“โรคเอ็มเอ็ม”คืออะไรและอันตรายแค่ไหน

ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์


ภาพประกอบจากเว็บไซต์เดลินิวส์


“โรคเอ็มเอ็ม”คืออะไรและอันตรายแค่ไหน thaihealth


โรคเอ็มเอ็ม เป็นอีกหนึ่งโรคร้ายที่หลายคนยังไม่คุ้นเคยนัก โดยโรคดังกล่าวเป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกายและส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตได้


โรคเอ็มเอ็ม มีชื่อเต็มว่า Multiple Myeloma คือ โรคมะเร็งทางโลหิตวิทยา เกิดจากความผิดปกติของพลาสมาเซลล์ ซึ่งเป็นกลุ่มของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ในการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยในผู้ป่วยโรคเอ็มเอ็ม พลาสมาเซลล์จะมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติไป ส่งผลให้เกิดความผิดปกติในร่างกายตามมา


พลาสมาเซลล์ที่เติบโตผิดปกตินั้นจะเกิดขึ้นในไขกระดูก ซึ่งไขกระดูกมีหน้าที่สร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด หากเกิดความผิดปกติขึ้นที่บริเวณนี้ จะส่งผลให้ร่างกายขาดเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ทำให้เกิดภาวะความผิดปกติตามมา เช่น หากร่างกายขาดเม็ดเลือดแดง จะเกิดอาการซีด อ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย หากขาดเกล็ดเลือดจะเกิดภาวะเลือดออกง่าย เพราะเกล็ดเลือดมีหน้าที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด และเมื่อร่างกายขาดเม็ดเลือดขาวจะทำให้เกิดระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ส่งผลให้ร่างกายเกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น


อีกทั้งพลาสมาเซลล์เหล่านี้เมื่อมีมากขึ้นจะสร้างภูมิคุ้มกันซึ่งเป็นโปรตีนที่มากเกินไป ทำให้เลือดมีลักษณะข้นหนืดและก่อให้เกิดภาวะเส้นเลือดอุดตันที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายตามมา หากอุดตันที่สมอง จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ และเมื่อโปรตีนเหล่านี้ถูกขับออกที่ไต ก็อาจจะทำให้เกิดการอุดตันที่ท่อไตอาจส่งผลให้ไตวายได้ในที่สุด นอก จากนั้นโรคเอ็มเอ็มยังทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้ อันเนื่องมาจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ ส่งผลให้เกิดการสร้างสารเคมีชนิดหนึ่งที่ไปกระตุ้นการสร้างเซลล์ชนิดที่ทำลายกระดูก


โรคเอ็มเอ็ม มักเกิดกับผู้สูงอายุ อายุเฉลี่ยของคนไข้โรคเอ็มเอ็มในประเทศไทยอยู่ที่ 59 ปี นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งทำอาชีพที่ใกล้ชิดกับสารเคมีประเภทยาฆ่าแมลง (เกษตรกร) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าปัจจัยใดเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเอ็มเอ็ม เบื้องต้น ได้มีการสันนิษฐานว่าเมื่ออายุมากขึ้นความเสี่ยงต่อการเกิดโรคก็มากขึ้นด้วย และสารเคมีประเภทยาฆ่าแมลงอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้


หนึ่งในความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้คือ อายุที่มากขึ้น เพราะระบบอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายจะเสื่อมลง รวมถึงระบบการแบ่งเซลล์ ซึ่งหากเกิดความผิดปกติของการแบ่งเซลล์ที่พลาสมาเซลล์จะทำให้กลายเป็นโรคเอ็มเอ็มได้


สำหรับการสันนิษฐานเกี่ยวกับสารเคมี คือสารเคมีอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสารพันธุกรรมได้ จึงทำให้เกิดเซลล์ชนิดร้ายกลายเป็นเซลล์มะเร็งในไขกระดูก เกิดเป็นโรคเอ็มเอ็มในที่สุด


สถิติของการเกิดโรคเอ็มเอ็มในประเทศไทย พบผู้ป่วยรายใหม่โดยเฉลี่ยต่อปี 300-400 ราย และพบผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าวพบในอัตราไม่ถึงร้อยละ 1 ของประชากรทั้งประเทศ อัตราที่พบในผู้หญิงและผู้ชายเท่ากัน และอายุโดยเฉลี่ยที่พบคือ 59 ปี


ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเอ็มเอ็ม ได้แก่ ภาวะกระดูกพรุนหรือกระดูกผุ ไตวายเฉียบพลัน เกิดภาวะซีด เลือดออกผิดปกติ และร่างกายติดเชื้อได้ง่ายผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์ มักพบด้วยอาการหลากหลายและไม่จำเพาะ เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายจากภาวะซีด หรืออาจมาด้วยอาการทางระบบอวัยวะต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ไตวาย กระดูกหักง่าย ก้อนมะเร็งตามร่างกาย เป็นต้น แพทย์สามารถทำการวินิจฉัยโรคเอ็มเอ็ม จากการตรวจปริมาณและชนิดของโปรตีนทางห้องปฏิบัติการร่วมกับการเจาะตรวจไขกระดูกเพื่อวิเคราะห์หาเซลล์มะเร็ง และหากตรวจพบว่าเป็นโรคเอ็มเอ็ม แพทย์จะทำการประเมินความรุนแรงและทำการรักษาจากอายุความพร้อมของร่างกาย และระดับของสารเคมีหรือโปรตีนในเลือด


การรักษาหลัก คือ การให้ยาเคมีบำบัด หรือยาภูมิคุ้มกันที่มีความจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง สำหรับในรายที่มาด้วยก้อนในกระดูกหรือตามร่างกาย อาจพิจารณาเรื่องการฉายแสงร่วมด้วย และการรักษาที่จะทำให้โรคอยู่ในภาวะสงบได้นานที่สุด คือ การปลูกถ่ายไขกระดูก หากแต่ผู้ป่วยต้องอยู่ในระยะสงบหลังได้ยาเคมีบำบัดแล้วเท่านั้น

Shares:
QR Code :
QR Code