โยคะในเรือนจำ พัฒนาสุขภาพกายใจผู้ต้องขัง
ที่มา : สยามรัฐ
ภาพประกอบจาก สสส.
เรือนจำกลางอุบลราชธานีน่าจะพูดได้เต็มปากว่าเป็นเรือนจำต้นแบบภายใต้โครงการ "เรือนจำสุขภาวะ:พัฒนาคุณภาพชีวิตหลังกำแพง" โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อพัฒนาเรือนจำให้เป็นพื้นที่ที่เอื้อให้ผู้ที่อยู่ในเรือนจำมีสุขภาวะที่ดีทั้งทางร่างกาย จิตใจและจิตวิญญาณรวมถึงให้ผู้ต้องขังได้มีโอกาสทำงานตามความถนัดเป็นงานที่ทำแล้วใช้ความสามารถ และการสร้างสรรค์ของตนเอง
โครงการเรือนจำสุขภาวะ พัฒนาคุณภาพชีวิตหลังกำแพง เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. โดยใช้การวิจัยการจัดการแบบมีส่วนร่วม ในการทำงานร่วมกับเรือนจำนำร่อง3แห่ง คือ เรือนจำกลางอุบลราชธานี เรือนจำกลางอุดรธานี และเรือนจำกลางราชบุรี
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส.กล่าวถึงการสนับสนุนการพัฒนาเรือนจำสุขภาวะในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาและแนวทางในการดำเนินการใน อนาคตว่าสสส.ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องสุขภาวะของทุกๆ คนรวมถึงผู้ต้องขังในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานเรื่องการรักษาพยาบาล การดูแลสุขภาพปัญหาเรื่องสุขภาพในเรือนจำ ที่ สสส. เข้ามามีบทบาทใน การร่วมแก้ไขโดยปัญหาสุขภาพที่พบมาก คือ ปัญหาเรื่องสุขภาพจิต
"การเปิดพื้นที่ให้มีการออกกำลังกาย ดูแลรักษาสุขภาพต่างๆ ภายในเรือนจำเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งโยคะ เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่นำมาพัฒนาสุขภาวะ ที่ไม่ได้เป็นวิธีการออกกำลังกายที่ทำให้ร่างกายดีขึ้น แต่ยังฝึกฝนในเรื่องสมาธิ เห็นคุณค่าในตัวเอง นอกจากนี้ สสส. ยังสนับสนุนงานเครือข่ายนักวิชาการ โดยพบว่าผู้ต้องขังมีประสบการณ์ในทางบวกมากขึ้น ดูแลตัวเองให้มีสุขภาพดีทั้งกายและใจอยู่ร่วมกับ คนอื่นแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย รวมถึงการเกิดพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันอย่าง สร้างสรรค์ผ่านกิจกรรมต่างๆ ในอนาคตหวังให้พื้นที่ดังกล่าวถูกยกระดับกลายเป็นต้นแบบให้ดียิ่งขึ้น ซึ่ง สสส. ยินดีที่จะสนับสนุนและขยายผลเรือนจำสุขภาวะในรูปแบบนี้สู่เรือนจำอื่นๆ เพื่อเปิดพื้นที่ และเปิดโอกาส ให้ผู้ต้องขังได้กลับมามีที่ยืนในสังคมอย่างมีความสุขต่อไป" นางภรณี กล่าว
มีตัวเลขผู้ที่ได้รับการปล่อยตัว และกลับมากระทำผิดซ้ำในช่วง3ปีหลังจากถูกปล่อยตัว อยู่ที่ร้อยละ27 คิดจากสัดส่วนผู้ต้องขังที่เคยกระทำผิดมาแล้ว ซึ่งคาดว่าในอีก10ปีข้างหน้า อัตราการกระทำผิดซ้ำของไทยจะลดลงเหลือเพียง ร้อยละ 7 นี่คือความท้าทาย ที่ ผศ.ธีรวัลย์วรรธโนทัย หัวหน้าโครงการเรือนจำสุขภาวะ:พัฒนาชีวิตหลังกำแพง กล่าวไว้ พร้อมอธิบายว่าการจะบรรลุเป้าหมายข้างต้น จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเรือนจำในฐานะที่เป็นพื้นที่ลงโทษ ไปสู่การเป็นพื้นที่ของการดูแลและฟื้นฟู การใช้ชีวิตในเรือนจำจึงควรมุ่งเน้นที่การบรรเทาความเครียดการให้กำลังใจ และให้โอกาส เพื่อชีวิตที่ดีมีคุณภาพเมื่อพ้นโทษ
"ผู้ต้องขังส่วนใหญ่เครียดแล้วสุขภาพร่างกายก็เจ็บป่วย จึงเริ่มมีโยคะในเรือนจำ เมื่อปี 2555 และกลายเป็นกลุ่มใหญ่ไปเรื่อยๆ โดยฝึกให้อยู่กับปัจจุบัน ลืมอดีต ให้อยู่กับลมหายใจตลอดเวลา โยคะฝึกให้มีสมาธิ นิ่ง นอนหลับดี ร่างกายมีการปรับสมดุล ซึ่งการติดตามผู้ต้องขังในโครงการที่เล่นโยคะ ประมาณ50คน พบว่ามีการกระทำผิดซ้ำเพียง3คน คิดเป็นอัตราร้อยละ6เท่านั้น" ผศ.ธีรวัลย์ กล่าว
โครงการเรือนจำสุขภาวะ พัฒนาคุณภาพชีวิตหลังกำแพงได้นำกิจกรรมต่างๆ เข้ามาสู่ผู้ต้องขังหญิงที่เข้าร่วมตามความสมัครใจ เช่น ศิลปะบนก้อนหิน วาดภาพระบายสี ถักโครเชต์ ทำน้ำมันสมุนไพร จัดสวนขวดและจัดสวนถาด เป็นต้นโดย นางสาวจำปา ไขแสงนักทัณฑวิทยาชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาผู้ต้องขัง เรือนจำกลางอุบลราชธานีกล่าวว่าสิ่งแรกที่เห็นหลังจากผู้ต้องขังเข้าร่วมกิจกรรม คือเรื่องความประพฤติดีขึ้น รักษาระเบียบวินัยของเรือนจำ ไม่กระทำผิดวินัยผู้ต้องขังได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ง่ายต่อการควบคุม เป็นการปลูกฝังนิสัย มีความคิดสร้างสรรค์และมีความมั่นคงทางจิตใจรวมถึงสดใส ดูมีความสุขมากขึ้น นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีที่มุ่งไปสู่การพัฒนาผู้ต้องขัง เพื่อคืนคนดีสู่สังคม
ด้านนางสาวเอ (นามสมมติ) อดีตผู้ต้องขังเรือนจำกลางอุดรธานี เล่าว่า ตอนแรกรู้สึกสิ้นหวังและท้อแท้ หมดกำลังใจหลังจากนั้นได้เข้าร่วมโครงการโยคะในเรือนจำจึงพบว่าโยคะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ขาดไม่ได้และหลังจากได้รับการปล่อยตัวยังมีโอกาสนำความรู้ที่ได้ไปสอนโยคะให้กับชาวต่างชาตีอีกด้วยโยคะทำให้ใจเย็นลง ไม่คิดฟุ้งซ่าน ทำอะไรคิดก่อนเสมอ และได้ออกกำลังกายไปในตัวด้วย อยากขอบคุณทุกๆ ฝ่าย และอาจารย์ทุกๆ ท่าน ที่ผลักดันโครงการดีๆ แบบนี้ให้มีในเรือนจำ
เช่นเดียวกับนางสาวบี (นามสมมติ) ผู้ต้องขังหนึ่งในสมาชิกกองงานโยคะเรือนจำกลางอุบลราชธานี ที่มองว่าโครงการเรือนจำสุขภาวะทำให้รู้ว่า สถานที่นี้ขังได้แค่ตัว แต่ไม่สามารถขังจิตใจ ขังความรู้สึก และความสามารถได้
"วันแรกในเรือนจำ ยังทำใจไม่ได้ รู้สึกเคว้งคว้าง ความเศร้าความเงียบเข้าครอบงำ คิดถึงอิสรภาพต่างๆ ที่เคยมี จึงตัดสินใจเล่นโยคะ ที่จะทำให้ไม่เครียด ไม่เหงา และไม่คิดจะหยุดเล่น จากที่เคยเหงาเคยท้อแท้ในชีวิต ก็ลืมความรู้สึกแบบนั้นไป ถ้าวันไหนรู้สึกท้อแท้ หมดหวัง ก็แค่ทิ้งมันลงในเสื่อโยคะ จะเล่นโยคะแบบนี้จนกว่าจะได้อิสรภาพ ซึ่งหวังว่าถ้าได้อิสรภาพจากที่นี่ ก็คงไม่ละทิ้งโยคะ โดยอาจจะนำความรู้ประสบการณ์เปิดโรงเรียนสอนโยคะให้เด็ก" นางสาวบี เล่าทิ้งท้าย