โรคไตวายเรื้อรัง มหันตภัยเงียบ

          โลกวันนี้จะขาดความสดใสลงไปทันทีเมื่อพลเมืองของโลกเต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ยิ่งโดยเฉพาะภัยคุกคามจากโรคต่างๆ ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นใหม่ และโรคเก่าที่ยังไม่หายไปจากสังคมโรค แถมยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มปริมาณให้โลกใบนี้หม่นหมองลงไปยิ่งกว่าเดิมอีกด้วย


/data/content/24251/cms/e_bgimortx2356.jpg


          ในจำนวนโรคเก่าที่ยังไม่เคยสูญหายไปจากสังคมโรคแถมยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากยิ่งขึ้นคือ โรคไต ทั้งนี้เนื่องจากความไม่รักษาตัวเองของพลโลกนั่นเอง


         คนที่เป็นโรคไต และสั่งสมจนกลายเป็นโรคไตเรื้อรัง จัดว่าเป็นมหันตภัยเงียบที่น่ากลัวเป็นอย่างมาก เพราะผู้ป่วยจะไม่ทราบว่าตนป่วยเป็นโรค กว่าจะรู้ตัวมันก็สายเกินแก้แล้ว เมื่อโรคนี้ลุกลามไปมาก จนยากที่จะแก้ไข ถึงกับวงการแพทย์ กล้าบอกว่า “ไตวายร้ายกว่ามะเร็ง” เหตุผลทางกายภาพที่มองเห็นได้ คือ จากค่าใช้จ่ายที่สูงและโรคร้ายจะเป็นอยู่อย่างต่อเนื่องไปนานตราบจนกว่าผู้ป่วยจะได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตหรือเสียชีวิต ดังนั้นการปลอดจากโรคไตทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันโรคไต หรือรู้ตัวตั้งแต่เป็นระยะเริ่มแรกนั่นเอง


/data/content/24251/cms/e_beghilvxy145.jpg


        นาวาอากาศเอก นพ.อนุตตร จิตตินันท์ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากข้อมูลล่าสุดพบคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังร้อยละ 17.6 ของประชากร หรือประมาณ 8 ล้านคน เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย 2 แสนคน ป่วยเพิ่มปีละกว่า 7,800 ราย หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะเกิดโรคแทรกซ้อนถึงเสียชีวิต มีผู้ป่วยที่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รอการผ่าตัดเปลี่ยนไตใหม่ประมาณ 40,000 ราย ซึ่งมีขั้นตอนในการรักษายุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายสูงถึงปีละประมาณ 2 แสนบาทต่อคน ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตมีเพียงปีละ 400 รายเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัด คือขาดแคลนผู้บริจาคไต ผู้ป่วยจึงต้องรักษาเพื่อยืดอายุโดยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือล้างของเสียออกทางหน้าท้อง โดยในปี 2556 ที่ผ่านมาได้ใช้งบประมาณในการบำบัดทดแทนไตในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประมาณกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี


         สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย จึงร่วมกับ เครือข่ายลดบริโภคเค็ม ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยและ สสส. รณรงค์ “ลดการกินเค็ม” เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาโรคไตและปัจจัยหลักที่คนไทยบริโภครสเค็มมากเกินไป


/data/content/24251/cms/e_bdinquwy3568.jpg


         ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ราชวิทยาลัยอายุแพทย์แห่งประเทศไทย บอกว่าคนไทยจะต้องลดอาหารเค็มเพื่อรักษาไต จากการสำรวจพบว่าคนไทยบริโภคเกลือและโซเดียมสูงเกินกว่าที่แนะนำถึง 2 เท่า คือเกลือ 10.8 กรัม หรือโซเดียม 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน (องค์การอนามัยโรคแนะนำบริโภคเกลือ 5 กรัม หรือโซเดียม 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน) การรับประทานอาหารรสเค็มจัดจะส่งผลให้ความดันโลหิตสูงเพิ่มการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ และยังมีผลเสียต่อไตโดยตรง ทำให้หัวใจทำงานหนัก ก่อให้เกิดภาวะหัวใจวายและความดันโลหิตสูงความดันในสมองเพิ่มขึ้น มีโอกาสเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตได้


/data/content/24251/cms/e_abdprtvx3478.jpg


          ปัจจุบันนี้ คนไทยได้รับโซเดียมจากการกินอาหารในแต่ละมื้อโดยไม่รู้ตัว ซึ่งมักอยู่ในอาหารแปรรูป โดยเฉพาะจากเครื่องปรุงรสซึ่งนิยมใช้มาก 5 ลำดับแรก คือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว เกลือ กะปิ และซอสหอยนางรม เมื่อเปรียบเทียบจะพบว่าเกลือ 1 ช้อนชา มีปริมาณโซเดียม 2,000 มิลลิกรัม น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 1,160-1,420 มิลลิกรัม ซีอิ๊ว 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 960-1420มิลลิกรัม ซอสปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะมีปริมาณโซเดียม 1,150 มิลลิกรัม กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 1,430-1,490 มิลลิกรัม ซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 420-490 มิลลิกรัม


          นอกจากนี้ ยังพบว่าอาหารถุงปรุงสำเร็จ มีปริมาณโซเดียมเฉลี่ยต่อถุง 815-3,527 มิลลิกรัม อาทิ ไข่พะโล้แกงไตปลา คั่วกลิ้ง เป็นต้น ส่วนอาหารจานเดียว จะมีปริมาณโซเดียม 1,000-2,000 มิลลิกรัมต่อหนึ่งจาน (เทียบเท่า 50-100% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน) อาทิ ข้าวหน้าเป็ด ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู และข้าวคลุกกะปิ เป็นต้น


/data/content/24251/cms/e_dfjqstvx2379.jpg


         เพื่อมิให้โรคไตเข้ามาสิงอยู่ในตัวของเรา หรือ ผู้ป่วยโรคไต ควรปฏิบัติดังนี้ 1.พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ 2.ควบคุมความดันโลหิตน้อยกว่า 130 /80 และระดับน้ำตาลในเลือด 3.ควบคุมการทานอาหารรสเค็ม และจำกัดอาหารประเภทโปรตีน โดยให้บริโภคเกลือไม่เกินวันละ 5 กรัม ถ้าเทียบเป็นปริมาณโซเดียมก็ไม่ควรเกิน วันละ 2,000 มิลลิกรัมซึ่งปริมาณดังกล่าวเทียบเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา 4.หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวด ยาหม้อ ยาชุดโดยไม่ปรึกษาแพทย์ 5.เลิกบุหรี่ มและงดดื่มสุรา และ 6.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ


         โรคไตเรื้อรังเป็นโรคที่ถ้าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา จะเข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งนอกจากผู้ป่วยจะเสียค่าใช้จ่ายสูงในการรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไตแล้ว ยังมีโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ดังนั้นเราต้องลดกินเค็มเพื่อสุขภาพที่ดีกว่า


 


 


          ที่มา: เว็บไซต์แนวหน้า

Shares:
QR Code :
QR Code