โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ความเจ็บป่วยทางจิตใจที่ไม่ควรมองข้าม
ที่มา : เว็บไซต์ Younghappy
แฟ้มภาพ
โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวชที่มีมานานแล้ว และเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเกิดโรคซึมเศร้าได้มากกว่าวัยอื่น แต่สังคมไทยเพิ่งจะมาให้ความสำคัญกับโรคนี้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่า โรคซึมเศร้าเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดจากการความผิดหวังหรือสูญเสียเท่านั้น ไม่ได้มองว่าเป็นโรคร้ายแรง โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่เกิดมาในยุคที่ยังไม่มีการพูดถึงโรคซึมเศร้ามากเท่าในปัจจุบัน
แต่การไม่รู้หรือไม่ตะหนักถึงการมีอยู่ของโรคซึมเศร้า ก็ไม่ได้ทำให้ผู้สูงอายุหลุดพ้นจากการเป็นโรคซึมเศร้าได้ โดย รศ.ดร.อรัญญา ตุ้ยคัมภีร์ รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์ ได้กล่าวถึงโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุว่า มีความเหมือนและต่างกับโรคซึมเศร้าในวัยหนุ่มสาว สิ่งที่เหมือนคือพฤติกรรม ความคิด และอารมณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง สะเทือนใจง่าย มีความรู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่ ซึ่งอาจนำพาไปสู่การทำร้ายตัวเองได้
ส่วนสิ่งที่ต่างคือ การแสดงออก ด้วยความที่คนหนุ่มสาวยุคนี้มีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าอยู่บ้าง ทำให้พอจะยอมรับโรคนี้ได้และพาตัวเองไปรับการรักษาที่ถูกต้อง ในทางกลับกัน อาการช่วงแรกๆ ของผู้สูงอายุจะสังเกตได้ยาก คนใกล้ชิดอาจเข้าใจว่าเป็นอาการหงุดหงิดจู้จี้ของคนอายุมาก ด้านผู้สูงอายุเอง เมื่อไม่รู้จักโรคนี้มาก่อน ไม่เข้าใจภาวะที่เกิดขึ้น จึงไม่รู้ว่าต้องเข้ารับการรักษาอย่างไร สุดท้ายอาการก็จะแย่ลงไปเรื่อยๆ และมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต
ปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุมีภาวะซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าอาจเกิดจากพันธุกรรม ลักษณะนิสัย สภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิต หรือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแต่ละช่วงวัย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อก้าวเข้าสู่วัยเกษียณ ซึ่งเป็นวัยที่เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย จิตใจ หรือแม้แต่บทบาทในสังคม โดยทั้ง 3 ปัจจัยที่กล่าวมานี้ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะซึมเศร้าได้ง่ายกว่าคนในวัยอื่น
1.การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย
เหตุที่ผู้สูงอายุบางคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เนื่องจากสารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ ทำให้เสียสมดุลทางอารมณ์ หรือมีโรคทางกายบางอย่างที่ส่งผลกระทบถึงสมอง เช่น โรคสมองเสื่อม โรคหลอดเลือดสมอง หรือแม้แต่การเจ็บป่วยที่ไม่ได้ส่งผลกระทบถึงสมองโดยตรง แต่ทำให้รู้สึกเครียดและกังวล เช่น เบาหวาน มะเร็ง โรคหัวใจ โรคไต หรืออาการปวดข้อ เป็นต้น
2.การเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจ
หากผู้สูงอายุไม่มีสังคม ไม่มีเพื่อนคุย ต้องอยู่บ้านคนเดียว อาจทำให้เกิดความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว ยิ่งถ้าคนในครอบครัวไม่มีเวลาให้ นานวันเข้า จากความเศร้าธรรมดาๆ ก็อาจพัฒนาเป็นภาวะซึมเศร้าได้ หรือการที่ผู้สูงอายุเพิ่งสูญเสียคนใกล้ชิดหรือบุคคลอันเป็นที่รักไป ผู้สูงอายุมักจะทำใจไม่ได้ และเกิดความรู้สึกไม่อยากทำอะไรหรือพบเจอใคร สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณอันตรายของการเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า
3.การเปลี่ยนแปลงด้านสังคม
เมื่อเกษียณแล้ว บทบาทหรือหน้าที่ที่มีต่อคนรอบข้างอาจเปลี่ยนไป ทำให้ต้องปรับตัวกับการดำเนินชีวิตแบบใหม่ ยกตัวอย่างเช่น การต้องเปลี่ยนบทบาทจากหัวหน้าครอบครัวเป็นผู้ตาม ทำให้ไม่ได้รับการยอมรับนับถือจากคนอื่นหรือคนในครอบครัวมากเท่าเมื่อก่อน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว อาจทำให้ผู้สูงอายุบางคนรู้สึกว่าตัวเองไร้ประโยชน์ ไม่มีคุณค่า และไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป
อาการของผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้า
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเข้าข่ายมีภาวะซึมเศร้าแล้วหรือไม่ หากพี่ๆ หรือลูกหลานสังเกตว่า ตัวเอง คนใกล้ชิด หรือพ่อแม่ มีอาการดังต่อไปนี้นานเกิน 2 สัปดาห์ ก็มีโอกาสว่าอาจจะกำลังป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ สิ่งที่ควรทำคือรีบไปพบแพทย์หรือจิตแพทย์ โดยอาการที่เข้าข่ายซึมเศร้ามีด้วยกันทั้งหมด 7 อาการ
1.นิ่ง พูดคุยน้อย ไม่อยากพูดคุยกับใคร
2.รับประทานอาหารน้อยลง หรือไม่รับประทานอะไรเลย
3.ไม่อยากทำอะไร เฉื่อยชา ความสนใจต่อสิ่งต่างๆ ลดลง
4.ชอบนอนเฉยๆ ชวนไปไหนก็ไม่อยากไป
5.นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินไปเกือบทุกวัน
6.อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด ฉุนเฉียว
7.บ่นว่าตัวเองเป็นภาระ รู้สึกไร้ค่า ไม่อยากมีชีวิตอยู่
การดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุที่เป็นโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าสามารถสร้างความเจ็บป่วยทั้งทางกายและใจให้กับผู้สูงอายุได้เป็นอย่างมาก แต่ปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้อาการของโรคนี้ทุเลาลง คือการดูแลเอาใจใส่จากคนในครอบครัวและคนใกล้ชิด ซึ่งการดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุที่เป็นโรคซึมเศร้าสามารถทำได้ ดังนี้
1.อาการเบื่ออาหาร
หากผู้สูงอายุรับประทานอาหารได้น้อยก็จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคขาดสารอาหารเพิ่มด้วย ดังนั้น คนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดจึงต้องคอยดูแลเรื่องอาหารอยู่เสมอ ทางที่ดีควรให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารอ่อนๆ ที่ย่อยง่าย
2.อาการเบื่อหน่าย
ผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะรู้สึกเบื่อง่าย ทำให้ไม่รู้สึกอยากทำอะไรเป็นพิเศษ คนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดจึงควรหากิจกรรมทำร่วมกับผู้สูงอายุ กระตุ้นให้มีการตอบสนอง เพื่อลดความเบื่อหน่ายลง
3.อาการนอนไม่หลับ
หากผู้สูงอายุมีอาการนอนไม่หลับในตอนกลางคืน คนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดอาจแนะนำให้ผู้สูงอายุเปิดเพลงที่เขาชอบ โดยเพลงดังกล่าว ควรมีจังหวะช้าๆ นุ่มนวล เพื่อสร้างความผ่อนคลาย
4.อาการหงุดหงิดฉุนเฉียว
การที่ผู้สูงอายุมักจะหงุดหงิดง่าย เพราะไม่สามารถทำอะไรได้เองเหมือนแต่ก่อน คนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดอาจชวนพูดคุยถึงปัญหาที่เผชิญหน้าอยู่ คอยรับฟัง และให้กำลังใจเสมอๆ
5.อาการไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อ
ผู้สูงอายุที่มีอาการแบบนี้ จะมองว่าตัวเองไร้ค่า เป็นภาระของคนอื่น และอาจถึงขั้นทำร้ายร่างกายตัวเอง คนในครอบครัวและคนใกล้ชิดควรปรึกษากับจิตแพทย์ คอยอยู่ข้างๆ และดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ควรปล่อยให้อยู่คนเดียว
ดังที่กล่าวแล้วว่าโรคซึมเศร้ามีโอกาสเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่ากลุ่มคนวัยอื่น ดังนั้น จึงควรหมั่นสังเกตอยู่เสมอ ว่าตัวผู้สูงอายุเองและคนใกล้ชิดมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายภาวะซึมเศร้าหรือไม่ จะได้ป้องกันหรือรักษาได้ทันท่วงที