โรคมือเท้าปากในไทยไม่รุนแรง
จุฬาฯยืนยันโรคมือเท้าปากในไทยสายพันธุ์ไม่รุนแรง-มั่นใจควบคุมได้
วันนี้ (17 ก.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย ศ.ดร.ศิริชัย กาญจนวาสี คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกัน
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.สุปราณี จิราณรงค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม ร่วมกันแถลงข่าวกรณีโรคมือเท้าปากในประเทศไทย
ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าวว่ากรณีที่พบนักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม จำนวน 22 ราย ป่วยเป็นโรคมือเท้าปากจนสั่งปิดโรงเรียนเป็นเวลา 2 วัน คือ วันที่ 17-18 ก.ค. และหยุดต่อเนื่องในวันที่ 19-20 ก.ค.นั้น ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกจนเกินไป แต่ต้องไม่ประมาท เพราะหากดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) อย่างเคร่งครัดแล้ว เชื่อว่าจะสามารถสกัดโรคได้
ขณะที ศ.นพ.ยง กล่าวว่า โรคมือเท้าปากไม่ใช่โรคใหม่ ในไทยมีการพบมานาน 40-50 ปีก่อน มีผู้ป่วยทุกปี อัตราป่วย 10 ต่อแสนประชากร จำนวนผู้ป่วยพบบ่อยในช่วงเปิดเทอมและฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กมาอยู่รวมกันจำนวนมาก ทำให้เชื้อติดต่อกันได้ง่าย โดยในปีนี้พบการแพร่ระบาดสูงสุดในรอบ30ปี แต่สายพันธุ์ที่พบในประเทศไทยนั้น ไม่ใช่สายพันธุ์ที่รุนแรง เช่นเดียวกับประเทศกัมพูชาหรือเวียดนามที่มีการเสียชีวิตจำนวนมาก
ผลจากการแยกเชื้อในห้องปฏิบัติการ จากจำนวน 400 ตัวอย่างในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา พบว่า 80% เป็นเชื้อ CA6 และ 20% เป็นเชื้อ EV71-B5 ซึ่งแสดงว่า ในปีนี้เชื้อที่ทำให้เกิดโรคมือเท้าปากมากในประเทศไทยได้เปลี่ยนสายพันธุ์จาก CA16 เป็น CA6 แม้ว่าอาการของโรคหรือความรุนแรง รวมทั้งแนวทางในการป้องกันโรคจะไม่แตกต่างกัน แต่การรู้ว่าป่วยจากเชื้อสายพันธุ์ไหนจะมีประโยชน์ในทางระบาดวิทยา โดยเชื้อ CA6 ในปี 2554 พบระบาดในประเทศญี่ปุ่น และปี 2555 พบระบาดในสหรัฐอเมริกา ส่วนในประเทศไทยพบผู้ป่วยจากเชื้อ CA6 เมื่อปี 2551 แต่นานๆจะพบผู้ป่วย 1 ราย
ส่วนสาเหตุที่มีการแพร่ระบาดมากในไทย โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของประชากรไทย พบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ส่วนใหญ่ร้อยละ 60 ยังไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อเอนเทอไวรัส71 สายพันธุ์ บี5 และผู้ใหญ่อายุเกิน 12 ปี ร้อยละ 90 มีภูมิต้านทาน ซึ่งการที่เด็กมีภูมิต้านทานเชื้อ EV71-B5 จะสามารถป้องกันเชื้อ EV71-C4 ได้ด้วย เพราะฉะนั้น ไม่ต้องตกใจ แม้เชื้อที่แพร่กระจายจะเป็นคนละสายพันธุ์ ทั้งนี้ การที่เด็กมีภูมิไม่ได้หมายความว่าเคยป่วยโรคนี้มาก่อน อาจติดเชื้อโดยไม่มีอาการและทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันได้
“เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีมีประมาณ 4 ล้านคน ในจำนวนนี้ 2 ล้านคนมีโอกาสที่จะป่วยเป็นโรคนี้ได้ ซึ่งตามหลักวิชาการ ผู้ติดเชื้อ 1 คน จะแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นได้ 3 คน เพราะฉะนั้นหากปล่อยไปตามธรรมชาติของโรค ไม่มีการดำเนินการป้องกันใดๆ โรคนี้จะหยุดการระบาดต่อเมื่อมีคนติดเชื้อแล้ว 2 ใน 3 หรือประมาณ 1.2 ล้านคน แต่จะไม่มีการปล่อยให้มีการแพร่กระจายเชื้อรุนแรงถึงขนาดนี้”ศ.นพ.ยงกล่าว
ศ.นพ.ยงกล่าว ยืนยันว่า การแพร่ระบาดในไทยยังสามารถควบคุมได้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการศึกษาและเฝ้าระวังอยู่แล้ว จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกและป้องกันการติดเชื้อด้วยการระมัดระวัง หมั่นดูแลสุขอนามัย รักษาความสะอาดของสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน รับประทานอาหารที่สุก ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนและยาต้านไวรัสในการรักษา โรคส่วนใหญ่จะหายได้เอง โดยใช้เวลา 3-5 วัน ดังนั้นผู้ป่วยทุกรายไม่ควรไปโรงเรียนและควรหยุดพักอยู่ที่บ้าน รักษาตามอาการไปจนกว่าจะหาย เพื่อเป็นการลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
ด้านรองศาสตราจารย์สุปราณี จิราณรงค์ ผู้อำนวยการฝ่ายประถมศึกษาโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง กรณีพบนักเรียนสาธิตจุฬาฯ ป่วยครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ก.ค. จำนวน 4 ราย จนกระทั่งเมื่อวันจันทร์ที่ 16 ก.ค. พบป่วยเพิ่มอีก 18 ราย จึงได้ดำเนินการปิดโรงเรียน และให้ศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 5 จุฬาลงกรณ์ สังกัดสำนักอนามัยกทม. เข้าดำเนินการพ่นยาฆ่าเชื้อทุกห้องภายในโรงเรียน อย่างไรก็ตาม โดยปกติ โรงเรียนมีมาตรการในการทำความสะอาดโรงเรียนเป็นประจำอยู่แล้ว โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อแบบไม่เข้มข้น และจะเข้มข้นขึ้นในช่วงมีการระบาดของโรค รวมทั้ง มีการกำจัดขยะ ดูแลอนามัยสิ่งแวดล้อมให้มีความสะอาด สำหรับอาการป่วยของนักเรียนทั้ง 22 ราย จากการติดตามของอาจารย์พบว่า ยังไม่มีอาการรุนแรง
ที่มา:หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ