โรงพยาบาลที่เป็นมากกว่ารพ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
"โรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา โรงพยาบาลที่เป็นมากกว่าโรงพยาบาล" สะท้อนความเป็นอัตลักษณ์ของ โรงพยาบาล สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติในหลวง รัชกาลที่ 9 ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ให้เป็น หนึ่งเดียวกับพื้นที่ เชื่อมโยงกับภูมิประเทศ มีแพทย์เฉพาะทาง และเข้าใจผู้ป่วยในพื้นที่
จุดเริ่มต้นของโมเดลโรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และม.เกษตร ศาสตร์ เพื่อวิจัยออกแบบและพัฒนาผังแม่บทของสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์ภายในโรงพยาบาล มีโรงพยาบาล 10 แห่ง กระจายทั่ว ทุกภาค ใช้งบประมาณ ปี 2562 ได้แก่ รพ.วัดจันทร์ จ.เชียงใหม่ นาวัง จ.หนองบัวลำภู พระทองคำ จ.นครราชสีมา เสาไห้ จ.สระบุรี เบญจลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี พนมดงรัก จ.สุรินทร์ เขาชะเมา จ.ระยอง หาดสำราญ จ.ตรัง ยี่งอ จ.นราธิวาส
นพ.กำจัด รามกุล ที่ปรึกษากระทรวงด้านสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรงพยาบาลชุมชนเฉลิม พระเกียรติ ๘๐ พรรษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และภาครัฐ เข้ามาเป็นกรรมการร่วมกันบริหาร เพื่อพัฒนาสุขภาพแบบองค์รวมตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เน้นงานเวชศาสตร์ครอบครัว ฟื้นฟูแบบองค์รวมในระดับปฐมภูมิและระดับทุติยภูมิ เชื่อมโยงสถานีอนามัย
นอกจากภารกิจด้านการรักษาผู้ป่วยแล้ว ได้ออกแบบอาคารให้มีสถาปัตยกรรมสอดคล้องกับพื้นถิ่น ส่วนพื้นที่โดยรอบพัฒนาตามความต้องการร่วมกันแล้วแต่ความต้องการของชุมชน เช่น แปลงเกษตร สวน พื้นที่สาธารณะ สนามเด็กเล่น ร้านค้าที่นำสินค้าชุมชนมาจำหน่าย มีพื้นที่ส่วนกลางที่ญาติผู้ป่วยมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นต้น
ผศ.ดร.สรนาถ สินอุไรพันธ์ หัวหน้า กลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่การออกแบบ รพ.ทั่วประเทศ ทุก รพ.ใช้แบบเดียวกันจากกระทรวงสาธารณสุข แต่เราต้องการทำอาคารที่เหมาะกับบริบทกับพื้นที่ชุมชน ดังนั้นในกระบวนการจึงมีแบบมาตรฐานมา 1 ชุด คืออาคารพัสดุโรงพยาบาลลำปาง ราคา 700 ล้านบาท ขนาดพื้นที่ 500 กว่าตารางเมตร ในโครงการใช้กรอบนี้แต่ขอใช้วิธีพิเศษเปลี่ยนแบบ ทำให้สามารถยื่นอีบิดดิ้งได้
"พยายามจะสื่อสารว่า จริง ๆ โรงพยาบาลในพื้นที่ต่างกันไม่ควรจะได้โรงพยาบาลในแบบเดียวกัน"
รพ.วัดจันทร์ ไม่ขอใช้งบประมาณจากรัฐ แต่ใช้ไม้และเงินบริจาค ตัวอาคารทำจากไม้สน ใช้ช่างภูมิปัญญาในท้องถิ่น ชาวบ้านมาร่วมแรงกันสร้าง โดยมีทีมสถาปนิกจาก บริษัทใจบ้าน สตูดิโอ เป็นผู้ออกแบบและควบคุมงาน
รพ.วัดจันทร์ ขนาด 10 เตียง มีพื้นที่ 60 ไร่ ชุมชนโดยรอบ 90% เป็นชนเผ่าปะกาเกอญอ ม้ง ลีซู ชาวบ้านมีความต้องการร่วมกันในแง่พื้นที่โดยออกแบบภายใต้แนวคิดที่ว่า "วัฒนธรรมเตาไฟ หัวใจแห่งการเยียวยา" ตั้งอยู่ตรงกลางของพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างอาคารหลัก 3 หลัง เพื่อเอื้อให้เกิดพื้นที่พบปะ และยังสร้างด้วยไม้เป็นวัสดุที่เหมาะสมเพราะพื้นที่ค่อนข้างหนาวเย็น
นพ.ประจินต์ เหล่าเที่ยง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา กล่าวว่า โมเดลดังกล่าว ทำให้ รพ. ชุมชนไม่มีแนวเขต เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ได้เรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน เช่น ชาวบ้านดื่มชาใส่เกลือเพราะเก็บใบชาแก่มาดื่มจึงมีรสเฝื่อนจึงต้องใส่เกลือ แทนที่จะเลือกใบชาอ่อนมาต้มกินแล้วได้รับสารต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น เมื่อหมอบอกเล่าชาวบ้านก็เข้าใจและเปลี่ยนวิธีดื่มชา
"โครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์ของโรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ ลดความตึงเครียด รองรับกิจกรรมป้องกันโรค ส่งเสริมการสร้างสุขภาวะทั้งทางกาย ใจ สังคมและจิตปัญญา จะเป็นแรงบันดาลใจการออกแบบให้ รพ.อื่น ๆ ต่อไป" นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการคนที่ 2 สสส. ระบุ
โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา โรงพยาบาลในฝัน หลอมรวมใจประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ให้เป็นหนึ่งเดียว