โรคกระดูกพรุน
ที่มา: มติชน
แฟ้มภาพ
โรคกระดูกพรุน คือโรคที่ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดน้อยลงเรื่อยๆ หรือประมาณร้อยละ 30 รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะโครงสร้างของกระดูกซึ่งมีผลให้กระดูกบางและเปราะ ไม่สามารถรับน้ำหนักหรือแรงกดดันได้ตามปกติ ทำให้เกิดความเสี่ยงกระดูกหักได้ง่าย มักพบในวัยผู้สูงอายุ จากสถิติพบว่าผู้หญิงเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนร้อยละ 30 มีภาวะนี้ พบร้อยละ 45 ในผู้หญิงอายุมากกว่า 60 ปี และร้อยละ 35 ของผู้ชายจะเป็นโรคนี้เมื่ออายุ 75 ปี
รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ ยุกตะนันทน์ ฝ่ายออร์โธปิดิกส์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลว่า กระดูกประกอบด้วยโปรตีนที่เป็นเส้นใยคอลลาเจนและมีแคลเซียมมาตกผลึก จับตัวกับคอลลาเจนกลายเป็นของแข็งที่สามารถรับน้ำหนัก รับแรงกดกระแทก และมีความยืดหยุ่นในตัวเอง การสร้างกระดูกที่ดีจำเป็นต้องได้รับแคลเซียมและสารอาหารที่ เหมาะสม โดยแคลเซียมทำให้กระดูกแข็ง ส่วนโปรตีนในกระดูกโดยเฉพาะคอลลาเจนและโปรตีนอื่นๆ จะทำให้กระดูกมีความเหนียวและยืดหยุ่น แต่ละวัย ร่างกายสามารถสะสมปริมาณแคลเซียมในมวลกระดูกในระดับที่แตกต่างกัน และมวลกระดูกจะถึงจุดสูงสุดในช่วงอายุ 25-30 ปี หลังจากนั้นมวลกระดูกจะค่อยๆ ลด ลงประมาณร้อยละ 0.5-1 ต่อปี ในช่วงหมดประจำเดือนมวลกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็ว อาจลดลงเร็วถึงร้อยละ 3-5 ต่อปี
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็ว ได้แก่ การได้รับสารอาหารโดยเฉพาะแคลเซียมไม่เพียงพอ กรรมพันธุ์ หมดประจำเดือน สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย และเป็นโรคเรื้อรัง ผู้ที่เป็นมักมีอาการปวดหลัง หลังค่อม ตัวเตี้ยลง อาจมีอาการปวดบริเวณที่กระดูกยุบตัวลง กระดูกเปราะและหักง่าย จึงต้องระวังการหกล้มในผู้สูงอายุ ตำแหน่งที่มักจะเกิดภาวะกระดูกพรุนและหักง่ายคือกระดูกสันหลัง กระดูกข้อมือ กระดูกสะโพก นอกจากนี้ยังพบว่ากระดูกสันหลังของผู้หญิงอายุ 55-75 ปี จะเกิดการหักยุบมากกว่าในผู้ชาย ทำให้ผู้สูงอายุเตี้ยลงกว่าช่วงหนุ่มสาว
แคลเซียมมีหน้าที่สร้างกระดูก เป็นธาตุที่พบมากที่สุดในร่างกาย ซึ่งเกือบทั้งหมดจะอยู่ในกระดูกและฟัน ในร่างกายคนหนัก 50 กิโลกรัม จะมีแคลเซียมประมาณ 1 กิโลกรัม ดังนั้นต้องเลือกกินแคลเซียมให้ได้ผล โดย 1.เลือกสูตรที่มีส่วนผสมของแคลเซียมแลตเตทและกลูโคเนต เพื่อให้ละลายน้ำได้ดี 2.เลือกสูตรที่มีส่วนผสมของคอลลาเจน กรณีที่มีส่วนผสมของแคลเซียมคาร์บอเนต ควรกินแคลเซียมหลังกินอาหาร เนื่องจากกระเพาะอาหารจะมีสภาพเป็น กรด ช่วยทำให้แคลเซียมคาร์บอเนตแตกตัวและละลายน้ำได้ดียิ่งขึ้น