โรคไข้กาฬหลังแอ่น
ที่มา : คู่มือรู้ทันโรคและภัยสุขภาพสำหรับประชาชน โดยสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
แฟ้มภาพ
เป็นโรคที่เกิดเฉียบพลัน มีสาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรียพบมากในกลุ่มคนที่อยู่รวมกันอย่างหนาแน่นและแออัด อาการสำคัญของโรคนี้คือ ไข้ ผื่น และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
โรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal meningitis) เป็นโรคที่เกิดเฉียบพลัน มีสาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Neisseria meningitidis โรคนี้พบได้ทุกกลุ่มอายุ มักพบมากในกลุ่มคนที่อยู่รวมกันอย่างหนาแน่นและแออัด พื้นที่มีการเกิดโรคสูงอยู่บริเวณประเทศแถบตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดิอาระเบีย ทวีปแอฟริกา หรือบริเวณที่เรียกว่า “African Meningitis belt” ซึ่งมีอาณาเขตกว้างขวาง ตั้งแต่เซเนกัลไปจนถึงเอธิโอเปีย เช่น เซเนกัล กินี ไนจีเรีย ซาด ซูดาน เอธิโอเปีย เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบการระบาดของโรคนี้ในทวีปอเมริกา เช่น คิวบา บราซิล ชิลี อาร์เจนตินา โคลัมเบีย เป็นต้น หรือประเทศในแถบเอเชีย เช่น เนปาล อินเดีย พม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม ไทย เป็นต้น
ชื่อของโรคบอกถึงลักษณะอาการได้ดีคือ มีไข้สูงและมีผื่นแดงจ้ำเขียวหรือดำคล้ำ (จึงเรียกว่า “ไข้กาฬ” คือไข้ที่มีผื่นสีดำตามผิวหนัง) และอาจมีอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบร่วมด้วย เช่น คอแข็ง หลังแอ่น (จึงเรียกต่อท้ายว่า หลังแอ่น)
อาการสำคัญของโรคนี้คือ ไข้ ผื่น และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจมีครบทั้ง 2 ใน 3 อย่างนี้ ซึ่งมีความรุนแรงต่างกันไป อาการเริ่มต้นคล้ายไข้หวัด คือ มีไข้สูง เจ็บคอ ปวดศีรษะ อาเจียน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณขาและหลัง 2-3 วัน มีผื่นแดงจ้ำเขียวหรือดำคล้ำ จนเป็นรอยฟกช้ำขนาดใหญ่ อาจมีรูปร่างคล้ายดาวกระจาย ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ มักพบบริเวณลำตัวส่วนล่าง ขา เท้า และบริเวณที่มีแรงกดบ่อย ๆ เช่น ขอบกางเกง ขอบถุงเท้า เป็นต้น อาจมีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยแสดงอาการคอแข็งร่วมด้วย ในรายที่มีอาการรุนแรงผู้ป่วยจะซึม ชัก ช็อก และอาจเสียชีวิตได้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการ
การรักษา
แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนนิซิลลิน แอมพิซิลลิน คลอแรมเฟนิคอล เป็นต้น ร่วมกับการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ การให้สารน้ำ เป็นต้น ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและลดความรุนแรงของโรค ควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาลตั้งแต่เริ่มมีอาการ หรือเมื่อสงสัยว่าตัวเองป่วยหรือมีอาการไข้เฉียบพลัน เจ็บคอ มีผื่นที่เป็นจ้ำเลือด หรือมีอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบข้างต้น ควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีอาการโดยทันที
การป้องกัน
1 การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย การไอ จามรดกัน ไม่ดื่มน้ำแก้วเดียวกัน ล้างมือให้สะอาดเมื่อสัมผัสน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย และควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยการออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงความเครียด รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และไม่ควรเข้าไปอยู่บริเวณที่แออัด ผู้คนหนาแน่น หรือบริเวณที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
2 หากจำเป็นต้องสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย เช่น สมาชิกในครอบครัวที่พักอาศัยอยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วยเพื่อนนักเรียนในชั้นเดียวกัน ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่หรือนอนพักในค่ายเดียวกัน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ป่วย เป็นต้น ควรไปพบแพทย์ และได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรค
3 การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้เดินทางไปประเทศเขตพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค เช่น ไปทำงานหรือผู้ที่เดินทางไปประกอบพิธีทางศาสนาแถบตะวันออกกลาง ต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามที่กำหนด