โรคกระดูกพรุน ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม
ที่มา : มติชน
แฟ้มภาพ
ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2574 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคกระดูกพรุน คือ อายุมากขึ้น และมีประวัติกระดูกหักมาก่อน แนะ หลักเลี่ยง กาแฟ น้ำอัดลม และอาหารรสเค็มจัด
ศ.พ.อ.(พิเศษ) นพ.ทวี ทรงพัฒนาศิลป์ ประธานมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า โรคกระดูกพรุนในผู้สูงวัย จึงเป็นภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งในยุโรป และอเมริกา มีผู้หญิงสูงวัยมากกว่า 7 แสนราย ประสบปัญหากระดูกสะโพกหัก มีอัตราตายร้อยละ 20-25 ในปีแรก ขณะที่คนไข้มากกว่า 1 ใน 3 ไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ และประมาณ 1 ใน 5 ต้องนอนบนเตียงตลอดไป ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า ปี 2593 จำนวนผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักทั่วโลก จะมี 6.25 ล้านราย เฉพาะในเอเชียประมาณ 3.25 ล้านราย
กระดูกในร่างกายมีทั้งหมด 206 ชิ้น สามารถปรับตัว เปลี่ยนแปลง และเติบโตได้ตามอายุ มีหน้าที่เป็นแกนหลักในการยึดเกาะของเอ็นกล้ามเนื้อต่างๆ ทำให้ร่างกายเคลื่อนที่เคลื่อนไหวได้ และทำหน้าที่เป็นส่วนแข็งปกป้องอวัยวะภายใน รวมทั้งเป็นแหล่งสะสมของแคลเซียมและฟอสฟอรัส อย่างไรก็ตาม กระดูกพรุนเป็นเรื่องของโรคคนชรา ไม่มีทางรักษาได้ ปัจจุบันทางการแพทย์ถือว่าโรคกระดูกพรุนสามารถรักษาได้ ถึงแม้จะทำให้หายขาดไม่ได้ แต่สามารถลดความเสี่ยงหรือโอกาสที่จะเกิดกระดูกหักได้ โดยการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและการป้องกัน การให้กินอาหารที่มีแคลเซียมสูงและให้ได้รับวิตามิน D ที่เพียงพอ รวมทั้งการออกกำลังกายที่เหมาะสม และถ้าจำเป็นสามารถใช้ยาบางอย่างในการช่วยเพิ่มมวลกระดูกได้
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคกระดูกพรุน คือ อายุมากขึ้น และผู้หญิงเป็นได้ง่ายกว่าผู้ชาย บางคนมีประวัติกระดูกหักมาก่อน มีประวัติการผ่าตัดที่รังไข่ การขาดประจำเดือนเป็นเวลานาน มีการใช้ยาสเตียรอยด์ บริโภคแคลเซียมน้อยกว่า 400 มิลลิกรัม และขาดการออกกำลังกาย
สำหรับแนวทางการรักษาโรคกระดูกพรุน ปัจจุบันมียา กระตุ้นการสร้างกระดูกใหม่ และยายับยั้งการสลายกระดูก ทำให้ผู้ป่วยมีมวลกระดูกเพิ่มขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม แพทย์จะมุ่งเน้นป้องกันการเกิดโรคคือ ให้ผู้สูงวัยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หมั่นออกกำลังกายตามความเหมาะสม รับแสงแดดอ่อนๆ เป็นประจำ กินอาหารที่มีแคลเซียม และวิตามิน D ที่เพียงพอ แต่ไม่ใช่ไปหาซื้อยากินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
นอกจากนี้ อาหารที่ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ กาแฟ น้ำอัดลม และอาหารรสเค็มจัด อีกเรื่องที่ควรตระหนักคือ การกินโปรตีนมากเกินพอดี จะไปทำให้เกิดการขับแคลเซียมออกจากร่างกายมากเกินไป ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อร่างกายเช่นกัน