“โรคหลอดเลือดสมอง” รู้เร็วห่างไกลอัมพาต

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้าออนไลน์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


“โรคหลอดเลือดสมอง” รู้เร็วห่างไกลอัมพาต thaihealth


แฟ้มภาพ


 โรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ เป็นปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความพิการทุพพลภาพ องค์การอนามัยโลกจึงกำหนดให้วันที่ 24 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น “วันอัมพฤกษ์ อัมพาตโลก” 


นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมองเกิดจากภาวะสมองขาดเลือดไปเลี้ยงทำให้เกิดอาการชาที่ใบหน้า ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขน ขา ข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรงเคลื่อนไหวไม่ได้ หรือเคลื่อนไหวลำบากอย่างทันทีทันใดเป็นนาทีหรือเป็นชั่วโมง จากข้อมูลสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองรับการรักษาที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี และในทุก 1 ชั่วโมง จะมีคนเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 3 คน


ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 500,000 คน ซึ่งผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะมีอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 20 ส่วนผู้ป่วยที่รอดชีวิตร้อยละ 30 จะมีความพิการต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่นในการทำกิจวัตรประจำวันตลอดชีวิต อีกร้อยละ 50 จะมีปัญหาด้านการพูดและการสื่อสารกับผู้อื่น ซึ่งมีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่หายเป็นปกติ โรคหลอดเลือดสมอง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ โรคหลอดเลือดสมองแตก และ โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน


สำหรับอาการเตือนที่เป็นสัญญาณอันตรายของโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ พูดไม่ออก ไม่เข้าใจ หรือพูดไม่ชัดทันทีทันใด แขน ขา หรือหน้าอ่อนแรง ชา หรือขยับไม่ได้ทันทีทันใด ตาข้างใดข้างหนึ่งมัว หรือมองไม่เห็น เห็นภาพซ้อนหรือมีอาการคล้ายม่านบังตาแบบฉับพลัน ปวดศีรษะรุนแรงฉับพลันชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน งุนงง เวียนศีรษะหรือเสียการทรงตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดร่วมกับอาการอื่นๆ ข้างต้น หากเกิดอาการดังกล่าวให้รีบพบแพทย์โดยด่วน แม้อาการดีขึ้นก็ควรมาพบแพทย์โดยเร็วเพราะจะช่วยรักษาชีวิตและฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาเป็น ปกติหรือใกล้เคียงคนปกติมากที่สุด


ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง และปัจจัยอื่นๆ เช่น อายุที่เพิ่มขึ้น ความเครียด โรคอ้วน ดื่มเหล้าเบียร์มากๆ ขาดการออกกําลังกาย เป็นต้น โรคหลอดเลือดสมองป้องกันได้โดยการออกกําลังกายให้สม่ำเสมอ คุมน้ำหนัก อย่าให้อ้วน ลดการรับประทานอาหารเค็มหวาน มัน เพิ่มผักผลไม้ งดสูบบุหรี่ ตรวจสุขภาพประจําปีเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง เช่น ความดันโลหิตสูงเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หากมีปัจจัยเสี่ยงต้องรักษาและพบแพทย์สม่ำเสมอห้ามหยุดยาเองโดยเด็ดขาด ซึ่งผู้ที่เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองแล้วจะมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีกมากกว่าคนปกติ


อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาโรคหลอดเลือดสมองขึ้นอยู่กับชนิด ความรุนแรง และระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการ หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเร็วเท่าใดความพิการและอัตราการเสียชีวิตก็จะลดลงมากเท่านั้น นอกจากนี้ ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงหรือป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองอยู่แล้วก็ควรรับการรักษาและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดด้วย


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code