โรคพิษสุนัขบ้า ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

ที่มา : สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา


โรคพิษสุนัขบ้า ป้องกันได้ด้วยวัคซีน thaihealth


แฟ้มภาพ


โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ เกิดจากเชื้อไวรัสเรบี่ส์ ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคพิษสุนัขบ้า ดังนั้น ไม่ว่าคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อนี้มักจะเสียชีวิตทุกราย แต่โรคนี้สามารถป้องกันได้ ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเมื่อถูกสุนัขกัด หรือข่วน เมื่อถูกสุนัขไม่ว่าจะเป็นสุนัขของตนเองหรือสุนัขจรจัดกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ใส่ยาโพวิโดนไอโอดีน หรือใช้แอลกอฮอล์ 70% หรือทิงเจอร์ไอโอดีน และรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งวัคซีนจะไปทำลายเชื้อ และสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายหลังจากฉีดวัคซีนแล้ว 14 วัน จนครบตามที่แพทย์แนะนำ


นายแพทย์กิตติ์พงศ์ สัญชาตวิรุฬห์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงโรคพิษสุนัขบ้าว่า วันที่ 28 กันยายน ของทุกปี เป็นวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก (World Rabies Day) ปีนี้ มีประเด็นสารในณรงค์ว่า โรคพิษสุนัขบ้า ติดเชื้อถึงตาย ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ข้อมูลในปี 2562 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าจำนวน 2 ราย ในจังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้เสียชีวิตทั้งหมดเกิดจากถูกสุนัขกัด หรือข่วนแล้วไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามีความสำคัญมาก เพราะการฉีดวัคซีนสามารถไปทำลายเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า และเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายหลังฉีดวัคซีนแล้ว 14 วัน เมื่อถูกกัดแล้วควรไปฉีดวัคซีนป้องกันทันที โดยจะต้องฉีดให้ครบตามที่แพทย์สั่ง วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า มี 2 แบบ คือ


1.การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ต้องฉีดทั้งสิ้น 5 เข็มในวันที่ 0 (วันที่เริ่มฉีด) วันที่ 3, 7, 14 และวันที่ 28


2.การฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ต้องฉีด 4 ครั้ง ในวันที่ 0 (วันที่เริ่มฉีด), 3, 7 และวันที่ 28  ซึ่งวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ต้องฉีดเข็มแรกภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังถูกกัด และต้องได้รับวัคซีนครบ 3 เข็มภายใน 7 วัน


นายแพทย์กิตติ์พงศ์ สัญชาตวิรุฬห์ กล่าวต่อไปว่า คำแนะนำสำหรับประชาชนในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า คือ เจ้าของสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ต้องนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน ครั้งแรกเมื่อสัตว์เลี้ยงมีอายุ 2-4 เดือน แล้วฉีดซ้ำตามกำหนดนัดทุกปี ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านตามลำพัง โดยไม่ใส่สายจูง ช่วยกันลดจำนวนสุนัขที่ไม่มีเจ้าของหรือสุนัขที่ไม่มีผู้รับผิดชอบ โดยการทำหมันถาวร ลดความเสี่ยงถูกสุนัขกัดหรือทำร้ายด้วย คำแนะนำ 5 ย. คือ 1. อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห โกรธ 2. อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือ ทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ 3. อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า 4. อย่าหยิบ ชามข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร และ 5. อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัขหรือสัตว์ต่างๆ นอกบ้านที่ไม่มีเจ้าของ หรือไม่ทราบประวัติ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422


 

Shares:
QR Code :
QR Code