โรคสุดฮิตในกลุ่มคนที่ใช้ข้อมือ

ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน


โรคสุดฮิตในกลุ่มคนที่ใช้ข้อมือ thaihealth


แฟ้มภาพ


นอกจากโรคเส้นประสาทที่ข้อมืออักเสบที่พบบ่อยในกลุ่มคนทำงานกับคอมพิวเตอร์ ที่ได้กล่าวถึงในฉบับที่ผ่านมาแล้ว ยังมีโรคเอ็นข้อมืออักเสบที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ใช้มือทำงานบ่อยๆ ซ้ำๆ และข้อมืออยู่ในท่าที่ไม่ถูกต้อง


โรคเอ็นข้อมืออักเสบที่พบได้บ่อยคือ เอ็นบริเวณข้อมือทางด้านหลังข้อมือทางฝั่งนิ้วโป้ง โรคนี้มีชื่อเรียกว่า de quervain's ซึ่งเรียกค่อนข้างยาก และสะกดยาก เนื่องจากเป็นภาษาฝรั่งเศส ดังมีรายละเอียดดังนี้


อาการของเอ็นข้อมืออักเสบ


  • เจ็บเมื่อกระดกนิ้วโป้ง และเมื่อขยับนิ้วโป้งมาที่กลางฝ่ามือ
  • เจ็บเมื่อกดบริเวณเอ็น ใต้รอยต่อข้อมือ ถัดจากโคนนิ้วโป้งลงมา
  • มีการอักเสบของเอ็น หากคลำ อาจพบว่าร้อนกว่าบริเวณอื่น
  • กล้ามเนื้อที่ยึดต่อกับเอ็นนั้น อาจมีอาการเกร็ง แข็ง หรืออาจมีการอักเสบ
  • หากเป็นเรื้อรัง อาจส่งผลต่อระบบประสาท ซึ่งจะทำให้เส้นประสาทตึงตัว และเคลื่อนไหวระยางค์ส่วนบนและคอได้ไม่เต็มที่


สาเหตุ


  • เอ็นของกล้ามเนื้อบริเวณนี้จะยึดต่อไปถึงโคนนิ้วโป้ง ซึ่งเป็นนิ้วที่มีการใช้งานบ่อย ดังนั้น เอ็นบริเวณนี้จึงมีการสีไปมาค่อนข้างบ่อย ทำให้อาจเกิดการบาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ ของเอ็น การบาดเจ็บนี้อาจมีการสะสม ถ้ายังมีการใช้งานของเอ็นนี้อยู่ตลอดเวลา
  • งานเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคนี้ โดยเฉพาะ งานที่ใช้ข้อมือบ่อยๆ และมีแรงกระชากต่อข้อมือและเอ็นบริเวณข้อมือ เช่น การสับหมู การแล่เนื้อ การใช้ค้อนตอกตะปู หรืองานที่ข้อมืออยู่ในท่าที่ไม่เหมาะสม เช่น การพิมพ์คอมพิวเตอร์ การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ ต่างๆ ที่ทำให้ข้อมือเอียงหรือบิดไปข้างใดข้างหนึ่งเป็นเวลานานๆ
  • สาเหตุอื่นๆ นอกจากงานแล้วยังมีโรคระบบกระดูก อื่นๆ เช่น รูมาตอยด์ ที่สามารถทำให้เกิดอาการอักเสบ ของเอ็นดังกล่าวได้


การป้องกันและการดูแลรักษาด้วยตนเอง


  • โรคเอ็นที่ข้อมืออักเสบนี้ เมื่อเป็นแล้ว อาการอย่างเบาสุดคือ รำคาญและทำงานได้ไม่เต็มที่ หรืออาการอย่างหนัก คือทำงานเบาๆ ไม่ได้ รวมถึงการทำกิจวัตรประจำวันเบาๆ เช่น กินข้าว การรักษาควรทำตั้งแต่เริ่มแรกเมื่อพบว่ามีอาการ ไม่ควรปล่อยให้มีการสะสมจนกระทั่งมีอาการอยู่ตลอดเวลา โดยใช้หลักการทางการยศาสตร์มาช่วยปรับปรุงงานให้เหมาะสม เพื่อกล้ามเนื้อและเอ็นทำงานลดลง ตัวอย่างดังเช่น
  • การใช้แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ จะมีผลต่อการเอียงของข้อมือมาก โดยข้อมือจะเอียงไปทางนิ้วก้อยเพื่อให้นิ้วทุกนิ้วสามารถวางบนแป้นพิมพ์ได้ มีผลทำให้ข้อมือด้านนิ้วโป้งถูกยืดอยู่ตลอดเวลา การแก้ไขสามารถ ทำได้โดยใช้แป้นพิมพ์ที่แยกตัวจากกันได้ ทำให้ไม่ต้องเอียงข้อมือ
  • สำหรับผู้ที่ต้องใช้เครื่องมือต่างๆ หากจำเป็นต้องใช้บ่อยก็มีความจำเป็นที่ต้องใช้เครื่องมือที่ออกแบบ มาโดยเฉพาะ เพื่อลดแรงกระชาก เช่น ค้อนที่ใช้ตอกตะปูที่เราพบใช้กันอยู่ทั่วไป จะเห็นว่าด้ามค้อนมีลักษณะตรง เมื่อทำการตอกตะปูจะเกิดแรงกระชากที่ข้อมือทุกครั้ง หากออกแบบค้อนใหม่ให้เป็นดังรูปค้อนขวามือที่ด้ามค้อนมีลักษณะโค้งงอ แม้ว่าการใช้งานไม่คล่องเนื่องจาก ความไม่คุ้นเคย แต่ลักษณะด้ามค้อนแบบนี้สามารถลดแรงกระชากที่ข้อมือได้เป็นอย่างดี เพราะขณะที่ตอกเมื่อหัวค้อนโดนตะปู ข้อมือจะไม่อยู่ในลักษณะที่งอมากนัก
  • อุปกรณ์อื่นๆ เช่น มีดและคีม ขณะที่เราใช้งานในลักษณะทิ่มไปข้างหน้าจะมีผลต่อการยืดของเอ็นข้อมือ ดังนั้น มีคำแนะนำสำหรับผู้ที่ใช้มีดหรือคีมบ่อยๆ ให้ใช้ คีมหรือมีดในลักษณะที่ด้ามโค้งงอคล้ายด้ามปืน เพราะ สามารถกันการเอียงงอของข้อมือได้ ทำให้เอ็นข้อมือไม่ยืดเกินไปขณะที่ทำงาน

Shares:
QR Code :
QR Code