โมเดลระบบสหกรณ์เข้มแข็ง
ที่มา : เว็บไซต์ปันสุข
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ปันสุข
สังคมไทยกำลังหันมาให้ความสนใจกับระบบสหกรณ์อีกครั้ง เป็นเพราะภาคการเกษตรกำลังตกที่นั่งลำบาก จากราคาพืชผลตกต่ำสวนทางกับรายได้และกำไรของพ่อค้าคนกลางที่นับวันจะมีเพิ่มมากขึ้น
“โมเดลระบบสหกรณ์เข้มแข็ง” จึงเป็นทางออกเดียว ที่ถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงเพื่อมุ่งหวังจะแก้ปัญหาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน ด้วยโจทย์สำคัญคือทำอย่างไรจะทำให้รูปแบบการบริหารงานเข้มแข็ง โปร่งใส ขายสินค้าเกษตรได้อย่างครบวงจร และสิ่งที่สำคัญคือสามารถสร้างความร่วมมือในชุมชนให้มากที่สุด
ดังเช่นเกษตรกรที่เทศบาลตำบลรือเสาะ จ.นราธิวาส ซึ่งรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์การเกษตรรวมมิตรจำกัด มานานตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2545 มีเทศบาลตำบลรือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นอีกแรงที่ช่วยหนุนเสริม จนปัจจุบันรือเสาะเป็นตำบลศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน ถึงวันนี้ 14 ปีผ่านไปผลการดำเนินงานนับว่ามีความโดดเด่น และแตกต่างเพราะไม่ได้เน้นแค่เรื่องการปล่อยสินเชื่อแต่เน้นให้สมาชิกกินดีอยู่ดี รู้จักความพอเพียง
แต่ “สหกรณ์การเกษตรรวมมิตรจำกัด” ยังได้นำกำไรมาบริหารร้านสหกรณ์การเกษตรสินค้าที่นำมาขายส่วนใหญ่เป็นสินค้าทางการเกษตร เช่น ยากำจัดศัตรูพืช ปุ๋ย สารเคมีการเกษตร วัสดุการเกษตร รวมไปถึงสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง โดยเปิดโอกาสให้ทั้งคนที่เป็นและไม่เป็นสมาชิกเขามาจับจ่ายได้เหมือนกัน จัดเป็นการขายสินค้าการเกษตรในรูปแบบที่ครบวงจรได้อีกด้วย
ร้านเปิดทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-16.30 น.สหกรณ์การเกษตรรวมมิตรจำกัด มีสมาชิกอยู่ทั้งสิ้น 275 คน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท 1. สมาชิกสามัญ หรือสมาชิกที่มีภูมิลำเนาในอำเภอรือเสาะ ซึ่งสมาชิกกลุ่มนี้มีสิทธิ์รับบริการด้านสินเชื่อจากสหกรณ์ 2. สมาชิกสมทบ ไม่มีสิทธิ์ทำธุรกิจด้านสินเชื่อ
แพรว ชูพุด ประธานสหกรณ์ และ รัตนากร ขำเนียว ผู้ตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และ น้ำฝน ผ่องใส เจ้าหน้าที่การเงิน ร่วมกันเล่าถึงที่มาของสหกรณ์แห่งนี้ว่า ช่วงแรกกลุ่มเกษตรกรสวนยางจำนวน 40 กว่าคน ได้มารวมตัวกันที่วัดราษฎรสโมสร เพื่อจัดตั้งเป็นกลุ่มออมทรัพย์หน้าที่หลักๆ คือรับฝากเงินจากสมาชิก โดยไม่ได้กำหนดขั้นตอนตามมาจนมาภายหลังทางจังหวัดนราธิวาสแนะนำให้พัฒนากลุ่มขึ้นมาเป็นสหกรณ์การเกษตร
คนที่มาสมัครสมาชิกต้องฝากทุนเรือนหุ้นก้อน หุ้นละ 10 บาท ไม่ต่ากว่า 10 หุ้น บวกกับค่าธรรมเนียมอีก 100 บาท สำหรับเป็นทุนหมุนเวียน โดยทุนเรือนหุ้นนี้ไม่สามารถถอนได้เว้นแต่ลาออกหรือเสียชีวิตบริการของสหกรณ์แห่งนี้มีตั้งแต่การฝาก-ถอน คิดดอกเบี้ยเงินร้อยละ 1.50 ต่อปี มีธุรกิจสินเชื่อ ซึงแบ่งเป็น 3 ประเภท คือเงินกู้ระยะปานกลาง วงเงินไม่เกิน 200,000 บาท กู้ได้ไม่เกิน 3 ปี ผูู้กู้ต้องใช้โฉนดที่ดินค้ำประกัน ต่อมาคือเงินกู้ระยะสั้น วงเงินไม่เกิน 30,000 บาท กู้ได้ไม่เกิน 1 ปี ใช้สมาชิกค้ำประกัน 2 คน และสุดท้าย เงินกู้ฉุกเฉิน 5,000 บาท กู้ได้ไม่เกิน 5 เดือน มีสมาชิกค้ำประกัน 1 คน เงินกู้ทั้งหมดนี้คิดดอกเบียร้อยละ 8 ต่อปี ถ้าผิดนัดเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี โดยผู้กู้ต้องเป็นสมาชิกไม่ต่ำกว่า 6 เดือนถึงกู้ได้ โดยผู้กู้สามารถยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการได้ในทุกช่วงเวลา
“ปัจจุบันระบบสินเชื่อเรามีปัญหาอยู่เพราะว่าราคายางไม่ดี ชาวบ้านเลยไม่มีเงินมาคืน เราต้องปรับโครงสร้างหนี้คือกู้ใหม่แล้วผ่อนจ่ายหนี้เก่าเป็นเดือนๆไป” น้ำฝนอธิบายวิธีแก้ปัญหาของสหกรณ์ให้ฟัง
สถานการณ์แบบนี้คณะกรรมการสหกรณ์ จึงได้ร่วมประชุมหารือหาทางออก เป็นการประชุมคณะกรรมการสหกรณ์ซึ่งมีทั้งหมด 7 คน เลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ของสมาชิก ดำรงตำแหน่งวาระละ 2 ปี คนหนึ่งเป็นได้ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน โดยต้องหยุดพักอย่างต่ำ 1 ปี จึงเห็นว่าควรต้องเพิ่มรูปแบบการบริหารด้วยการนำเอาสินค้า อุปโภค บริโภคและ สินค้าสารเคมีการเกษตรมาขายในสหกรณ์ด้วย
รูปแบบปัจจุบันสหกรณ์มีเงินหมุนเวียนอยู่ประมาณ 7,000,000 บาท โดยในแต่ละปีจะมีการปิดบัญชีงบดุล ทุกวันที่ 30 กันยายน พร้อมกับจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีแบ่งเงินหลายส่วนเพื่อประโยชน์สาธารณะของชุมชน ทั้งการแบ่งเป็นเงินปันผลตามหุ้นไม่เกิน 10 ของกำไรสุทธิ เงินเฉลี่ยคืนตามส่วนธุรกิจไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ เงินทุนสำรองของสหกรณ์ไม่เกิน 10 ของกำไรสุทธิ โบนัสกรรมการและพนักงาน ไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ ทุนสำหรับการอบรมศึกษา ร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ เงินค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ไม่เกินร้อยละ 5 ของกำไรสุทธิ ทุนสวัสดิการและการสงเคราะห์แก่สมาชิก ร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ ทุนสวัสดิการและการสงเคราะห์แก่เจ้าหน้าที่และลูกจ้าง ร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ ทุนรักษาเงินอัตราปันผล ร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ และทุนสาธารณประโยชน์ไม่เกิน ร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ ส่วนที่เหลือให้จัดสรรเป็นทุนสำรองทั้งสิ้น
ล่าสุดทางกลุ่มได้สร้างศูนย์รวบรวมยางพารา โดยได้งบประมาณที่รัฐให้ยืม จ่ายผ่านทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำนวน 1,000,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 5 แต่ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยออกให้ร้อยละ 4 ภายใต้ระยะเวลากู้ 1 ปีถือเป็นการพัฒนาต่อยอดการทำงานของสหกรณ์ด้วย ด้วยการพยายามให้ราคายุติธรรมและมีการเช็คราคากับสหกรณ์เมืองนราธิวาสตลอดเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่ในการขายผลผลิตกับสหกรณ์จากนี้ไป