“โรคพิษสุนัขบ้า”…โรคที่ควรระวังอันดับต้น ๆ ของหน้าร้อน

 

คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกๆ เป็นคนรักสัตว์ควรระมัดระวัง “โรคพิษสุนัขบ้า” ที่ระบาดช่วงหน้าร้อน เนื่องจากโรคนี้เป็นแล้วจะเสียชีวิตทุกราย ยังไม่มียารักษา จึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคให้ดี เพื่อการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งคนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าโรคพิษสุนัขบ้า ติดต่อได้เมื่อโดนสุนัขกัดเท่านั้น ทำให้ไม่ระมัดระวังพฤติกรรมอื่นๆ ของสัตว์

พญ.ปราณี เมืองน้อย กุมารแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ กล่าวว่าโรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากเชื้อไวรัสเรบีส์ (rabies) ที่ติดต่อจากสัตว์เลือดอุ่น โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมาสู่คน โดยอาจติดต่อผ่านทางการโดนสัตว์กัด ข่วน โดนสัตว์เลียแผล หรืออาจติดต่อจากที่โดนน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าเข้าตา ปากหรือเข้าจมูก

ถ้าลูกได้รับเชื้อและไม่ได้รับการป้องกันที่ถูกต้อง จะมีอาการปรากฏหลังรับเชื้อ 15-60 วัน บางรายอาจน้อยกว่า 10 วันหรือนานเป็นปี อาการเริ่มด้วยปวดศีรษะ ไข้ต่ำๆ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คันบริเวณแผลที่โดนกัดหรือเลีย อาการสำคัญคือ กลืนลำบาก เพราะกล้ามเนื้อที่ลำคอและกล่องเสียงหดและเกร็งตัว อยากดื่มน้ำแต่กลืนไม่ได้ ทำให้มีอาการกลัวน้ำ น้ำลายฟูมปาก บ้วนน้ำลายบ่อย กระวนกระวาย ตื่นเต้น หงุดหงิด หายใจเร็ว ประสาทสัมผัสไวต่อการกระตุ้น ทำให้ตกใจผวาเมื่อถูกลมหรือได้ยินเสียงดัง กล้ามเนื้อแขนขาเกร็งกระตุก สุดท้ายจะเป็นอัมพาตหมดสติหรือเสียชีวิตภายใน 2-7 วัน นับจากเริ่มแสดงอาการ

สัตว์นำโรคที่พบบ่อยที่สุดคือ สุนัข รองลงมาคือแมว นอกจากนี้ยังอาจพบในสัตว์ที่เด็กๆ ชอบเลี้ยงคือ กระรอก กระแต หรือสัตว์ป่าเช่นลิง ชะนี อีกทั้งสัตว์เลี้ยงประเภท หมู ม้า วัว ควายก็นำเชื้อโรคนี้ได้เช่นกัน หากบ้านใดเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะสุนัขและแมว ควรนำสัตว์ไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าอย่างน้อยปีละครั้ง เจ้าของสุนัขต้องนำสุนัขไปฉีดวัคซีนเข็มแรกเมื่อสุนัขอายุ 2-4 เดือนและฉีดกระตุ้นห่างจากเข็มแรก 1-3 เดือน หลังสัตว์ได้วัคซีนอย่างถูกต้องแล้ว 1 เดือน จึงจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้

พญ.ปราณี เมืองน้อย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปิดเทอมนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกหลานให้ระมัดระวัง ไม่เข้าใกล้สัตว์ที่เป็นตัวนำโรค โดยเฉพาะสัตว์ที่ไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีน ไม่แกล้งยั่วยุให้สัตว์โกรธ ระวังไม่ให้สัตว์ข่วนหรือเลียไปมา หากลูกถูกสุนัข แมวหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง เช็ดให้แห้งแล้วทาด้วยสารละลายไอโอดีน เช่น โพวีโดนไอโอดีน หรือยารักษาแผลสดอื่นๆ ติดตามเจ้าของสัตว์เพื่อถามประวัติการฉีดวัคซีนของสัตว์ แล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

“การรับวัคซีนต้องรับต่อเนื่องหลายเข็ม ที่สำคัญคือใน 7 วันแรก ต้องฉีดให้ได้ครบ 3 เข็ม หลังจากนั้นที่ 2 สัปดาห์และ 1 เดือนอีก 2 เข็ม จะฉีดหรือไม่ขึ้นอยู่กับอาการของสัตว์ที่ต้องกักขังไว้สังเกตอาการอย่างน้อย 10 วัน หากสัตว์มีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ทันที” พญ.ปราณี กล่าวทิ้งท้าย

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์astvผู้จัดการ

 

Shares:
QR Code :
QR Code