โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ถือเป็นอีกหนึ่งโรคภัยที่คร่าชีวิตผู้คนมากเป็นอันดับต้นๆ ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กฤตยพงษ์ หัวหน้าสาขาหทัยวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช กล่าวถึงสาเหตุว่าเกิดจากการผิดปกติของเซลล์ผนังหลอดเลือด โดยเฉพาะเซลล์ด้านในของผนังหลอดเลือด จะมีการทำงานที่ผิดปกติไปจากเดิม ทำให้มีการสะสมหรือการดูดซึมของไขมันเข้ามาเก็บสะสมที่ผนังหลอดเลือดมากขึ้น ความผิดปกติแบบนี้จะถูกชักนำให้เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค
อย่างไรก็ตาม นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลว่าผู้ป่วยจำนวนมากไม่มีอาการ ถึงแม้ว่าจะมีการตีบแคบของผนังหลอดเลือดแล้วก็ตามที เพราะระบบหลอดเลือดจะพยายามปรับตัวของระบบเพื่อพยายามให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้ว่าจะมีคราบไขมันสะสมตามผนังหลอดเลือดมากเพียงใด
“แต่ในระยะที่มีอาการจะมีสองประเภท คือ อาการในระยะที่เป็นๆ หายๆ กับอาการที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนแบบฉับพลันทันที อาการที่เกิดในระยะเรื้อรัง หมายถึงเกิดจากการตีบแคบของผนังหลอดเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้น้อยกว่าปกติ โดยเฉพาะในช่วงที่หัวใจต้องการเลือดไปเลี้ยงหัวใจมากเป็นพิเศษ อย่างเช่น ช่วงที่มีการออกกำลัง เพราะฉะนั้น อาการที่แสดงก็มักจะเป็นการเจ็บหน้าอก เจ็บแน่นๆ เหมือนมีอะไรมาบีบหรือกด และบางคนเข้าใจว่าหัวใจอยู่ข้างซ้าย จะต้องเจ็บหน้าอกข้างซ้าย แต่จริงๆ อาการที่เกิดจากการที่หัวใจขาดเลือด มักจะเป็นอาการที่เจ็บบริเวณกลางหน้าอก และมักจะเป็นขณะที่ออกกำลัง ขณะที่เร่งรีบ ขณะเครียดก็เป็นได้ เพราะหัวใจทำงานมากขึ้น”
ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากอาการที่เจ็บแน่นหน้าอกขณะที่มีการออกกำลังแล้ว ก็จะมีอาการที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อน เช่น เส้นเลือดหัวใจอุดตัน ก็จะเจ็บหน้าอกรุนแรง และนานกว่าปกติ ราวครึ่งชั่วโมงขึ้นไป บ่งบอกว่านั่นคือภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ อาจจะมีการอุดตันของผนังหลอดเลือด บางคนอาจจะเสียชีวิตทันทีเลยก็มี
ส่วนเรื่องปัจจัยเสี่ยงนั้นมีหลายประเภท สามารถแยกแยะได้ 3 ข้อ คือ
1. ปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขป้องกันได้
– สูบบุหรี่
– อ้วน (ลงพุง)
– ไม่ได้ออกกำลังกาย
– ความเครียด
2. ปัจจัยที่แก้ไขไม่ได้
– เชื้อชาติ
– อายุ (ชาย 45 ปีขึ้นไป หญิง 55 ปีขึ้นไป)
– กรรมพันธุ์
3. ปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขได้ด้วยตัวเองและแพทย์
– เบาหวาน
– ความดันโลหิตสูง
– ไขมันในเลือดสูง
อย่างไรก็ตาม หากยังไม่เป็น ศ.นพ.รุ่งโรจน์ แนะนำวิธีการดูแลตัวเองไว้ 7 ประการ ดังต่อไปนี้
1. ไม่ควรสูบหรี่ หรือผู้ที่สูบอยู่แล้วก็ควรหยุดสูบ
2. ควบคุมน้ำหนักตัวให้ปกติ
3. ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน
4. เลือกรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ
5. ทำจิตใจให้ผ่องใส ไม่เครียด
6. ตรวจร่างกายและวัดความดันโลหิต
7. ตรวจเลือด, ภาวะเบาหวาน และไขมันในเลือด
ที่มา : สมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย โดย ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กฤตยพงษ์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต