โรคผิวหนังที่มากับฤดูร้อน
เมื่อพูดถึงหน้าร้อนสิ่งแรกที่เรานึกถึงคงเป็นแสงแดดที่แผดจ้าถัดจากนั้นคงเป็น “เหงื่อ” ซึ่งพอนึกแล้วก็รู้สึกถึงความไม่สบายตัวได้ทันที
ที่จริงแล้วเหงื่อนั้นมีประโยชน์เพราะเป็นทางระบายความร้อนที่สำคัญที่สุดของร่างกาย เวลาที่เราเป็นไข้ พอเหงื่อออกอุณหภูมิลดลง ร่างกายก็รู้สึกสบายขึ้นแต่หากเหงื่อเราไม่ออกก็อาจถึงตายได้
ในต่างประเทศที่ผู้คนเคยชินกับสภาพอากาศหนาวมาก ๆ เมื่อเกิดภาวะ “คลื่นความร้อน” มาในแต่ละปี ก็จะมีผู้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ในบางปีและในบางประเทศมีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน ส่วนมากจะเป็นผู้สูงอายุซึ่งอยู่ในที่ๆ ไม่มีเครื่องปรับอากาศ เมื่อพบเจอกับอากาศร้อนมาอย่างกะทันหัน ร่างกายเกิดการปรับตัวไม่ทันกับสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลัน ทำให้เหงื่อออกไม่ทันก็เลยเสียชีวิตเอาได้ง่าย ๆ
ในร่างกายคนเรามีต่อมเหงื่ออยู่ทั่วตัว ประมาณกันว่ามีอยู่ราวๆ 2-4 ล้านต่อม คนที่มีเหงื่อออกเก่งๆ นั้นออกได้หลายลิตรต่อชั่วโมง หรือ 10 กว่าลิตรต่อวันทีเดียว….เวลาร้อนมากๆ หรือออกกำลังกายหนักๆ เราจึงเกิดอาการกระหายน้ำ เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าร่างกายเราเริ่มขาดน้ำแล้ว สิ่งที่สังเกตง่ายๆ คือเมื่อเหงื่อออกมากๆ เราจะรู้สึกเพลีย ซึ่งเกิดจากการสูญเสีย “เกลือแร่” ไปกับเหงื่อมากนั่นเอง ดังนั้นเราทุกคนคงทราบดีว่า เวลาเหงื่อเข้าปากจะรู้สึกเค็มๆ
ทั้งนี้ก็เป็นเพราะในเหงื่อนั้นมีเกลือแร่ปะปนอยู่ เกลือแร่ต่างๆ นั้นเป็นสิ่งจำเป็นกับร่างกาย เราจึงต้องคอย “เก็บ” เกลือแร่ ไม่ให้ขับออกไปทางปัสสาวะและทางเหงื่อมากจนเกินไป ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญของไตและต่อมเหงื่อ พอเหงื่อออกน้อยๆ เราเก็บเกลือแร่กลับได้ทันก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่พอเหงื่อออกมากๆ ออกเร็วๆ ต่อมเหงื่อในร่างกายเรารับมือไม่ไหว ก็เลยสูญเสียเกลือแร่เป็นปริมาณมากๆ ได้ จึงทำให้เกิดอาการเพลีย บางทีเราก็เลยต้องชดเชยด้วยการดื่มน้ำที่มีเกลือแร่เข้าไปเวลาออกกำลังกายหนักๆ ซึ่งก็จะพอช่วยได้
กลิ่นตัว พอได้ยินคำว่าเหงื่อปั๊บ…หลายๆ ท่านก็มีคำว่า “กลิ่นตัว” ลอยมาทันที ทุกท่านคงเคยเดินตามคนที่เหงื่อออกมากๆ หรือขึ้นรถเมล์ที่แน่นๆ หรือเดินในตลาดนัดสวนจตุจักรตอนบ่ายวันอาทิตย์ที่ร้อนจัด คงไม่ต้องบรรยายว่ากลิ่นจากเหงื่อมนุษย์นั้นเป็นอย่างไร ความจริงเหงื่อที่ออกใหม่ๆ นั้นไม่มีกลิ่น
ถ้าลองสังเกตดู พอเราอาบน้ำเสร็จใหม่ๆ บางทีจะมีเหงื่อออก แต่ตัวเราก็ไม่เหม็น หรือเวลาวิ่งรอบสวนลุมพินีสัก 2 รอบ เหงื่อท่วมตัว เราก็ยังไม่เหม็น แต่พอนั่งไปสักพักหนึ่ง ยิ่งถ้าเป็นพักใหญ่ๆ รับประทานอาหารต่อหรือนั่งรถเมล์กลับบ้านด้วย จะสังเกตว่าเริ่มมีกลิ่นไม่ค่อยดี อันนี้ก็เป็นเพราะบนผิวหนังเราจะมีแบคทีเรียอยู่ ซึ่งจะแปลงสารในเหงื่อบางอย่างทำให้มีกลิ่นขึ้นได้ ยิ่งในบางบริเวณเช่น รักแร้และในร่มผ้า ที่มีต่อมเหงื่อชนิดพิเศษนั้น ก็จะยิ่งมีกลิ่นได้มากกว่าบริเวณอื่นๆ
สาเหตุหลักก็มาจากาแบคทีเรียที่ว่านั่นเอง เพราะฉะนั้นถ้าไปพบแพทย์ก็อาจจะได้ยาฆ่าเชื้อมาทาหรือได้รับคำแนะนำให้ใช้สบู่ที่มีสารบางอย่างที่มีตัวยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ กลิ่นตัวก็จะลดลง อีกส่วนที่ทำให้มีกลิ่นได้ คือ อาหาร คนบางชนชาติที่รับประทานประเภท เนื้อแกะ เนื้อแพะ หรือชีสบางประเภทเป็นประจำนั้น พอเข้ามาในห้องที่เราอยู่ยิ่งถ้าเป็นลิฟต์ด้วยแล้วเราแทบจะกระโดดหนี เหตุผลเพราะมีแบคทีเรียหลายชนิดที่ชอบความชื้นมาก เพราะฉะนั้นในที่อับชื้นบนร่างกายเรา เช่น รักแร้ ฝ่าเท้า ซอกนิ้วเท้า จึงอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดได้ ซึ่งบางครั้งทำให้มีอาการแปลกๆ เช่น ที่ฝ่าเท้ามีรูพรุนเล็กๆ (pitted keratolysis) ซึ่งผู้ที่เป็นมักมีกลิ่นเท้ามากกว่าคนทั่วไป หรือคนที่เป็น erythrasma บริเวณรักแร้ ขาหนีบ ซอกนิ้วเท้า ก็จะมีผื่นแดงแห้งๆ ออกน้ำตาล ในบริเวณดังกล่าวได้
กลาก เกลื้อน เป็นอีกโรคที่มากับเหงื่อ คือ กลากและเกลื้อนซึ่งเกิดจากเชื้อราคนละประเภทกัน กลากนั้นชอบความชื้น ความแฉะ ความอับ ที่ไหนก็ตามที่มีความอับชื้นพอเหมาะ ราก็จะเจริญเติบโตทันที เพราะฉะนั้นก็เลยพบบ่อยแถวๆ ขาหนีบและฝ่าเท้ารวมทั้งซอกนิ้วเท้า ที่จริงเป็นได้ทั่วตัวตั้งแต่ศีรษะที่เรียกว่า“ชันนะตุ” ขาหนีบ ที่เรียกว่า “สังคัง” จนถึงเท้าที่บางคน (ยกเว้นคนฮ่องกง) เรียกว่า ฮ่องกงฟุต หรือเท้านักกีฬา (athlete’s foot)… ผื่นกลากส่วนมากจะคัน ทำให้ผู้ที่เป็นรู้ตัวว่ามีผื่นอยู่ ผื่นนี้ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่ามีลักษณะเป็น “วงแหวน” ฝรั่งจึงเรียกว่า “ring worm” ยกเว้นในบางบริเวณ เช่น หนังศีรษะ ฝ่าเท้า ซึ่งอาจไม่มีลักษณะวงแหวนได้
ส่วนเชื้อเกลื้อนนั้น ชอบความมัน เหงื่อ และความร้อนและไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อจากภายนอก แต่เป็นเชื้อที่อยู่บนผิวหนัง คนทุกคนไม่ว่าจะสะอาดแค่ไหนก็มีทั้งนั้น ทีนี้พอเข้าหน้าร้อน เหงื่อออกมากขึ้นผิวมันมากขึ้น เชื้อราก็ได้ใจ เกิดผื่นเป็นดวงๆ ขึ้น ส่วนมากเป็นที่หน้าอกและหลัง เกลื้อนนั้นในแง่อาการจะต่างจากกลาก เพราะมักจะไม่มีอาการ ไม่คัน ไม่แสบ แต่เห็นเป็นดวงๆ จุดๆ มีได้หลายสีตั้งแต่ขาว ชมพู น้ำตาล ม่วง เทา แต่ส่วนมากมักมีสีเดียวในแต่ละคน และในคนไทยจะพบสีขาวบ่อยที่สุดทำให้ได้ชื่อว่า เกลื้อนดอกหมาก
ผิวหนังอักเสบ เด็กที่มีภูมิแพ้-ผิวหนังอักเสบ โดยเฉพาะชนิดที่มีผื่นบริเวณข้อพับศอก ข้อพับเข่า (atopic dermatitis/atopic eczema) เมื่อเล่นกีฬาเหงื่อออกมาก หรือแม้แต่โดนแดดมากก็อาจมีผื่นเห่อขึ้นได้ทำให้บางคนชอบเรียกว่า “แพ้เหงื่อ” ซึ่งที่จริงเราไม่แพ้เหงื่อตัวเอง แต่ผื่นลักษณะที่ว่านี้ ร้อนจัดก็เป็น หนาวจัดก็เห่อ แห้งมากก็คัน ชื้นมากก็ยุบยิบๆ อีก ผื่นผิวหนังอักเสบอีกชนิดหนึ่งซึ่งเห่อได้บ่อย เวลาโดนแดดมาก ๆ คือ seborrheic dermatitis ซึ่งในปัจจุบันคนทั่วไปเรียกย่อๆ ว่า “sebderm” ผื่นชนิดนี้มักอยู่บริเวณร่องข้างจมูก หว่างคิ้ว หน้าหู หลังหู และบางคนเป็นร่วมกับรังแค ผื่นที่หน้านั้นอาจเห่อมากขึ้นเมื่อได้รับแสงแดดจัด ทำให้ผู้ป่วยบางรายได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคลูปัส หรือ “โรคพุ่มพวง” ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับแสงแดดโรคหนึ่ง
สุดท้ายคือ ผื่นชนิดอื่นๆ ในฤดูร้อนเราก็มักจะเดินทางไปต่างจังหวัด ต่างประเทศกันบ่อยๆ เพื่อพักผ่อนท่องเที่ยวตามป่าเขา น้ำตก หรือทะเล เพราะฉะนั้นก็มีโอกาสจะถูกแมลงต่างถิ่น สัตว์มีพิษในทะเล หรือต้นไม้ที่มียางต่างๆ ทำให้เกิดผื่นขึ้นได้ ผื่นต่างๆ ที่มีกับหน้าร้อนรวมทั้งภาวะเหงื่อออกมากนั้นรักษาได้ทั้งสิ้น และการรักษาที่ถูกต้องนั้นควรมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนังเท่านั้น
ที่มา : สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย