“โรคกลัวโรงเรียน” ใส่ใจเท่าทันเพื่อลูก
ชวนทำความรู้จัก “โรคกลัวโรงเรียน” ที่ผู้ปกครองควรใส่ใจและเข้าใจพฤติกรรมของลูกน้อยว่าเกิดขึ้นเพราะสาเหตุใด ทำไมลูกรักถึงไม่อยากไปโรงเรียน เอาแต่ใจ หรือใครรังแก…
ทั้งนี้ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ให้ข้อมูลว่า ภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน (School Phobia) เกิดจากความวิตกกังวลภายใน จิตใจ แสดงออกเป็นพฤติกรรมได้หลายรูปแบบ เช่น ร้องโวยวายไม่อยากไปโรงเรียน พยายามแกล้งว่าไม่สบาย หรือบางคนจากที่เป็นเด็กร่าเริง แต่กลับเปลี่ยนเป็นเด็กที่เก็บตัวไม่อยากพูดจากับใคร ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่แสดงถึงปัญหาด้านสภาพจิตใจของเด็กที่ผู้ปกครองต้องให้ความใส่ใจ และหากไม่มีความแน่ใจควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อวิเคราะห์ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ได้อย่างตรงจุด
“เด็กที่เป็นโรคกลัวโรงเรียนเกิดได้ทั้งจากสภาพแวดล้อมในครอบครัว และสภาพแวดล้อมในโรงเรียน นอกจากความวิตกกังวลที่เกิดจากตัวเด็กเองนั้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เรื่องของความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กในโรงเรียน ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในสังคม”
รศ.นพ.อดิศักดิ์ อธิบายว่า ความรุนแรงภายในโรงเรียนเป็นปัจจัยที่มีควรละเลย สาเหตุที่พบได้ทั่วไปคือ การที่เด็กถูกใช้ความรุนแรงจากเพื่อนหรือรุ่นพี่ที่อาจมีการขู่เข็ญ เรียกไถ และบังคับให้เด็กทำในสิ่งที่ต้องการ หรือกลั่นแกล้งสร้างความอับอายต่อเด็ก ซึ่งเมื่อเด็กพบเจอเหตุการณ์เหล่านี้มักจะไม่กล้าบอกกล่าวกับผู้ปกครองเพราะหวาดกลัว ทำให้เกิดเป็นอาการวิตกเด็กไม่อยากไปโรงเรียนในที่สุด
นอกจากนี้ ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กที่เกิดจากผู้ใหญ่ในครอบครัวและโรงเรียนที่มีการทำร้ายร่างกายหรือทำร้ายทางเพศ โดยเหตุการณ์ลักษณะนี้เด็กมักจะถูกกระซ้ำหลายครั้ง จนกว่าเด็กจะกล้าบอกผู้ปกครองก็ส่งผลกระทบทางร่างกายและจิตใจ เกิดปัญหาซ้ำซ้อนตามมาอีกมายมายเช่น ปัญหาคิดสั้นฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหาของเด็ก
ในเรื่องการช่วยเหลือเด็กคุณหมอแนะนำว่า ควรกระทำตั้งแต่แรกพบอาการ ต้องแก้ไขปลูกฝังบุตรหลานตั้งแต่ยังเล็กอย่างจริงจัง ช่วยให้เด็กสามารถปรับตัวได้ดี ผุ้ปกครองจะต้องเข้าใจให้ความสำคัญในเรื่องสภาพจิตใจ รวมถึงไม่ควรตำหนิลงโทษรุนแรง ขณะเดียวกันก็ไม่ตามใจ และส่งเสริมให้เด็กได้มีพัฒนาการทางอารมณ์มั่นคงเผชิญปัญหาได้อย่างเหมาะสม สร้างความเชื่อมั่นระหว่างคนในครอบครัวแก่เด็ก สิ่งสำคัญคือการให้ความรู้ต่อเด็กในเรื่องของการป้องกันตนเองจากความรุนแรงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ในส่วนของสถานศึกษาจะต้องมีระบบการป้องกัน และดูแลอย่างเข้มงวดในเรื่องของการคัดเลือกบุคลากรที่จะมาเป็นครูอาจารย์ในโรงเรียน ถือเป็นการป้องกันตั้งแต่ต้นเหตุเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงกับเด็ก
“การเป็นแบบอย่างที่ดี สื่อสารด้วยความรัก และคอยให้คำแนะนำ ไม่เพียงแต่ครอบครัวเท่านั้น ครูอาจารย์ยังต้องเป็นผู้มีเหตุผล เข้าใจในตัวเด็ก รักเด็กให้มากกว่าเดิม และพยายามเอาใจใส่เด็กในทั่วถึง โดยไม่มีอคติต่อเด็กที่มีปัญหา และให้ความสำคัญแก่เด็ก เพราะนอกจากพ่อแม่แล้ว ครูและสถานศึกษาเองก็เปรียบเสมือนต้นแบบทางจิตวิทยาของเด็กเช่นกัน” รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต