โรคระบาดที่มาพร้อมกับหน้าฝน

ที่มา : SOOK Magazine ฉบับที่ 69


โรคระบาดที่มาพร้อมกับหน้าฝน  thaihealth


แฟ้มภาพ


สายฝนอาจมีผลต่อความรู้สึก นอกจากจะต้องระวังเรื่องของอารมณ์ที่พลิ้วไหวแล้ว สภาพอากาศที่มีความชื้นสูงและอุณหภูมิที่ลดต่ำลงเรื่อยๆนี้ ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้โรคหลายชนิด แต่ละปีมีผู้ป่วยนับแสนราย โดยจะมีโรคอะไรที่ควรระวังบ้าง ? พบคำตอบได้ที่นี่


•โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน  กลุ่มโรคติดต่อของระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อย เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารที่ลำไส้ รวมไปถึงโรคบิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ


อาการ – ท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ อาจมีไข้ ปวดบิดในท้อง และหากติดเชื้อ บิดอาจมีมูกหรือเลือดอุจจาระปนได้

คำแนะนำ – กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ


•โรคไข้หวัดใหญ่ กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อย ซึ่งปัจจุบันมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ H3N2 และโรคไข้หวัดนกที่มีแหล่งแพร่ระบาดมาจากสัตว์ปีก เชื้ออาจมีการผสมข้ามสายพันธุ์กับเชื้อไข้หวัดใหญ่ในคนที่อยู่ในช่วงระบาดในฤดูฝนได้

อาการ – ไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีน้ำมูกและไอร่วมด้วย ภาวะแทรกซ้อนที่มักพบในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงคือ ภาวะปอดอักเสบ

คำแนะนำ – ใช้ผ้าปิดจมูก ล้างมือบ่อยๆ


•โรคฉี่หนู (Leptospirosis) กลุ่มโรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง มักพบการติดเชื้อชนิดนี้ได้ในสุนัขหรือสัตว์ตามฟาร์ม เช่น สุกร โค กระบือ รวมถึงสัตว์จำพวกหนู ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ คือ เกษตรกร คนงานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ คนหาปลาตามแหล่งน้ำจืด ผู้ที่ทำงานขุดท่อระบายน้ำ และคนที่ย่ำน้ำในที่น้ำท่วมขังนานๆ เป็นต้น


อาการ – ไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ มักปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่องและโคนขาอย่างรุนแรง ตาแดง ประมาณร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วยโรคนี้อาจมีอาการรุนแรง เช่น ดีซ่าน ไตวาย หรือช็อกได้

คำแนะนำ – ไม่ลุยน้ำขัง ใส่รองเท้าบูท


•โรคไข้เลือดออก กลุ่มโรคที่มาจากยุง มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งกว่าร้อยละ 80 เป็นยุงลายที่อยู่ในบ้าน ซึ่งจะวางไข่ในน้ำที่ขังอยู่ตามที่ต่างๆ นอกจากนี้ยังมีโรคไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese Encephalitis) และโรคมาลาเรียที่ต้องระวัง

อาการ – ผู้ป่วยระยะแรกจะมีอาการเหมือนการติดเชื้อไวรัสทั่วไป ได้แก่ อาการไข้ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีอาการปวดกระดูกมาก ไข้จะสูงอยู่ประมาณ 2-7 วัน หลังจากนั้นไข้จะลดลง พร้อมกับอาการเลือดออกผิดปกติ มือเท้าเย็นหรือช็อกได้


คำแนะนำ – ทายากันยุง อยู่ห่างจากที่ยุงชุม กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์

นอกจากนี้หากโดนน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา อาจทำให้เป็นโรคตาแดงหรือโรคเยื่อบุตาอักเสบ หรือการแช่น้ำสกปรกนานๆ ก็เป็นที่มาของปัญหาน้ำกัดเท้าที่เกิดจากเชื้อราได้เช่นกัน


พบแพทย์ด่วน เมื่อมีอาการน่าสงสัย


เมื่อฝนเริ่มมาและอาการป่วยไข้เริ่มถามหา หากต้องกินยาลดไข้ควรปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด ห้ามกินยาในกลุ่มแอสไพรินอย่างเด็ดขาด เพราะมีอันตรายกับบางโรค คือโรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคฉี่หนู ซึ่งมีอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

Shares:
QR Code :
QR Code