โรคไตตรวจพบเร็วรักษาได้
ที่มา : มติชน
แฟ้มภาพ
แพทย์เผย โรคไตตรวจพบเร็วรักษาได้ หมั่นตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอ
ปัจจุบันคนไทยป่วยด้วยโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน เป็นผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายประมาณ 100,000 คน ที่ต้องฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือล้างไตทางช่องท้อง และมี ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องประมาณ 20,000 คนต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ15-20 ต่อปี หากไม่รีบแก้ไข คาดว่าใน 5 ปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มสะสมกว่า 2 แสนราย แพทย์เผยโรคไตตรวจพบเร็วสามารถรักษาให้หายขาดได้ หมั่นตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอป้องกันโรคที่นำมาซึ่งโรคไต เช่น เบาหวาน ความดัน ควบคุมการกินอาหารรสเค็มหรือรสจัดเกินไป รวมถึงหลีกเลี่ยงการซื้อยารับประทานเองที่ ไม่ได้ผ่านการรับรองว่าปลอดภัยต่อไต ควรปรึกษาแพทย์ก่อน รับประทานยา
นพ.กำธร ลีลามะลิ หัวหน้าศูนย์ไตเทียม นายแพทย์เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลราชวิถี เปิดเผยว่า โรคไตโดยทั่วไปมี 2 ประเภทคือ แบบเฉียบพลัน และ แบบเรื้อรัง (มี 5 ระยะ) ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในระยะที่ 5 รักษาโดยการฟอกเลือด ผ่านเครื่องฟอกไตเทียมนั้น จะต้องมีการทำเส้นฟอกเลือด เพื่อใช้ ในการนำเลือดออกจากร่างกายของผู้ป่วยไปยังเครื่องฟอกเลือดเพื่อกำจัดพิษต่างๆ และนำเลือดที่ฟอกสะอาดแล้วกลับคืนเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยผ่านทางเส้นฟอกเลือดนี้ แต่ข้อเสียคือ เส้นฟอกเลือดอาจเกิดการตีบและอุดตันได้ ซึ่งทาง รพ.ราชวิถี มีแพทย์ผู้ชำนาญการสามารถแก้ไขเส้นฟอกเลือดที่ตีบหรือ อุดตันให้สามารถกลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม ช่วยให้คนไข้ไม่ต้องไปทำเส้นใหม่ หรือลดการใส่สายที่คอได้
การรักษาโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ดีที่สุดคือ การปลูกถ่ายไต ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้คนไข้กลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด และอยู่ได้ยาวนานที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหรือการล้างไตทางช่องท้อง ปัจจุบันมีการบริจาคไตค่อนข้างน้อยในอนาคตถ้ามีการบริจาค ไตมากขึ้น คนไข้ที่ล้างไตอยู่ก็มีโอกาสที่ได้รับการปลูกถ่ายไต มากขึ้น
ปัจจุบันโรคไตป้องกันได้ โดยหลีกเลี่ยงอาหารเค็ม ควบคุมโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงให้ดี ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาบางตัวที่มีผลเสียต่อไต เช่น การใช้ยาแก้ปวด แก้อักเสบอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน "โรงพยาบาลราชวิถี ได้รักษาผู้ป่วยโรคไต มากว่า 50 ปี มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษากว่า 12,000 คนต่อปี โดยปัจจุบันยังมีผู้ป่วยที่ทำการรักษาที่ศูนย์ไตเทียมโรงพยาบาลราชวิถีกว่า 1,500 คนต่อปี เนื่องจาก รพ.ราชวิถี มีพื้นที่ที่จำกัด ทำให้ผู้ป่วยโรคไตที่เข้ามารับการรักษาที่ รพ.ราชวิถี ต้องรอรับการรักษาเป็นเวลานาน และปัจจุบันเทคโนโลยีสำหรับการวินิจฉัยและรักษาโรคไตมีการพัฒนาไปมาก ดังนั้นศูนย์โรคไตครบวงจร ที่อาคารศูนย์การแพทย์ราชวิถี แห่งใหม่จึงถูกออกแบบเพื่อ ตอบปัญหาดังกล่าว ประกอบด้วย 5 หน่วยงานที่ดูแลผู้ป่วยคือ (1) คลินิกโรคไต (Kidney Disease Clinic) ที่ทำการวินิจฉัย รักษาโรคไตให้หาย หรือชะลอความเสื่อมในกรณีที่รักษา ไม่หายขาด (2) คลินิกล้างไตทางช่องท้อง (Peritoneal Dialysis Clinic) (3) หน่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis Unit) (4) คลินิกเส้นฟอกเลือด (Vascular Access Clinic) และ (5) ศูนย์ปลูกถ่ายไต ให้บริการ ครบวงจรตั้งแต่ก่อนปลูกถ่ายไต และดูแลต่อเนื่องหลังปลูกถ่ายไต ศูนย์โรคไตครบวงจรนี้ จะสามารถรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น ลดระยะเวลาการรอคอย และเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ผู้ป่วย แต่ทั้งนี้ยังขาดแคลนอุปกรณ์ และต้องการรับการบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา" นพ.กำธร กล่าวในท้ายสุด