โมเดลชุมชน "ลดเมา เพิ่มสุข" พิสูจน์ไร้อุบัติเหตุทางถนน
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ย้อนไปช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่เพิ่งผ่านพ้นไป สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ดำเนินการขับเคลื่อนการทำงานป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนน พร้อม ๆ กับดำเนินมาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยชุมชนอย่างต่อเนื่อง
จากข้อมูลความสูญเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุและเมาแล้วขับ สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี แผนสุขภาวะชุมชน สสส.ร่วมกับเครือข่ายร่วมสร้างท้องถิ่นน่าอยู่ ได้ทำการรณรงค์ "ลดเมา เพิ่มสุข" มาตั้งแต่ปี 61 ประกอบด้วยกิจกรรม 4 สร้าง 1 พัฒนา คือสร้างคนต้นแบบ สร้างเส้นทางปลอดภัย สร้างนวัตกรรมช่วยเลิกโดยชุมชน และการกำหนดมาตรการทางสังคมและการบังคับใช้กฎหมาย ส่วนอีก 1 พัฒนานั้น คือการพัฒนาความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ในชุมชนเพื่อเป้าหมายการลดการดื่มสุราและเมาไม่ขับ
สำหรับเป้าหมายการ ลดเมา เพิ่มสุข ของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ คือสามารถลดการเกิดอุบัติเหตุจราจรจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยชุมชนท้องถิ่น และสร้างกิจกรรมสร้างสรรค์ให้เป็นสงกรานต์ปลอดเหล้า และปลอดภัย โดยขับเคลื่อนจัดกิจกรรมใหญ่เพื่อปลุกกระแสในพื้นที่ในช่วงเทศกาลสำคัญ ๆ รวมถึงช่วงเวลาปกติ ดำเนินงานโดยมีองค์กรท้องถิ่น ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาล ในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เป็นแกนนำหลัก
เทศบาลตำบลกลางหมื่น อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ทำการรณรงค์ภายใต้หัวข้อ "ลดเมา เพิ่มสุข" คนห้าพันสืบสานประเพณีสงกรานต์ปลอดภัย เริ่มจากทำประชาคมกับชาวบ้านเพื่อกำหนดกฎกติกาและการบังคับใช้กฎหมายด้านความปลอดภัยทางถนนให้ประชาชนถือปฏิบัติ ก่อนทำบันทึกความร่วมมือของ 4 องค์กรหลักในการลดอุบัติเหตุทางถนน แล้วจัดกิจกรรมรณรงค์ตั้งแต่ 10 เม.ย.เป็นต้นมา ทั้งแผ่นพับ ผ้าเย็น น้ำดื่ม ลูกอม แก่ผู้สัญจรตามท้องถนน ส่วนวันที่ 11 เมษายน มีการมอบเกียรติบัตรสำหรับบุคคลต้นแบบเลิกเหล้าด้วย ส่งผลให้ตลอดช่วงสงกรานต์ 2562 ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2562 ไม่มีอุบัติเหตุในพื้นที่ และประชาชนชาวกลางหมื่น ไม่ประสบอุบัติเหตุนอกพื้นที่เลย
ส่วนที่ ต.ดวนใหญ่ อ.วังหิน จ.ศรีสะเกษ ทางองค์การบริหารส่วนตำบลดวนใหญ่ ได้หาวิธีการควบคุมอุบัติเหตุในพื้นที่ได้ร่วมกันทำความสะอาด ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณข้างถนนสายหลักในตำบล เพื่อไม่ให้มีสิ่งกีดขวางและบดบังภูมิทัศน์ในการสัญจร ปรับปรุงไฟส่องสว่าง ติดตั้งกระจกโค้ง สัญลักษณ์ บริเวณจุดเสี่ยง จุดอันตรายจากสถานการณ์ 7 วันอันตราย ในพื้นที่ตำบลดวนใหญ่ ไม่มีการเกิดอุบัติเหตุหรือผู้ได้รับบาดเจ็บ
ที่เทศบาลตำบลปัว อ.ปัว จ.น่าน เขตพื้นที่ของเทศบาลแห่งนี้มีถนนหมายเลข 1080 มาจากอำเภอเมืองไปยังแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง อาทิ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา และเขตการค้าเสรีด่านชายแดนห้วยโก๋น ทำให้มีผู้สัญจรไปมาจำนวนมาก และจะมากขึ้นเมื่อถึงเทศกาลสำคัญ
เทศบาลตำบลปัวได้ดำเนินการในช่วงเทศกาลสงกรานต์ประจำปี 2562 เป็น 3 ช่วง โดยช่วงก่อน 7 วันอันตราย ได้ใช้มาตรการทางกฎหมายในการตรวจตราร้านค้า สถานประกอบการในเขตเทศบาล ให้ปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ
น.ส.วงวรรณ เทพอาจ หัวหน้าฝ่ายบริการสาธารณสุข กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลปัว กล่าวว่า การเพิ่มประสิทธิภาพของมาตรการกวดขันการตรวจจับเรื่องเมาแล้วขับให้มากขึ้น ไม่ว่าในเทศกาลหรือนอกเทศกาล ส่วนสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างไม่เป็นทางการในพื้นที่อำเภอปัว ในช่วง 7 วันอันตรายระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2562 พบว่าเกิดอุบัติเหตุจำนวน 13 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 15 ราย และเสียชีวิตจำนวน 2 ราย
ขณะที่เทศบาลตำบลพอกน้อย อ.พรรณนานิคม จ.สกลนคร จัดการรณรงค์ "ลดเมา เพิ่มสุข : สงกรานต์ปลอดภัย" ประสบความสำเร็จอย่างดี เพราะตลอด 7 วัน ไม่มีอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิต ทั้งนี้เทศบาลตำบลพอกน้อย มีสภาพพื้นที่เสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากเป็นเส้นทางหลวงแผ่นดินระหว่างจังหวัด หมายเลข 22 ระหว่างสกลนคร-อุดรธานี และเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2355 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 22 บริเวณสามแยกบ้านสูงเนิน ตำบลพอกน้อย-อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นจุดที่เกิดอุบัติเหตุอยู่เสมอ
เช่นเดียวกับองค์การบริหารส่วนตำบลมะเกลือใหม่ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ตลอด 7 วันช่วงเทศกาลสงกรานต์ ไม่มีอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตในตำบลมะเกลือใหม่แม้แต่รายเดียว อุบัติเหตุเป็นศูนย์ ทั้ง ๆ ที่เป็นพื้นที่เสมือนประตูสู่ภาคอีสาน มีถนนสายหลักผ่านถึง 2 เส้นทาง ความสำเร็จนี้เป็นเพราะทาง อบต.มะเกลือใหม่ได้ตั้งด่านชุมชน พร้อมกันนั้นยังจัดพื้นที่เล่นน้ำในภายใน
น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. กล่าวว่า ธีมการรณรงค์ "ลดเมาเพิ่มสุข" ที่ทางเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ร่วมกันขับเคลื่อนกันมา ต่างต้องการทำให้เกิดการเฝ้าระวังในพื้นที่ของตัวเอง บทบาทของสสส.อย่างมากที่สุด คือการส่งสัญญาณไปยังพื้นที่ ว่าประเด็นสำคัญที่ควรจะชูขึ้นมาขับเคลื่อนควรจะเป็นเรื่องใด เช่น ครอบครัว ควรจะมีบทบาทสำคัญในการเป็นด่านแรกที่คอยสกัดไม่ให้คนเมา
งานที่เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ได้ทำอยู่นี้ ถ้าทำอย่างจริงจังและต่อเนื่องจะช่วยเพิ่มจำนวนคนเลิกเหล้าในชุมชน ช่วยลดอุบัติเหตุบนถนน เกิดหมู่บ้านต้นแบบที่มีการกำหนดมาตรการทางสังคม