โรคหัดระบาดในพื้นที่3จว.ใต้
ที่มา : เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
"จุฬาราชมนตรี" สรุปแล้วว่าสามารถฉีดวัคซีนได้ ใครมีอาการคล้ายโรคหัด ต้องรีบส่งโรงพยาบาล
พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ผอ. ศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า โรคหัดเป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน และโรคนี้ในหลายประเทศหมดไปแล้ว ส่วนประเทศไทยหลายปีไม่มีการรายงาน แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่มีการแพร่ระบาดทำให้มีผู้เสียชีวิตในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้กว่า 10 ศพ และป่วยอีกจำนวนมาก ส่งผลทำให้ครอบครัว คนรอบข้าง รวมทั้งที่โรงเรียนมีความตื่นตระหนกกังวล เพราะเครียด กังวลว่าจะติดโรคหัด ซึ่งต้องเร่งให้ความรู้ ความเข้าใจ เพื่อให้มีการตื่นตัวไปฉีควัคซีนมากขึ้น
โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น เร่งเข้าพื้นที่รณรงค์ให้ความรู้ และฉีดวัคซีน โดยจุฬาราชมนตรีได้สรุปแล้วว่าสามารถฉีดซีนได้ ถ้าใครมีอาการคล้ายโรคหัด ต้องรีบส่งโรงพยาบาลด่วน ไม่ต้องมาโรงเรียน เพราะอาจจะติดไปยังคนอื่น อีกส่วนผู้ปกครองและครูต้องหมั่นสังเกต และแยกเด็กที่ป่วย แล้วรีบพาไปพบแพทย์ทันที
ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคหัดในพื้นที่ 8 อำเภอ ของ จ.ยะลา ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีผู้ป่วยสะสม ตั้งแต่ 1 ม.ค.- 3 พ.ย.61 จำนวน 1,256 คน เสียชีวิต 10 ศพ ผู้ป่วยอาการสาหัสใน รพ.ศูนย์ยะลา 1 คน ผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลต่าง ๆ ปัจจุบันรวมยอด 98 คน เป้าหมายฉีดวัคซีนช่วงการรณรงค์ 8,654 คน ฉีดได้ 7,002 คน คิดเป็น 80.91%
รายงานด้วยว่าในพื้นที่ รพ.สต.นิบงบารู ต.สะเตงนอก อ.เมืองยะลา มีบางชุมชน ยังปฏิเสธการฉีดวัคซีน ทำให้เด็กที่อยู่ในเกณฑ์เสี่ยงอายุ 9 เดือน-5 ขวบ เริ่มมีอาการป่วยบ้างแล้ว ทางรพ.สต.พยายามเข้าไปสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคไปยังบุคคลอื่นที่อาศัยอยู่ในชุมชนดังกล่าวแล้ว ด้วยการไปทำความเข้าใจในเรื่องพิษภัยของโรคหัด หากไม่รับวัคซีนโอกาสที่จะป่วยและแพร่ระบาดไปสู่บุคคลอื่นสูง ทำให้บางครัวเรือนเริ่มให้ความสนใจ ยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าไปฉีดวัคซีนกับผู้สัมผัสคือ พ่อแม่และผู้อยู่ข้างเคียงบางส่วนได้แล้ว นอกจากนี้ที่ รพ.สต.นิบงบารู มีผู้ปกครองบางคนที่เคยปฏิเสธวัคซีน เริ่มทยอยนำบุตรหลานมารับวัคซีนกันมากขึ้น
เจ้าหน้าที่คนหนึ่งให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันยังมีคนคิดแบบสุดโต่ง ปฏิเสธการให้วัคซีนอยู่ แต่เหลือน้อยแล้ว ขณะนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้ส่งรายชื่อบุคคลเป้าหมาย ที่มีอายุระหว่าง 9 เดือน-5 ขวบ ให้ไปฉีดวัคซีน ปรากฏว่ายังเหลืออีกกว่า 20 ราย ยังคงปฏิเสธการรับวัคซีนอยู่ ทำให้ รพ.สต.ที่รับผิดชอบมีความกังวลว่า บุคคลเหล่านี้อาจเป็นตัวนำเชื้อโรคไปแพร่ให้กับบุคคลอื่นได้
ขณะที่ นายนิมะ มะกาเจ รอง ผวจ.ยะลา ซึ่งรับผิดชอบด้านงานสำนักงานสาธารณสุขเปิดเผยว่า หลังจากทราบข่าวมีการระบาดของโรคหัด มีผู้ป่วยสะสมกว่า 1,200 คน และเสียชีวิต 10 ศพ ทาง จ.ยะลา ไม่ได้นิ่งนอนใจได้พยายามที่จะควบคุมจำกัดพื้นที่และการแพร่ระบาดของโรคหัดขึ้น โดยมีการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังโรคหัดระดับจังหวัดมี ผวจ.เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ และระดับอำเภอที่มีนายอำเภอเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ได้มีการรณรงค์ เดินเคาะประตูบ้านเพื่อตรวจหาผู้ป่วยและฉีดวัคซีนกลุ่มเป้าหมาย โดยที่ผ่านมาสามารถทำการฉีดวัคซีนได้กว่า 90 % ในทุกอำเภอ
ส่วนพื้นที่บ้านเปาะยานิ หมู่ 3 ต.สะเตงนอก เป็นชุมชนใหญ่ ที่มีการปฏิเสธวัคซีนอยู่ นั้น ทางจังหวัดพยายามทำความเข้าใจกับผู้ปกครองในกลุ่มดังกล่าว และได้ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในเขตรับผิดชอบ ปรากฏว่าขณะนี้เริ่มมีความเข้าใจมากขึ้นคงจะสามารถทำให้การเข้าถึงวัคซีนของบุคคลเป้าหมายได้มากขึ้นในอนาคต