“โรคหลอดเลือดสมอง”…รู้ก่อนเป็น ป้องกันได้
เรื่องโดย : ปรภัต จูตระกูล Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก : หนังสืออาหารสำหรับโรคหลอดเลือดสมอง โดยสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และนพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย และในฐานะผู้สูงอายุแห่งชาติประจำปี 2562
ภาพประกอบโดย : นัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
“โรคหลอดเลือดสมอง”…รู้ก่อนเป็น ป้องกันได้
ความร้ายกาจของโรคที่คร่าชีวิต มักจะมาโดยที่เราไม่ทันตั้งตัว โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke เป็นอีกหนึ่งโรคที่ไม่มีการเตือนล่วงหน้า แต่เราสามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ
โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ (1) ภาวะหลอดเลือดสมองตีบตัน (Ischemic Stroke) มีสาเหตุมาจากการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดจากการสะสมของคราบไขมัน หินปูน ที่ผนังหลอดเลือดชั้นในจนหนา นูน แข็ง ขาดความยืดหยุ่น ทำให้หลอดเลือดค่อย ๆ ตีบแคบ พบได้ประมาณ 70–85% (2) ภาวะหลอดเลือดสมองแตก หรือภาวะเลือดออกในสมอง (Hemorrhagic Stroke) ทำให้มีเลือดออกมาอยู่ในเนื้อสมอง หรือเยื่อหุ้มสมอง เซลล์สมองได้รับบาดเจ็บและทำให้เนื้อสมองตาย มักพบในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง หลอดเลือดเปราะและโป่งพอง พบได้ประมาณ 15–30% (3) ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient ischemic attack) คล้ายโรคสมองขาดเลือด แต่มีอาการชั่วคราวไม่เกิน 24 ชั่วโมง เป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องพบแพทย์เพราะเสี่ยงที่จะเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต พบได้ประมาณ 15% อย่างไรก็ตามโรคนี้สามารถป้องกันได้โดยหมั่นสำรวจความผิดปกติของร่างกาย และคอยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงอยู่เสมอ
อาการของโรคหลอดเลือดสมองในแต่ละคนจะแสดงออกมาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของสมองที่เกิดการผิดปกติ วันนี้ทีมเว็บไซต์ สสส. นำเสนอ 10 สัญญาณเตือน ที่หากคนใกล้ตัวมีอาการดังกล่าวควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจวินิจฉัยในทันที
- อาการอ่อนแรงของร่างกายครึ่งซีก
- อาการชาครึ่งซีก
- สูญเสียการทรงตัว
- มองไม่เห็นภาพครึ่งหนึ่งของลานสายตา
- ตามองไม่เห็นข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง
- มองเห็นภาพซ้อนเป็น 2 ภาพ
- พูดไม่ชัด กลืนลำบาก ปากเบี้ยว ลิ้นแข็ง
- มีความผิดปกติของการใช้ภาษา พูดคุยไม่ค่อยรู้เรื่องหรือฟังไม่เข้าใจ พูดไม่ออก นึกคำไม่ได้ ใช้ภาษาผิด คำนวณไม่ได้
- มีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน
- ปวดศีรษะรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ความน่ากลัวของโรคนี้ คือ เป็นโรคที่ไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า หากมีอาการที่กล่าวมาข้างต้นให้รีบพาไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยและให้การรักษา กรณีที่เป็นหลอดเลือดสมองตีบ จะทำการรักษาโดยฉีดยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งจะมีผลในการรักษาอย่างมากหากมาพบแพทย์ภายในเวลาไม่เกิน 3 ชม.หลังจากมีอาการ ส่วนกรณีหลอดเลือดสมองแตกจะทำการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
ดาวน์โหลดอินโฟกราฟิกได้ที่ http://llln.me/qeBJVv8
โรคหลอดเลือดสมองมีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำ หากขาดการป้องกันและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค การเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองเพื่อดูแลสุขภาพร่างกายและป้องกันการเป็นซ้ำจึงควรทำดังนี้
- ตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ
- ควบคุมระดับไขมันและน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม
- เลิกสูบบุหรี่
- ลดการรับประทานอาหารรสเค็ม
- เลี่ยงอาหารไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว
- รับประทานผักและผลไม้ทุกวัน
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ (อย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์)
- รับประทานยาป้องกันการเกิดอัมพาตซ้ำตามแพทย์สั่งสม่ำเสมอ
สิ่งสำคัญที่ควรตระหนักคือ “จะทำอย่างไรให้คนรอบข้างหรือผู้ที่มีอาการรู้ว่า หากมีอาการหน้าเบี้ยว แขนขาชา หรืออ่อนแรง พูดไม่ชัด นี่คือสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง และต้องพาผู้ป่วยไปถึงโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด” เพื่อทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิต และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ
“ถ้าเตรียมตัวดี ย่อมชนะทุกสิ่ง” นพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย และในฐานะผู้สูงอายุแห่งชาติประจำปี 2562 ได้บอกเล่าประสบการณ์การเตรียมความพร้อม ที่ทุก ๆ คนสามารถวางแผนและตั้งตัวแต่เนิ่น ๆ ก่อนจะเข้าสู่สูงวัย และเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บดังนี้
- ดูแลร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการวิ่งหรือเดินเร็ววันละประมาณ 40-50 นาที และยืดเหยียดกล้ามเนื้อ หมุนคอ หมุนแขน 30 นาที
- ดูแลการรับประทานอาหาร โดยเลือกรับประทานผักผลไม้เป็นหลัก เน้นอาหารมื้อเช้าและกลางวัน ส่วนมื้อเย็นให้เลือกผักและผลไม้
- ดูแลสุขภาพฟันให้แข็งแรง ด้วยการแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งคือ ตอนเช้าและก่อนนอนอย่างสม่ำเสมอทุกวัน
จะเห็นได้ว่าคำแนะนำของ นพ.บรรลุ สอดคล้องกับ หลักการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดในสมองซ้ำ ซึ่งถือว่าการดูแลตัวเองให้ดีจะทำให้ร่างกายแข็งแรงและมีอายุยืนยาว นอกจากนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนให้คนไทยลดหวาน มัน เค็ม ด้วยสูตร 6:6:1 คือ น้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา น้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชา และเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน รวมถึง หันมารับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพด้วยสูตร 2:1:1 คือ ผักสองส่วน ข้าวหรือแป้งหนึ่งส่วน และเนื้อสัตว์ไม่ติดมันอีกหนึ่งส่วน ซึ่งนอกเหนือจากการทานอาหารที่ดีแล้ว การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ เพียงเท่านี้ก็ห่างไกลจากโรคหลอดเลือดสมองและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อื่น ๆ