของผู้สูงอายุ" คือกำหนดวงจรชีวิตประจำวันเพื่อการปรับพฤติกรรมว่า ตื่นนอนตอนเช้าจะต้องดื่มน้ำอุ่น เข้าห้องน้ำ ออกกำลังกาย รับประทานอาหารเช้า เน้นกินผัก ผลไม้ กล้วย ปรุงอาหารโดยไม่ใส่ผงชูรส เป็นต้น โดยตั้งกฎเอาไว้เพื่อเป้าหมายที่จะทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดี


 โรงเรียนผู้สูงอายุร่วมสร้างสุขสร้างท้องถิ่นน่าอยู่ thaihealth


         ขณะที่โรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลเมืองวังน้ำเย็น "นายวันชัย นารีรักษ์" นายกเทศมนตรีเมืองวังน้ำเย็น อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้วเล่าว่า การจัดหลักสูตรจะต้องคำนึงถึงบริบทที่แตกต่างกันและความพร้อมของแต่ละพื้นที่ "เราแบ่งออกเป็น 4 ชั้นปี และ 5 รายวิชาได้แก่ (1) การดูแลสุขภาพเบื้องต้น ทั้งการดูแลตนเองและช่วยเหลือผู้อื่น (2) ธรรมเดลิเวอรี่ คือเรียนรู้หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า การฝึกจิตใจให้สงบ รวมถึงเดินทางไปไหว้พระทำบุญในวัดต่างสถานที่ (3) เรื่องจิตอาสาเพราะผู้สูงอายุสามารถทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้ เช่น ถ้าเป็นครูวัยเกษียณก็ไปสอนเด็กๆและเล่านิทานให้เด็กๆ ฟังได้ (4) สุขภาพจิต และ(5) วิชาเลือก เช่น คอมพิวเตอร์ เล่นเปตองตลอดจน'วารีบำบัด'ซึ่งเป็นการออกกำลังกายในน้ำ เพื่อรักษาโรคข้อต่างๆ ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้สูงอายุเป็นอย่างดี"นายวันชัยขยายความ


โรงเรียนผู้สูงอายุร่วมสร้างสุขสร้างท้องถิ่นน่าอยู่ thaihealth


          ทิ้งท้ายที่ "นางอารีวรรณ บุญอุดม" ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูนเล่าถึงความโดดเด่นของโรงเรียนผู้สูงอายุป่าซางว่า "เราไม่มีอาคารเรียน แต่ใช้วัดเป็นโรงเรียนโดยทุกวันพฤหัส (อาทิตย์เว้นอาทิตย์)จะมีการหมุนเวียนไปสอนและทำกิจกรรมกับผู้สูงอายุตามวัดต่างๆ ในแต่ละตำบล นอกจากนี้ผู้สูงอายุจะห่อกับข้าวมาจากบ้านและมานั่งกินด้วยกันซึ่งเป็นภาพที่น่ารักมาก"


          ผู้สูงอายุในชุมชนมีความเข้มแข็งทั้งกายและใจ ลูกหลานย่อมมีสุขไปด้วยนี่ย่อมเป็นจุดเริ่มต้นการสานพลังอันยิ่งใหญ่สร้างประเทศไทยให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้นอย่างน่าชื่นใจอย่างแน่นอน


 


 


          ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

Shares:
QR Code :
QR Code