โมเดลชุมชน ลดเสี่ยงสงกรานต์

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


โมเดลชุมชน ลดเสี่ยงสงกรานต์ thaihealth


ช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองกับการทำงานป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนคือสิ่งที่คู่ขนานกันมานาน เพราะในช่วงเวลาแห่งความสุข การกลับมาอยู่ร่วมกันของครอบครัวไม่ควรอย่างยิ่งกับการต้องพบกับเรื่องสูญเสีย


ในสงกรานต์ 2562 นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ดำเนินการขับเคลื่อนการสร้างมาตรการเพื่อควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้พื่อลดความเสี่ยงและปริมาณอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาล


ข้อมูลสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จากระบบข้อมูลตำบล (Thailand Community Network Appraisal Program-TCNAP) ของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่เมื่อปี 2561 ยังระบุว่า สถานการณ์การดื่มในชุมชนยังน่าเป็นห่วง เพราะผู้มีพฤติกรรมดื่มสุราเป็นประจำคิดเป็นร้อยละ 7.54 โดยส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 25-59 ปี และคนกลุ่มนี้ยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง 5 อันดับแรก ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง ปวดข้อ-ข้อเสื่อม โรคเบาหวาน โรคภูมิแพ้ และโรคเก๊าท์ เหตุนี้การสร้างเครือข่ายชุมชนท้องถิ่น สร้างกิจกรรมสร้างสรรค์ให้เป็นช่วงเทศกาลปลอดเหล้าจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ต้องหนุนเสริม


โมเดลชุมชน ลดเสี่ยงสงกรานต์ thaihealth


สิงห์ทอง หนุนนำสิริสวัสดิ์ นายกเทศมนตรีตำบลเวียงเทิง จ.เชียงราย กล่าวว่า การควบคุมพฤติกรรมการดื่ม ในช่วงเทศกาลไม่ได้ถูกปฏิบัติเฉพาะช่วงใดช่วงหนึ่ง แต่เป็นแนวทางที่ถูกทำมาตลอดไม่ว่าจะเป็นการผ่านการรณรงค์ตามสถานที่สำคัญในชุมชน การใช้เสียงตามสาย การใช้ผู้นำชุมชนทำความเข้าใจ การตั้งด่านตรวจของอาสาสมัครชุมชน ยิ่งเฉพาะการมีเป้าหมายลดปริมาณนักดื่มหน้าใหม่ด้วยการให้ความรู้ถึงผลดีผลร้าย การจำกัดพื้นที่ในการดื่ม


"คงเป็นเรื่องยากที่จะห้ามไม่ให้คนในชุมชนดื่มเลยในเทศกาลเฉลิมฉลอง แต่เราสร้างนิสัยด้วยการจำกัดพื้นที่การดื่มเช่น ดื่มในบ้านไม่ต้องออกไปไหน ดื่มแต่พอเหมาะ หรือในกลุ่มเพื่อนก็ควรจะมีสัก 1-2 ราย ที่ต้องร่วมสังเกตอาการ ถ้าไม่ไหว ก็ต้องให้หยุด และห้ามเดินทางเป็นอันขาด เราทำเช่นนี้มาหลายปีติดต่อกัน ทำในทุกช่วงที่มีโอกาส จนสถิติอุบัติเหตุของเราในช่วงปีที่แล้วเป็นศูนย์"


ทรงศักดิ์ โชตินิติวัฒน์ นายกเทศมนตรีตำบลพระแท่น อ.ท่ามะละกา จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า ช่วงเวลาสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุมักเป็นช่วงรอยต่อของการดื่ม กล่าวคือเมื่อตั้งวงดื่มแล้วเครื่องดื่มไม่พอจะออกมาซื้อใหม่ ซึ่งประเด็นนี้ถูกเน้นย้ำผ่านเสียงตามสาย การประชาสัมพันธ์ให้เห็นว่าคือช่วงเวลาของการเกิดเหตุมากที่สุด


นอกจากนี้ ในช่วงเทศกาลแต่ละชุมชนจะตั้งจุดตรวจ จุดบริการประชาชน เพื่อให้บริการสถานที่นอนพัก เครื่องดื่ม ผ้าเย็น คลายความเมื่อยล้า ซึ่งเป็นการตั้งจุดความปลอดภัยและอาศัยความเข้าใจกับชุมชนไปด้วยในเวลาเดียวกัน


สุพรรณ ชัยมี นายกเทศมนตรีตำบลนาข่า อ.เมือง จ.อุดรธานี กล่าวว่า มาตรการแบบเป็นรูปธรรมที่ชุมชนนำมาใช้และได้ผลดีคือแนวทางที่ชื่อว่า 'ด่านครอบครัว' ซึ่งใช้ความรักของคนใกล้ชิดเป็นด่านสกัดด่านแรกในการป้องกันอุบัติเหตุ โดยหัวหน้าครอบครัวหรือคนในครอบครัวจะต้องช่วยกันดูแลคนที่ดื่มให้อยู่กับบ้าน เสมือนเป็นด่านชั้นแรก เพราะถ้าดื่มกินอยู่กับบ้านไม่ออกไปไหน อุบัติเหตุก็จะไม่เกิดขึ้น


หากขัดขืนและไม่เชื่อฟัง แน่นอนว่าชุมชนก็จะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลจะมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการควบคุมการดื่มเพื่อป้องกันอุบัติเหตุอย่างเคร่งครัด ความสำเร็จจึงมีเบื้องหลังเป็นสมาชิกครอบครัวที่ร่วมเป็นฟันเฟือง ในการทำงานอย่างจริงจัง

Shares:
QR Code :
QR Code