โรคโปลิโอและการรักษา

ที่มา : คู่มือรู้ทันโรคและภัยสุขภาพสำหรับประชาชน โดยสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข


โรคโปลิโอและการรักษา thaihealth


แฟ้มภาพ


โรคโปลิโอ เดิมเรียกว่า โรคไข้สันหลังอักเสบ ทั้งนี้เพราะเชื้อไวรัสโปลิโอจะทำให้มีการอักเสบของไขสันหลัง ทำให้มีอัมพาตของกล้ามเนื้อแขนขา ในรายที่อาการรุนแรงจะทำให้มีความพิการตลอดชีวิต และบางรายอาจเสียชีวิตได้


การติดต่อ


โปลิโอเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายมาก การติดต่อที่สำคัญคือ เชื้อที่ถูกขับถ่ายออกมาทางอุจจาระเข้าสู่อีกคนหนึ่งโดยผ่านเข้าทางปาก (fecal-oral route) โดยเชื้อปนเปื้อนติดมือผ่านคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง และเข้าสู่ร่างกายเมื่อหยิบจับอาหารเข้าสู่ปาก ในพื้นที่ที่มีอนามัยส่วนบุคคล และการสุขาภิบาลไม่ได้มาตรฐานจะพบโรคโปลิโอได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และเป็นการติดต่อทาง fecal-oral route


ส่วนในประเทศซึ่งมีการสุขาภิบาลและอนามัยส่วนบุคคลดี การติดต่อส่วนใหญ่เป็นแบบ oral – oral route โดยเชื้อที่เพิ่มจำนวนในลำคอ หรือทางเดินอาหารส่วนบน ถูกขับออกมาพร้อมกับเสมหะออกมาทางปาก ปนเปื้อนมือที่หยิบจับอาหารเข้าทางปากของอีกคนหนึ่ง ถ้าผู้ที่ได้รับเชื้อไม่มีภูมิต้านทานจะติดเชื้อทุกราย ถึงแม้ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แต่สามารถแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นได้ เมื่อพบผู้ป่วยโปลิโอที่มีอัมพาต 1 ราย จะมีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการอีก 100-200 ราย ซึ่งสามารถแพร่กระจายเชื้อต่อไปได้อีก


การรักษา


ให้การรักษาแบบประคับประคองในระยะแรกที่มีการปวดตามกล้ามเนื้อ ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบ นอนพัก และดูแลอย่างใกล้ชิดเมื่อมีอัมพาต และมีการหายใจลำบากต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เมื่ออาการอัมพาตหายแล้ว ให้การฟื้นฟูสมรรถภาพของกล้ามเนื้อ


การป้องกัน


  1. ในเด็กทั่วไป ให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข
  2. รับประทานอาหารและน้ำดื่มที่สะอาดถูกสุขลักษณะ ถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะทุกครั้ง


 

Shares:
QR Code :
QR Code