‘โยคะ’ สร้างสุขเพื่อผู้สูงอายุ

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


ภาพประกอบจากเว็บไซต์สื่อสารสาธารณะเพื่อพัฒนาสังคมชาวเหนือ


'โยคะ' สร้างสุขเพื่อผู้สูงอายุ thaihealth


นับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงอายุ โดย 1 ใน 10 ของประชากรเป็นผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และคาดว่าไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือปี 2564 คือมีประชากรสูงอายุ 1 ใน 5 และเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดในปี 2578 ซึ่งประมาณการกันว่าจะมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรทั้งหมด


หากแม้ว่าประชากรไทยจะมีอายุยืนยาวขึ้นแต่ผู้สูงอายุกลับต้องเผชิญความเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง และตกอยู่ในภาวะทุพพลภาพเพิ่มขึ้น ร้อยละ 95 ของผู้สูงอายุจะมีปัญหาสุขภาพ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน สมองเสื่อม ข้อเสื่อม และซึมเศร้า


ที่บ้านหัวดาน หมู่ 8 ต.วังแดง อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ จึงได้ตั้งชมรมผู้สูงอายุขึ้นเพื่อจัดกิจกรรมให้ผู้สูงอายุทำร่วมกัน โดยมีสมาชิกผู้สูงอายุ 34 คน จากประชากรทั้งหมดของชุมชน 302 คน และแบ่งเป็นผู้สูงอายุที่ดูแลตัวเองได้ ร่วมกิจกรรมชุมชนได้ 25 คน ต้องพึ่งพาผู้อื่นบ้านในการประกอบกิจวัตรประจำวัน หรือกลุ่มติดบ้านอีก 9 คน


'โยคะ' สร้างสุขเพื่อผู้สูงอายุ thaihealth


ไพทูล ศรีสุข ผู้ใหญ่บ้านหัวดาน เล่าว่า สถานการณ์ด้านสุขภาพ และจิตใจของผู้สูงอายุ ทำให้ทางกลุ่มเห็นถึงความสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม จึงสมัครเข้าร่วมโครงการ "สร้างเสริมสุขภาพ ผู้สูงอายุในชุมชน" ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. และเลือกการออกกำลังกายหลักด้วยวิธี "โยคะ" ที่เป็นท่าของผู้สูงอายุ โดยตรง เนื่องจากข้อจำกัดของผู้สูงอายุโดยทั่วไปคือไม่สามารถยืนได้นานๆ บางคนหัวเข่าไม่ดี


"อาชีพหลักของชาวบ้านคือทำนา ทำสวน ในสมัยก่อนยังใช้แรงงานคนเป็นหลัก ผู้เฒ่าผู้แก่ในวันนี้ก็คือแรงงานในอดีต ออกไปทำไร่ไถนา ได้ยืดเส้นยืดสายตลอด แต่พออายุมากขึ้นออกไปทำนาไม่ได้ ประกอบกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น ทำให้การทำนาในยุคปัจจุบัน คือการเป็นผู้จัดการนา ไม่ได้ลงมือลงแรงเหมือนเดิม ส่งผลให้ผู้สูงอายุที่อยู่บ้านเฉยๆ มีอาการเส้นยึด ปวดตึงตั้งแต่หัวจรดเท้า ไม่ว่าจะเป็นหลัง ไหล่ แข้ง ขา กิจกรรมโยคะจึงเน้นท่านั่งเป็นสำคัญ" ไพทูล อธิบาย


สิ่งที่เห็นชัดเจน คือช่วงเริ่มต้นบางคนเดินมาไม่ไหว ลูกหลานต้องพาซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์มาส่ง แต่พอเริ่มเล่นโยคะไปได้ระยะหนึ่ง หลายคนสามารถเดินมาและกลับเองได้ และคนที่ติดบ้านส่วนหนึ่งก็ออกมาทำกิจกรรมด้วยความสนุกสนาน จากที่เคยอยู่บ้านคนเดียว พอมาออกกำลังกายได้คุยกับเพื่อนฝูง มีเรื่องสนุกสนานมาเล่าสู่กันฟัง หรือแลกเปลี่ยนปัญหาสุขภาพ ก็ช่วยลดความเครียดได้เป็นอย่างดี สังเกตว่าโยคะเริ่ม 6 โมงเย็น-1 ทุ่ม แต่ระยะหลังผู้สูงอายุมาพบปะกันตั้งแต่ 4 โมงเย็น


อาทิตยา ณีพันดุง ผู้นำการออกกำลังกายโยคะ เล่าว่า เมื่อชมรมผู้สูงอายุตกลงร่วมกันในการจัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ในฐานะอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งต้องคอยดูแลและส่งเสริมด้านสุขภาพของชาวบ้านอยู่แล้ว จึงอาสาไปฝึกอบรมโยคะ โดยเฉพาะท่าฤาษีดัดตนกับ ดร.ปภาดา ชมภูนิตย์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลตรอน จ.อุตรดิตถ์ เพราะพิจารณาแล้วกิจกรรมอื่น อาทิ การรำไม้พลอง ฮูลาฮูป เต้นแอโรบิก ไม่เหมาะสมแก่ผู้สูงอายุที่มีปัญหาปวดข้อเข่า หลัง หรือเอว


'โยคะ' สร้างสุขเพื่อผู้สูงอายุ thaihealth


"แต่ละท่าจะช่วยบรรเทาอาการปวดตึงในแต่ละจุด หรือคลายเส้นได้ ถ้านำไปทำอย่างสม่ำเสมอ เช่น ตื่นนอนในตอนเช้า หรือก่อนนอน โดยเลือกท่าที่เหมาะสมและตรงกับปัญหาของแต่ละคน เช่น การนั่งเหยียดขาแล้วยืดเหยียดปลายเท้า แก้อาการตึงกล้ามเนื้อบริเวณน่องและขา รวมทั้งลดการเกิดตะคริวได้ ซึ่งแม้ตอนแรกผู้สูงอายุจะยังทำไม่ได้ หากเมื่อคอยแนะนำกระตุ้นทั้งแบบกลุ่มและรายบุคคล เริ่มปรับท่าทางให้ถูกต้องในที่สุดก็ทำตามกันได้ ยกเว้นบางท่าที่ค่อนข้างยาก ต้องอาศัยความยืดหยุ่นของร่างกายสูง หรือบางท่าก็ต้องมีความแข็งแกร่งในตัวเอง ทำให้บางคนไม่สามารถทำตามได้ทั้งหมด ก็ต้องผ่อนปรนกันไป ไม่ให้หักโหมมาก เพราะอาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดี" อาทิตยา กล่าวย้ำ


ขณะที่ ป้าสงวน เกิดแก้วในวัย 67 ปี เล่าว่า ตอนแรกๆ ที่มาหัดโยคะ รู้สึกปวดกล้ามเนื้อ ตึงไปหมดทั้งตัว แต่พยายามมาอย่างต่อเนื่อง เพราะรู้ดีว่าการออกกำลังกายมีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย และเมื่อทำเป็นประจำความปวดตึงก็ค่อยๆ หายไป กลายเป็นความกระฉับกระเฉง เคลื่อนไหวคล่องแคล่วมากขึ้น ดังนั้นนอกเหนือจากตอนเย็นที่นัดมาทำโยคะแบบรวมกลุ่มกันแล้ว เมื่อตื่นนอนยามเช้าตรู่ ก็จะทำบนที่นอนด้วย


"ช่วงเย็นเมื่อมารวมตัวกัน ถือเป็นเวลาที่สนุกสนานมาก นอกจากออกกำลังกายแล้วยังได้พูดคุยเย้าแหย่กัน บางคนมีเรื่องเครียดจากทางบ้าน หรือปัญหาสุขภาพ ก็ได้ระบายออก มองเห็นทางแก้ไขจากการแลกเปลี่ยนกับคนอื่น จึงไม่แปลกที่คนวัย 40-50 ปี เริ่มมารวมกลุ่มด้วย เพียงแต่ภาระการงานประจำวันอาจยังไม่เอื้ออำนวยทำให้มาได้ไม่สม่ำเสมอ" ป้าสงวน กล่าว


ภาพผู้สูงอายุรวมตัวกันเล่นโยคะในช่วงเย็นอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละครึ่งชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ จึงเป็นภาพที่คนในชุมชนคุ้นเคย และแม้ว่าโครงการจะสิ้นสุดแล้วแต่ยังดึงหน่วยงานในท้องถิ่นเข้ามาช่วยสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลวังแดง องค์การบริหารส่วนตำบลวังแดง และพัฒนาชุมชน เพราะตระหนักดีว่า นอกจากอาหารดี อารมณ์แจ่มใสแล้ว การออกกำลังกายก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ช่วยให้ผู้สูงอายุและคนในชุมชนมีสุขภาพที่ดี ลดอัตราเสี่ยงจากโรคภัยไข้เจ็บได้

Shares:
QR Code :
QR Code