โรคไตในเด็ก แนวโน้มสูงขึ้น
แฟ้มภาพ
สธ.เตรียมจัดงานวันโรคไต ปีนี้ชูประเด็นโรคไตในเด็ก เหตุมีแนวโน้มจะมีผู้ป่วยที่เป็นเด็กเพิ่มสูงขึ้น และอายุต่ำลงเรื่อยๆ เพราะกระแสอาหารฟาสต์ฟู้ด ขนมขบเคี้ยวมาแรง เผยรักษายุ่งยากกว่าผู้ใหญ่ มีหมอเชี่ยวชาญฟอกไตในเด็กไม่ถึง 10 คน แนะปรับพฤติกรรมบริโภคไม่ปรุงรสเพิ่ม และกินน้ำให้มาก
นพ.ชาตรี บานชื่น ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตราวๆ 50,000 คน เพิ่มขึ้นประมาณ 7,500 คนต่อปี ซึ่งที่น่าสนใจมากก็คือ มีเพียง 500 คนต่อปีเท่านั้นที่ได้มีโอกาสเปลี่ยนไต งานวันไตโลกจึงถูกจัดขึ้นเพื่อลดช่องว่างตรงนี้ เพราะจะเห็นได้ว่าเพิ่มขึ้น 7,500 ต่อปี แต่ได้รับการเปลี่ยนไตแค่ 500 คนเท่านั้น แล้ว 7,000 คนที่เพิ่มมาต่อปีจะไปอยู่ตรงไหน คนเหล่านี้ก็จะต้องไปฟอกไต ซึ่งก็จะมีสิทธิ์การรักษาต่างๆ ที่ตนมีอยู่แล้ว แต่ค่าใช้จ่ายสูงถึง 250,000 คนต่อปี ซึ่งกิจกรรมวันไตโลกจึงเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาโรคไตที่กำลังจะเกิดขึ้น สธ.เองก็มีนโยบายให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วก็ใส่ใจในสุขภาพของตน ทานเค็มน้อยลง เพราะการกินเค็มมากๆ เป็นสาเหตุหลักของโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดในสมอง และโรคไต ซึ่งคนไทยเองก็บริโภคโซเดียมสูงกว่ามาตรฐานองค์กรอนามัยโลกถึง 2 เท่า
นพ.ชาตรีกล่าวต่อว่า งาน “วันไตโลก” ในปีนี้จัดขึ้นในธีม “โรคไตเป็นได้ตั้งแต่เด็ก รู้แต่เล็กป้องกันได้” โดยจะเน้นที่การรณรงค์โรคไตในเด็กเป็นสำคัญ เนื่องจากในปัจจุบันมีผู้ป่วยเด็กที่ป่วยเป็นโรคไตเป็นจำนวนมาก สาเหตุจากการทานเค็มจนเกินพอดี เช่น ขนมขบเคี้ยวต่างๆ อาหารฟาสต์ฟู้ด เป็นต้น ซึ่งอาหารที่ยกตัวอย่างมานั้นมีความเค็มค่อนข้างสูง ทำให้ไตทำงานหนักจนทำให้เด็กมีภาวะเสี่ยงที่จะเป็นโรคไตได้ ซึ่งถ้าพูดถึงการแก้ปัญหาโรคไต ที่ต้องบอกว่าเราสามารถทำได้ ไม่ยากเลย แค่ปรับพฤติกรรมการบริโภคเท่านั้น
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานคณะทำงานการจัดงานวันไตโลก กล่าวว่า ปัจจุบันการรับประทานอาหารเปลี่ยนไป โรคไตจึงเกิดในเด็กได้ด้วย หากไม่รักษาป้องกันอาจทำให้สู่ภาวะไตวาย โดยเฉพาะอาหารญี่ปุ่นและอาหารเกาหลีที่นิยมกัน อุดมด้วยความเค็ม เพราะเนื้อก็มีการหมักใช้ซอสปรุงรส เกลือ และผงปรุงรส และยังมีน้ำจิ้มอีกก็มีความเค็มสูง มากกว่าอาหารปกติ 50 เท่า ส่วนอาหารแช่แข็งที่ขายตามร้านสะดวกซื้อก็มีความเค็มมากกว่าอาหารปกติ 30%
ด้าน ผศ.นพ.พรชัย กึ่งวัฒนกุล ประธานชมรมโรคไตในเด็ก กล่าวว่า เมื่อพูดถึงโรคไต หลายคนอาจมองว่าเป็นโรคของผู้ใหญ่ ซึ่งจากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้โรคไตสามารถเกิดขึ้นในเด็กได้ง่ายขึ้น ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับการปรับพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสมอาจทำให้นำไปสู่ไตวายในระยะสุดท้ายได้ ในปีนี้จึงทำการรณรงค์เรื่องโรคไตให้ประชาชนและเยาวชนตระหนักถึงการบริโภคเค็ม ซึ่งผู้ป่วยโรคไตที่เพิ่มขึ้นทุกปีและเพิ่มสูงมากจนน่ากลัว
ประธานชมรมโรคไตในเด็กกล่าวต่อว่า ในเด็ก 1 ล้านคน เราจะพบเด็กที่ป่วยเป็นโรคถึง 40-50 คน มีแนวโน้มสูงขึ้นมีอายุต่ำลง อาการของโรคไตในเด็กจะมีความแตกต่างจากที่พบในผู้ใหญ่ เช่น สำหรับผู้ป่วยเด็กบางคนมีอาการไข้สูง ร่างกายมีอาการบวมมาก มีโปรตีนผสมออกมาทางปัสสาวะ มีปัสสาวะน้อย ในหลายกรณีเราพบผู้ป่วยที่มีอายุน้อย เนื่องมาจากการดูแลการบริโภคที่ไม่ดีตั้งแต่เด็ก การพบผู้ป่วยโรคไตในเด็กส่วนมากก็จะมาในระยะที่ 1-2-3 ก่อนที่พัฒนาไปสู่ระยะ 4-5 เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งระยะที่เกิดขึ้นนั้นแปรผันไปตามพฤติกรรมการกิน
"ปัญหาที่ต้องป้องกันไม่ให้เกิดโรคไตในเด็กก็เพราะว่าการรักษาในเด็กนั้นเป็นไปได้ยากมาก เพราะอุปกรณ์การรักษาสำหรับผู้ป่วยโรคไตในเด็กกับผู้ใหญ่นั้นค่อนข้างต่างกัน ไม่สามารถใช้ด้วยกันได้ ทั้งอุปกรณ์การรักษาและบุคลากรที่เชี่ยวชาญโรคไตในเด็กนั้นก็ยังมีไม่เพียงพอ ซึ่งในประเทศไทยมีไม่ถึง 10 คนด้วยซ้ำ ทำให้การป่วยเป็นโรคไตในเด็กรักษาค่อนข้างยาก ทางการแพทย์จึงทำได้เพียงเลี้ยงอาการปรับพฤติกรรมเพื่อไม่ให้อาการลุกลาม แล้วมารักษาในตอนโต ที่ผู้ปกครองทำได้คือการป้องกันไม่ให้โรคไต ที่จะต้องดูเรื่องโภชนาการ ลดเกลือ อาหารเค็ม หรือง่ายๆ คือไม่ปรุงก๋วยเตี๋ยวเพิ่ม และดื่มน้ำให้เพียงพอ"
แวนด้า สหวงษ์ ได้มาร่วมแถลงข่าวพร้อมกับกล่าวว่า ยินดีที่ได้มาร่วมงานและเป็นส่วนหนึ่งของงานในครั้งนี้ โดยส่วนตัวแล้วที่บ้านก็จะพยายามเลือกอาหารที่ไม่รสจัด สำหรับน้องมะลิก็จะไม่ให้ทานขนมเลย ส่วนใหญ่ก็จะให้ทานเป็นผลไม้ ซึ่งเจ้าตัวเล็กก็จะไม่ค่อยชอบทาน ก็ต้องหาวิธีดัดแปลงช่วย หรือเวลาทานอาหารข้างนอกมันก็ควบคุมได้ยาก ถ้าน้องทานเยอะผิดปกติเราก็เอะใจแล้ว ซึ่งในยุคนี้สำหรับอาหารข้างนอกเป็นอะไรที่ห้ามกันยากมาก เป็นไปได้ก็อยากจะแนะนำให้ทำอาหารเอง ก็จะดูแลสุขภาพของเจ้าตัวเล็กได้ง่ายขึ้น
ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์