โรคซึมเศร้า ความผิดปกติทางอารมณ์ที่รักษาให้หายได้
ที่มา : เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์
แฟ้มภาพ
"โรคซึมเศร้า" ภัยเงียบยุค 4G ที่คร่าชีวิตคนไทยไปไม่น้อย กรมสุขภาพจิต เผยสถิติปี 2561 พบคนไทยป่วยโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน ขณะที่ทั่วโลกมีผู้ป่วยกว่า 300 ล้านคน
เป็นที่รู้กันดีว่าโรคซึมเศร้ามีผู้คนในสังคมที่ป่วย หรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคนี้ โดยจากข้อมูลกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ปี 2561 พบคนไทยป่วยโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน ขณะที่ทั่วโลกพบว่ามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากว่า 300 ล้านคน ตามความเข้าใจในโรคซึมเศร้า บ่อยครั้งที่บุคคลอื่นซึ่งไม่ได้ป่วยเข้าใจว่าโรคดังกล่าวเป็นความอ่อนแอที่เกิดขึ้นกับตัวบุคคล แต่แท้จริงแล้วโรคซึมเศร้ามีปัจจัยหลายอย่างที่ไม่ใช่ความอ่อนแอท้อแท้ในตัวเอง ที่สำคัญคือทุกคนช่วยกันรักษาโรคร้ายนี้ให้หายได้
นายแพทย์ กันตพัฒน์ ราชไชยา แพทย์โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ สำนักการแพทย์ กทม. อธิบายถึงภัยร้ายคร่าชีวิตใกล้ตัวคนเราอย่าง “โรคซึมเศร้า” (Major depressive disorder) ว่า เป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อย โดยผู้ป่วยจะมีความผิดปกติทางอารมณ์ ทำให้มีอารมณ์ซึมเศร้าที่เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง เซโรโทนิน ที่มีบทบาทสำคัญต่อการทำงานในหลายๆ ส่วนของร่างกาย ทั้งด้านการควบคุมอารมณ์ มีปริมาณลดลงส่งผลทำให้มีอาการป่วยทั้งร่างกาย จิตใจ ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดที่มีอันตรายกระทบต่อฟังก์ชันชีวิต กระทั่งนำความคิดสู่การทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตาย
สาเหตุของโรค สามารถปะทุจากสภาวะซึมเศร้าสู่โรคซึมเศร้าได้จาก 1.กรรมพันธุ์ 2.พัฒนาการของจิตใจและสิ่งแวดล้อมมีแต่ความเครียดหนัก เช่น การเรียน การสอบ การพบเจอมรสุมชีวิต 3.เจ็บป่วยเรื้อรังจนหมดกำลังใจหรือพบกับความสูญเสียคนรัก ครอบครัว 4.ปัญหาเรื่องการเงิน ตกงาน 5.ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดไม่ราบรื่น ทั้งหมดทั้งมวลยิ่งบ่อยยิ่งเพิ่มโอกาสที่เป็นปัจจัยทางชีวภาพเกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับสารเคมีในสมองบางตัวส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้า
อาการโรคซึมเศร้าของผู้ป่วย สิ่งแรกคืออาการอารมณ์เศร้าหมอง ท้อแท้ เบื่อหน่าย หดหู่ ขาดความสนใจความสนุกสนาน ผู้ป่วยจะมีอารมณ์หงุดหงิด วิตกกังวล ต่อมาร่างกายจะโต้ตอบช้า เคลื่อนไหวเชื่องช้า ปวดหัว ปวดตามกล้ามเนื้อหรือปวดท้อง สีหน้าเศร้าหมอง สะเทือนใจง่าย นอนได้น้อย ไม่อยากอาหาร ความต้องการทางเพศลดลง ขณะที่การเปลี่ยนแปลงทางด้านความรู้สึกนึกคิดสมาธิและความจำลดลง สูญเสียความมั่นใจตัวเอง คิดวนเวียนแต่เรื่องในแง่ร้าย หมดหวังในอนาคต มีความคิดหรือการกระทำที่จะทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตาย
ทั้งนี้ ความรุนแรงจะยิ่งเพิ่มแนวโน้มของตัวโรคสูงขึ้นในกรณีโรคเกิดขึ้นกับคนอายุน้อย คนที่มีนิสัยชอบแยกตัวอยู่คนเดียว คนที่ขาดคนที่เข้าใจและใส่ใจดูแล มีปัญหาการใช้สารเสพติด มีกรรมพันธุ์ที่เป็นโรคทางจิตเวชร่วมหรือผู้ที่ป่วยด้วยโรคทางจิตเวช โรคทางสมอง และโรคทางกายที่รุนแรงอื่นๆ ร่วมด้วย ผู้ที่เคยมีประวัติซึมเศร้าอยู่เดิมแต่ไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยที่มีอาการ ‘ดิ่ง’ อาการเรียกของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่อยู่ในช่วงควบคุมอารมณ์ได้ลำบากและมีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง อาจทำให้มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายสูงขึ้นอีกด้วย
แนวทางการรักษาโรคซึมเศร้าในปัจจุบันนิยมรักษาโดยการทำจิตบำบัดรายบุคคล และการทำจิตบำบัดร่วมกับรับประทานยาแก้โรคซึมเศร้า (Antidepressant drugs) เพื่อลดความกังวลและทำให้อารมณ์หายซึมเศร้า โดยตัวยาจะช่วยไปปรับสมดุลของเซโรโทนิน ทำให้อารมณ์ค่อยๆ แจ่มใสขึ้นใน 2-3 สัปดาห์แรก และต้องใช้เวลา 30-90 วัน เพื่อให้ยาออกฤทธิ์เต็มที่
ผลข้างเคียงจากยา ที่พบบ่อยคือความว่องไวจะลดลงและมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ง่วงซึม มึนงง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยาแก้โรคซึมเศร้าในปัจจุบันเพื่อให้เหมาะสมกับแนวทางการรักษา จึงมีรูปแบบที่แก้อาการง่วงซึมดังกล่าวให้ผู้ป่วยเลือกใช้และหายจากอาการซึมเศร้าที่ไม่ก่อให้เกิดการเสพติดยาของผู้ป่วย เมื่อหยุดยาหลังการรักษาต่อเนื่องประมาณ 2 ปี ผู้ป่วยที่ปฏิบัติรักษาก็จะหายขาดและกลับมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุข
ดังนั้น หากทุกคนเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ก่อให้เกิดอาการป่วย ไม่ใช่ความอ่อนแอของตัวบุคคล ก็จะช่วยกันรักษาโรคร้ายนี้ให้หายไปจากประเทศไทยได้