โรคขาดวิตามินเอ
ที่มา: มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย
แฟ้มภาพ
วิตามินเป็นสารประกอบอินทรีย์ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่สิ่งมีชีวิตต้องการในปริมาณเล็กน้อย มีหน้าที่ช่วยการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย การขาดวิตามินอาจเป็นสาเหตุของโรคต่างๆได้มากมาย
ในสมัยโบราณมนุษย์รู้จักวิตามินในแง่ของอาหารที่ใช้รับประทาน ชาวอียิปต์พบว่าการกินน้ำมันตับปลาจะช่วยให้หายจากอาการตาบอดกลางคืน ศัลยแพทย์ชาวสก๊อตพบว่าผลไม้พวกส้ม สามารถรักษาอาการลักปิดลักเปิดหรือโรคเลือดออกตามไรฟันได้ แพทย์ชาวดัตช์สังเกตพบว่าไก่ที่กินข้าวที่ไม่ขัดขาวจะไม่มีอาการเหน็บชา
วิตามินช่วยขับเคลื่อนให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติ เมื่อเราบริโภคอาหารซึ่งมีวิตามินเป็นส่วนประกอบ อาหารจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและถูกนำไปใช้เสริมสร้างและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ วิตามินซึ่งได้จากอาหาร และดูดซึมเข้าไปอยู่ในเลือด จะถูกส่งไปตามอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกายเพื่อให้อวัยวะต่างๆทำงานได้ตามปกติ นอกจากนี้วิตามินยังช่วยให้ระบบประสาทสั่งงานไปยังอวัยวะต่างๆได้เป็นอย่างดี หากการสั่งงานจากระบบประสาทใช้งานไม่ได้ การทำงานของอวัยวะต่างๆจะสูญเสียไป
วิตามินเอ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพ โดยมีบทบาทสำคัญต่อระบบการมองเห็น การเจริญเติบโต การสร้างภูมิคุ้มกันโรค รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุผิวต่างๆแหล่งอาหารที่มีวิตามินเอสูงได้แก่ ตับ ไข่แดง นม เนื้อสัตว์ ผักใบเขียวเข้ม ผักและผลไม้สีเหลือง
วิตามินเอ ถือได้ว่าเป็นวิตามินชนิดหนึ่ง ที่สามารถละลายในไขมันได้ อีกทั้งยังคงพบได้มากในน้ำมันตับปลา ตับ ไข่แดง พืชใบเขียวทุกชนิด และผลไม้สีส้ม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอโดยตรง โดยเฉพาะ ตับ ถือได้ว่าเป็นแหล่งสะสมของวิตามินเออย่างมากที่สุดเลยทีเดียว
โรคขาดวิตามินเอ มักพบบ่อยในเด็ก สาเหตุของการขาดวิตามินเอส่วนใหญ่มาจากการขาดอาหาร โดยเฉพาะผู้ที่ไม่นิยมทานผักผลไม้ รวมถึงผู้ที่ขาดวิตามินเอโดยไม่ตั้งใจจากโรคท้องร่วงเรื้อรัง โรคตับอ่อนอักเสบ และท่อน้ำดีอุดตันร่วมด้วย และเมื่อร่างกายไม่ได้รับการเติมวิตามินเอตามที่ควรจะเป็น จึงส่งผลให้เกิดอาการ ดังนี้
1. มองไม่เห็นในที่แสงน้อย หรือที่เรียกว่า อาการตาบอดสีในเวลากลางคืน แม้ว่าโดยธรรมชาติของคนเราจะสามารถปรับสายตาให้เข้ากับความมืดได้ แต่ในกรณีนี้จะทำให้สายตาไม่คมชัดเท่าเดิม เรียกว่า ตาฟางก็ไม่ผิด
2. เยื่อบุตาแห้ง หรืออาการตาแห้ง อาจมีเมือกเหนียวในตาหรือรอบดวงตา มีอาการระคายเคือง กรณีที่เยื่อบุตาแห้งอย่างรุนแรง จะส่งผลให้ตาขาวแห้งและมีรอยย่น ซึ่งแม้ว่าจะสามารถมองเห็นได้ตามปกติ แต่จะสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติเช่นกัน
3. อาการตาวุ้น พบได้หลังระยะตาแห้งไปแล้ว โดยจะมีอาการลักษณะตาขุ่น เหลว เนื่องจากดวงตาได้รับการติดเชื้อหรือติดเชื้อได้ง่ายและไวกว่าอาการตาแห้ง ควรเข้ารับการรักษาในทันที
4. โรคผิวหนัง เนื่องจากวิตามินเอมีส่วนสำคัญในการรักษาสภาพเยื่อบุผิวหนัง การขาดวิตามินเอจึงทำให้ผิวพรรณขาดความชุ่มชื้น และหยาบกร้านได้ โดยเฉพาะผิวหนังบริเวณข้อศอก ตาตุ่มและข้อต่อต่างๆ อาจนำไปสู่โรคทางผิวหนัง เช่น สิวและการติดเชื้อทางผิวหนังได้
5. ภูมิต้านทานต่ำ การขาดวิตามินเอ ทำให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้ง่าย และทำให้เกิดการอักเสบในโพรงจมูก ช่องปาก คอ และที่ต่อมน้ำลายได้ ทั้งยังส่งผลให้ติดเชื้อไวรัส ทำให้เป็นหวัดง่าย
ความรุนแรงของภาวะขาดวิตามินเออาจส่งผลให้ตาบอดได้ แต่หากทราบวิธีดูแลรักษาแล้ว ควรพยายามถนอมและหมั่นบำรุงสายตาด้วยวิตามินชนิดต่างๆ โดยเฉพาะวิตามินเอ เพื่อลดความเสื่อมของสายตาที่มาก่อนอายุขัยอันควร อีกทั้งการลดพฤติกรรมติดหน้าจอ เช่น งดมองหน้าจอในที่มืด ลดความสว่างหน้าจอ ไม่จดจ่อกับหน้าจอนานเกิน 8 ชั่วโมง
โรคนี้เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการกินอาหารที่มีวิตามินเอสูง เช่น เนื้อ ตับ ไข่ นม ฟักทอง มะเขือเทศ มะละกอสุก ผักใบเขียว พริก เป็นประจำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ซึ่งอาจทำให้ตาบอดได้