โรควิตกกังวล ที่ไม่ควรมองข้าม

ที่มา : SOOK Magazine No.68


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


โรควิตกกังวล ที่ไม่ควรมองข้าม thaihealth


เพราะความวิตกกังวลเกิดขึ้นได้กับทุกคน และการวิตกกังวลที่ไม่มากจนเกินไปย่อมช่วยให้เตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างรอบคอบ แต่ถ้าวิตกกังวลจนมากเกินไปและเริ่มส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิต อาจบ่งบอกว่าคุณกำลังเป็นโรควิตกกังวล ซึ่งถ้าไม่รีบรักษาอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ในระยะยาว


5 โรควิตกกังวลดังต่อไปนี้คือโรคที่ไม่ควรละเลย


1. กังวลทั่วไป Generalized Anxiety Disorder : GAD มีความกังวลอย่างมากในเรื่องต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องแม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะคลี่คลายไปแล้วก็ตาม ซึ่งมักเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต ประจำวัน เช่น การงาน การเงิน สุขภาพ หรือ ความเป็นอยู่ในครอบครัว ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้มักไม่สามารถปรับตัวกับเหตุการณ์เดิม ๆ ที่เกิดขึ้นได้ยังคงคิดถึงเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ซึ่งส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ ทั้งทางกาย คือ มีอาการใจสั่น นอนไม่หลับ และปวดท้องบ่อย ๆ รวมถึงอาการทางความคิดที่หมกมุ่นกับเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ถึงแม้รู้ตัวว่าเป็นความคิดที่ไม่มีเหตุผลก็ไม่สามารถปล่อยวางความคิดเหล่านั้นไปได้ และมักกังวลถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึงเสมอ ซึ่งวิธีรับมือที่เหมาะสม คือ การเผชิญหน้ากับสิ่งเร้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป ฝึกควบคุมกล้ามเนื้อและควบคุมการหายใจ และปรับลดความคิดเชิงลบ เป็นต้น


2. กลัว Phobias ความกลัวที่มีมากเกินเหตุ ซึ่งผู้ป่วยเองถึงแม้จะรู้สึกว่าไม่สมเหตุผล และไม่เหมาะสมกับสิ่งที่มากระตุ้น แต่ก็ไม่สามารถหักห้ามความกลัวได้ และพยายามหลีกเลี่ยงไม่เผชิญหน้ากับสิ่งที่ทำให้เกิดความกลัว โดยมักมีอาการทางกายร่วมด้วย เมื่อเจอสิ่งกระตุ้นที่ทำให้กลัว เช่น ใจสั่น หายใจลำบาก เหงื่อออก มือสั่น และเป็นลม ซึ่งเกิดอาหารเหล่านี้ซ้ำ ๆ เป็นเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน โดยความกลัวนั้นอาจเกิดจากการเผชิญกับสัตว์ การบาดเจ็บ กิจกรรม สถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะที่ก่อให้เกิดความตึงเครียดจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ เช่น กลัวที่โล่ง กลัวที่แคบ กลัวเลือด กลัวเข็ม กลัวการพูดต่อหน้าชุมชน กลัวที่สูง กลัวเสียงดัง หรือกลัวสัตว์ เป็นต้น


3. ตื่นตระหนก Panic Disorder ความตื่นตระหนกที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ มีอาการทางกายหลายอย่างพร้อมกัน ได้แก่ ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม แน่นหน้าอก วูบจะเป็นลม ปวดมวนท้อง มึนชาทั้งตัว กลัวจะควบคุมตนเองไม่ได้ กลัวว่า จะตายโดยอาจมีหรือไม่มีสิ่งมากระตุ้น มักเกิดขึ้นทันที คาดการณ์ไม่ได้ และยากที่จะควบคุม สำหรับผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการตกใจกลัวอย่างรุนแรงเป็นพัก ๆ หรือยาวนานเป็นชั่วโมง รวมถึงยังสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ส่งผลให้เกิดความกลัวและกังวลตลอดเวลาจนทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ปกติ เป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด และพบมากในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย นอกจากนี้โรคนี้อาจนำไปสู่สภาวะต่าง ๆ ได้อีก เช่น โรคซึมเศร้า การติดสารเสพติด ฯลฯ ควรได้รับการรักษาทางจิตเวช คือการรักษาด้วยยาควบคู่กับจิตบำบัด จะทำให้สามารถควบคุมชีวิตได้อย่างปกติ และด้วยการรับมืออย่างเหมาะสม โดยวิธีการดังนี้ให้กำลังใจในทางบวก การผ่อนคลายด้วยการยืดเหยียดร่างกาย การทำศิลปะที่สร้างสรรค์ในการสื่ออารมณ์ความรู้สึก พักผ่อนให้เพียงพอ และลดการดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น


4. กลัวสังคม Social Anxiety Disorder ความกลัวต่อการต้องไปอยู่ในสถานการณ์ที่คิดว่าอาจถูกจ้องมอง หรือ ทำอะไรที่น่าอับอายต่อหน้าบุคคลอื่น พยายามที่จะหลบเลี่ยงหรือต้องอดทนมากต่อความกลัวนั้นจนส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และทำให้มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการเข้าสังคม พบได้บ่อยในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และอาจพบอาการในญาติพี่น้องของผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไปด้วย โดยเกิดจากหลายปัจจัย เช่น การเลี้ยงดูแบบประคบประหงม การขาดทักษะการเข้าสังคม หรือโดนทำร้ายร่างกาย อาการที่ปรากฏคือ หน้าแดง เหงื่อออกมาก คลื่นไส้ หัวใจเต้นเร็ว หายใจลำบาก ปวดศีรษะ และอาการสั่นเทา เป็นต้น


5. กลัวการแยกจาก Separation Anxiety Disorder ความกลัวต่อการแยกจากบ้าน สถานที่คุ้นเคย หรือคนใกล้ชิดมากเกินกว่าที่ควรจะเป็นตามระดับการพัฒนาจิตใจ ซึ่งความกลัวหรือความกังวลนั้น มักจะเกี่ยวกับความสูญเสียหรือความเจ็บป่วยของคนสำคัญ เหตุการณ์ที่อาจทำให้เกิดการพลัดพราก เช่น หลงทาง ถูกลักพาตัว หรือเกิดอุบัติเหตุ ผู้ป่วยจะมีการลังเลหรือปฏิเสธการออกจากบ้านไปโรงเรียนหรือไปทำงาน กลัวมากหรือลังเลที่จะต้องอยู่คนเดียว หรือฝันร้ายเกี่ยวกับเรื่องการพลัดพรากบ่อย ๆ ซึ่งอาการของโรคมักเกิดยาวนานต่อเนื่องอย่างน้อย 4 สัปดาห์ในเด็ก และ 6 เดือนในผู้ใหญ่ ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต ประจำวัน


อาจดูเหมือนโรคนี้น่ากลัว แต่คุณป้องกันได้ ง่ายๆ แค่ใช้ชีวิตอย่างมีสุข กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย นอกจากนี้ควรฝึกสติเพื่อรู้ทันอารมณ์ของตัวเองว่ามีความเครียดมากเกินไปหรือไม่ รวมถึงการทำสมาธิเพื่อให้จิตใจสงบอยู่กับปัจจุบันและให้สมองได้ผ่อนคลาย รับรองสุขภาพดีทั้งกายใจห่างไกลโรคอย่างแน่นอน

Shares:
QR Code :
QR Code