โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และการออกกำลังกาย
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
โรคหลอดเลือด หัวใจตีบหรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ หรือคนที่เริ่มมีอายุมากขึ้น จากพฤติกรรมเนือยนิ่ง การบริโภคอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ตลอดจนถึงการขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ล้วนแต่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และยังเป็นสาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในการเสียชีวิตของผู้ที่มีโรคประจำตัวต่าง ๆ ในอันดับต้น ๆ ในประเทศไทยอีกด้วย
ผศ.ดร.สิทธา พงษ์พิบูลย์ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเกิดขึ้นจากการเกาะหรือก่อตัวของคราบไขมัน ประกอบไปด้วย ไขมัน คอเลสเตอรอล แคลเซียม ในหลอดเลือดที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งหลอดเลือดนี้จะนำเอาเลือดที่เต็มไปด้วยออกซิเจน มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อทำให้หัวใจทำงานได้อย่างปกติ การก่อตัวของคราบไขมัน และการแข็งตัวของหลอดเลือดแดง จะส่งผลให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ หรืออาจจะเกิดจากการแตกของคราบไขมัน จนทำให้เกิดการสะสมของลิ่มเลือดในจุดนั้น จนทำให้เกิดอาการแน่น หน้าอกหรือเจ็บหน้าอกส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดฉับพลัน หรือเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นอย่างมาก
ประโยชน์ของการออกกำลังกายใน ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
การออกกำลังกายถือว่า เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ หลักฐานทางวิชาการ พบว่าการออกกำลังกายสามารถป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สามารถเพิ่มสมรรถภาพทางกายในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบให้มากขึ้นได้ด้วย ซึ่งการมีค่าสมรรถ ภาพกายสูง เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการดำรงชีวิต การศึกษาพบว่าถ้าผู้ที่เป็นโรคหลอด เลือดหัวใจตีบและมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ได้ถึงร้อยละ 25
นอกจากการออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางกายแล้ว ยังช่วยลดอาการแน่นหน้าอกที่จะเกิดในขณะที่ทำกิจกรรมทางกาย ได้ด้วย การออกกำลังกายก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผนังหลอดเลือด และกล้ามเนื้อเรียบในหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ และการออกกำลังกายยังทำให้เกิดการผลิตสาร Nitric Oxide (NO) ซึ่งจะทำให้หลอดเลือดแดงขยายตัวและคลายตัวได้ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้การไหลเวียนของหลอดเลือดมีประสิทธิภาพดีขึ้น
จากที่กล่าวมา การออกกำลังกายสามารถช่วยส่งเสริมให้สุขภาพและสมรรถ ภาพทางกายของผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบดีขึ้น แต่การที่จะได้ประโยชน์จากการออกกำลังกายอย่างเต็มที่นั้น ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่กับการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์และถูกสุขลักษณะ ก็จะทำให้ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบสามารถใช้ชีวิตได้อย่างยืนยาวมากขึ้น
ข้อควรระวังในการออกกำลังกาย
– ทำการ warm-up ก่อนการออกกำลังกาย และ cool down หลังการออกกำลังกายทุกครั้ง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ
– เลือกทำกิจกรรมและความหนักที่มีความเหมาะสม และไม่ควรหักโหมในการออกกำลังกายมากจนเกินไป เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายหรือภาวะฉุกเฉินได้
– ควรออกกำลังกายในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ออกกำลังกายในที่ร้อนและชื้นจัด เนื่องจากการออกกำลังกายในสภาพแวดล้อมแบบนี้ จะทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น จนทำให้เกิดอันตรายได้
– สวมใส่เสื้อผ้าในการออกกำลังกายให้เหมาะสม ไม่รัดแน่นหรือหลวมจนเกินไป และควรเลือกเสื้อผ้าออกกำลังกายที่สามารถระบายความร้อนได้ดี
– ถ้ามีอาการผิดปกติระหว่างการออกกำลังกาย เช่น แน่นหน้าอก เหนื่อยผิดปกติ หายใจไม่ออก อ่อนเพลียกะทันหัน หรืออาการอื่น ๆ ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ให้หยุดออกกำลังกายทันทีแล้วพัก ถ้าพักแล้วอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์ทันที