โมเดล ‘ควนรู’ บนวิถีความยั่งยืน-ชุมชนเข้มแข็ง
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
การสร้างให้ชุมชนลุกขึ้นมาร่วมจัดการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ถือเป็นการส่งเสริมให้เกิดการจัดการปัญหาแบบยั่งยืน เนื่องจากเมื่อเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ หรือการดำเนินโครงการต่างๆ ได้สิ้นสุดลง แต่การอยู่อาศัยในชุมชนยังคงดำเนินต่อไป พลังส่วนสำคัญที่เหลืออยู่จึงเป็นเชื้อไฟชั้นดีที่ควรจะนำมาขับเคลื่อนต่อ
ภาคีสร้างเสริมสุขภาพ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนในพื้นที่ เพื่อปรับเปลี่ยนชุมชน สังคม และสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี จึงเป็นที่มาของการพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพภาคใต้ โดยความร่วมมือของสถาบันการจัดการระบบสุขภาพมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อยกระดับขีดความสามารถของแกนนำภาคีสร้างเสริมสุขภาพภาคใต้ โดยใช้บทเรียนและประสบการณ์การทำงานของ สสส.ที่สั่งสมกว่า 10 ปีเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ มาพัฒนาเป็นองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับคนทำงานสร้างเสริมสุขภาพภาคใต้ โดยทิศทางในอนาคตจะร่วมเป็นหนึ่งในเครือข่ายสถาบัน Thaihealth Academy ศูนย์กลางการเรียนรู้และพัฒนากำลังคนต้นแบบด้านสร้างเสริมสุขภาพในระดับภูมิภาค
โมเดลควนรูบนวิถีความยั่งยืนชุมชนเข้มแข็ง จากเดิม อบต.ควนรู ประสบปัญหาเด็กในชุมชนขาดสารอาหารต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ โดยผลสำรวจพฤติกรรมการบริโภค ภาวะโภชนาการและพฤติกรรมสุขภาพของเด็กอายุ 6 เดือน-14 ปี ในปี 56 และ 58 โดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบพฤติกรรมการบริโภคของเด็กในชุมชนคือ กินผักผลไม้น้อย สะท้อนว่าเด็กอาจขาดวิตามินที่จำเป็นและใยอาหารที่ช่วยป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง นอกจากนี้เด็กอายุ 6 เดือนถึง 5 ปี ร้อยละ 5.1 มีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ ร้อยละ 9.6 มีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ ร้อยละ 3.6 มีภาวะเริ่มอ้วน และร้อยละ 3.6 อยู่ในภาวะอ้วน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับผลสำรวจเด็กไทยระดับประเทศ เด็กที่ควนรูมีภาวะขาดสารอาหารสูงกว่า และมีภาวะโภชนาการเกินต่ำกว่าค่ากลางของประเทศ จึงมีการจัดการเรื่อง "ความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัยและโภชนาการสมวัย" ในพื้นที่ร่วมกันอย่างเป็นระบบจึงเกิดขึ้น
นายถัน จุลนวล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลควนรู เล่าถึงที่มาของการบูรณาการด้านอาหารในพื้นที่ ว่า เดิมทีชุมชนมีการขับเคลื่อนงานเรื่องความมั่นคงทางอาหารอยู่แล้ว แต่ขาดการบูรณาการเชื่อมโยงกับเจ้าหน้าที่และชุมชน จนกระทั่งปี 2556 ได้ทำงานร่วมกับสถาบันการจัดการระบบสุขภาพ (สจรส.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ด้วยการพัฒนาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค องค์การบริหารส่วนตำบลควนรู โดยเปิดเป็นศูนย์รับเรื่องร้องเรียนในกรณีที่ผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสินค้าหรือบริการ ทำงานร่วมกับ รพ.สต. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน และ อสม. ในการตรวจสอบรวบรวมข้อมูลมาตรฐานอาหารปลอดภัย จนกระทั่งปี 2557 สจรส.เลือกให้พื้นที่เราเป็นต้นแบบการทำโครงการบูรณาการด้านความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัยและโภชนาการสมวัย จึงทำให้สามารถแก้ปัญหาระบบอาหารของชุมชนได้ทั้งระบบ
นางอมิตา ประกอบชัยชนะ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลควนรู มองว่า เด็กเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของการทำงาน จึงเริ่มทำกิจกรรมสร้างพ่อแม่คุณภาพตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์และการเลี้ยงดูบุตร อบรมให้ความรู้ช่วงตั้งครรภ์เรื่องการกินยาบำรุงเลือด วิตามิน อาหารที่ควรกินหรือควรเลี่ยง รวมถึงการออกกำลังกาย ส่งเสริมโครงการด้านโภชนาการสมวัยในกลุ่มช่วงวัยอนุบาล 3-6 ปี ด้วยการจัดเมนูอาหารตามตารางคำนวณสูตรอาหารกลางวัน และใช้โปรแกรม INMU School Lunch ปรับปรุงครัวตามหลักสุขาภิบาลอาหารเพื่อแก้ปัญหาภาวะโภชนาการ เปลี่ยนแปลงการผลิตอาหารจากครัวแยกเป็นครัวรวม และขนส่งอาหารให้ทั้งกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้ง 3 แห่ง ให้ได้คุณภาพเท่าเทียมกัน ทำโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ให้กับนักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชนปลูกผัก ร่วมกันรณรงค์ให้ความรู้เรื่องการให้ความสำคัญกับอาหารมื้อเช้าให้แก่ผู้ปกครอง สนับสนุนกลุ่มเครือข่ายต่างๆ ในชุมชนเพื่อจัดการอาหาร เช่น กลุ่มเกษตรปลอดสารพิษ เกษตรอินทรีย์ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม No Foam (ลด ละ เลิก) การใช้โฟมในหน่วยงานและร้านค้าในพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาสารเคมีตกค้างในอาหารปรุงสุกและลดปัญหาขยะ เราส่งเสริมการเลี้ยงอาหารแบบปิ่นโต ด้วยการจัดเลี้ยงอาหารกลางวันในเวทีสัมมนาและศึกษาดูงาน ทำให้เกิดวัฒนธรรมอาหารร้อยอย่าง เห็นถึงความหลากหลายของเมนูอาหารที่ชุมชนผลิตเองจากวัตถุดิบปลอดภัยในชุมชน สำหรับผลการดำเนินโครงการอย่างจริงจังตลอด 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมบริโภคที่ดีขึ้น กินผักผลไม้เพิ่มขึ้น งดอาหารเช้าน้อยลง ดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลม และกินขนมกรุบกรอบน้อยลง แต่ยังไม่ส่งผลต่อภาวะโภชนาการทั้งหมด พบภาวะโลหิตจางเด็กในวัยเรียนลดลง อีกทั้งเด็กๆ มีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ ที่เราจัดขึ้น
อบต.ควนรู กลายเป็นแหล่งเรียนรู้การทำงานด้านระบบอาหารของจังหวัดสงขลา พร้อมให้ทุกพื้นที่เข้ามาศึกษาและเรียนรู้ไปพร้อมกัน ผลสะท้อนจากการลงพื้นที่ปฏิบัติการครั้งนี้ทำให้แกนนำภาคีสร้างเสริมสุขภาพภาคใต้รุ่นที่ 1 และ 2 ได้สัมผัสประเด็นการทำงานและการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จริง ซึ่งการลงพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลควนรูได้มีการวิเคราะห์มิติการพัฒนาที่ยั่งยืน พบว่าชุมชนมีความเข้มแข็งและยั่งยืน มีการบริหารจัดการจนพัฒนาเป็นต้นแบบการจัดการระบบอาหารในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) เกิดโมเดลการทำครัวกลาง (ครัวเดียวกระจายไป 3 ศูนย์ ได้แก่ ศพด.บ้านลูกรัก รร.ชุมชนบ้านโคกค่าย และ ศพด.รร.วัดไทรใหญ่) จนเกิดการขยายผลทำเป็นแปลงเกษตรในศูนย์เด็กเล็กร่วมกับผู้ปกครองและแกนนำชุมชน และนำผลผลิตที่ได้มาเป็นวัตถุดิบอาหารกลางวัน โดยใช้วัตถุดิบจากแหล่งผลิตปลอดภัยในชุมชน นอกจากจะเป็นการส่งเสริมต่อโภชนาการสมวัยของเด็กนักเรียนแล้ว ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน
ผศ.ดร.พงศ์เทพ สุธีรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันระบบการจัดการระบบสุขภาพ ม.สงขลานครินทร์ (สจรส.มอ.) ทิ้งท้ายว่า เมื่อพูดถึงการทำงานด้านสุขภาวะ หลายๆ คนอาจสงสัยและคิดว่ามันไกลตัว ไกลจากชุมชน แต่แท้จริงแล้วเรื่องสุขภาวะนั้นสัมพันธ์กับมิติใหญ่ๆ ในสังคม ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากร ซึ่งงานสร้างเสริมสุขภาพจำเป็นต้องพัฒนาสู่ความยั่งยืนโดยเชื่อมโยงการทำงานกับระบบและกลไกขับเคลื่อนหลัก สร้างวัฒนธรรมสุขภาพ พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายให้เกิดขึ้นในชุมชน