โพลเผยร้านเหล้ายุคใหม่ ‘ตั้งชื่อ’ กระตุ้นคนดื่มเพิ่ม!

เปิดผลโพลรับวันเยาวชนปี 54 เผยรอบมหาลัยยังเป็นทำเลทองร้านเหล้า ชี้ยิ่งใกล้สถาบันยิ่งล่อใจให้อยากดื่ม แฉกลยุทธ์ยอดฮิต ติดป้ายจูงใจ จัดโปรโมชั่น ใช้สาวหน้าใสแต่งหวิวเรียกแขก “นักวิชาการ” ชำแหละธุรกิจแอลกอฮอล์ ใช้ 3 กลยุทธ์ดูดนักดื่ม ทั้งปล่อยเชื้อ-ติดความเมาเข้าที่ตัวภาษา โฆษณาเหล้าแฝงสินค้าอื่น สร้างการจดจำ จี้รัฐต้องกล้าออกกฎเหล็กคุมด่วน

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่โรงแรมมิโด้ สะพานควาย เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)จัดกิจกรรมวันเยาวชนแห่งชาติ ประจำปี 2554 ทั้งนี้ภายในงานมีการเสวนาในหัวข้อ “กลยุทธ์ชวนดื่มภัยร้ายทำลายเยาวชน” โดยมีนิสิต นักศึกษา จากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าร่วม

น.ส.หทัยภัทร เกตุเลศศักดิ์ แกนนำเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่กล่าวว่า เมื่อวันที่ 2-4 ก.ย.2554 ที่ผ่านมา เครือข่ายฯได้ลงพื้นที่ เพื่อสุ่มสำรวจ “กลยุทธ์ของร้านเหล้าผับ บาร์ รอบสถานศึกษา” ทั้งหมด 36 สถาบัน จำนวน 340 ร้าน ภายในรัศมีไม่เกิน 500 เมตร เขตกรุงเทพฯและปริมณฑล พบว่า ร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีการใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการขายที่มาแรงที่สุด ได้แก่ ติดข้อความป้ายโฆษณา ด้วยข้อความจูงใจ ดึงดูดความสนใจซึ่งพบมากถึง 46% รองลงมา การจัดโปรโมชั่นต่างๆ อาทิ ลด แลก แจก แถม 31% ขณะที่ 13% จะใช้วิธีแสดงคอนเสิร์ตของศิลปิน หรือ มิวสิกมาเก็ตติ้ง 9% ใช้สาวเชียเบียร์ นุ่งน้อยห่มน้อย และ 6% จัดกิจกรรมเสริมในร้าน เช่น คาราโอเกะ สนุกเกอร์

นอกจากนี้ทางเครือข่ายฯ ยังได้สำรวจพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของนักศึกษาทั้งหญิงและชาย จำนวน 1,170 ราย จาก 6 สถาบัน พบว่า เกินครึ่ง หรือ 55% เป็นผู้ที่ดื่ม ส่วนใหญ่ให้เหตุผลในการดื่มเพราะ เข้าถึงง่ายร้านเหล้าอยู่ใกล้หอพัก และใกล้สถานศึกษา และโปรโมชั่นที่คิดว่าโดนใจมากที่สุด ได้แก่ 29% มาก่อน 3 ทุ่ม ซื้อ 1 ขวดแถม 1 ขวด ส่วน 21% ซื้อเหล้าก่อน 3 ทุ่ม ลดครึ่งราคา ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายทั้งสิ้น แต่กลับไม่มีการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องนี้ จึงอยากเรียกร้องให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจัดการด้วย

“จากการสำรวจร้านเหล้าแทบทุกร้าน พยายามทำบรรยากาศ ตกแต่งร้านให้สะดุดตา มีป้ายไฟ มีข้อความจูงใจทั้งขนาดใหญ่ เล็ก นอกจากนี้ยังพยายามวางเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ดูโดดเด่น หยิบจับง่าย ดึงดูดสายตา รวมถึงการแข่งกันจัดโปรโมชั่นของแต่ละร้าน การจ้างศิลปินมาแสดงคอนเสิร์ต บางร้านพบว่า ใช้ร้านขายนมสด บังหน้าเพื่อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลายแห่งที่พบการจ้างเด็กสาวหน้าใส แต่งหวิวมานั่งเพื่อจูงใจแขกผู้ชาย จากปัญหาที่เกิดขึ้น จึงอยากวิงวอนภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด โดยในวันอังคารที่ 20 ก.ย. เครือข่ายเยาวชนฯ จะขอเข้าพบ นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นข้อเสนอ ให้เร่งออกมาตรการต่างๆ ที่ ยังค้างอยู่ในคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ อาทิ การห้ามขายเหล้าปั่น และการควบคุมร้านเหล้ารอบสถานศึกษา ซึ่งมีเยาวชนเป็นเป้าหมายโดยตรง เพื่อเป็นของขวัญในโอกาสวันเยาวชนแห่งชาติ ครบรอบ 26 ปี ด้วยความหวังว่าท่านนายกฯ ผู้หญิงคนแรกของไทย จะจริงจังกับการแก้ปัญหานี้” น.ส.หทัยภัทร กล่าว

ด้าน ดร.นิษฐา หรุ่นเกษม เครือข่ายนักวิชาการเพื่อเฝ้าระวังปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า จากข้อมูลของเครือข่ายเยาวชนฯ หากวิเคราะห์แล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่า ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใช้วิธีการแอบซุกการตลาดผ่านผับบาร์ ร้านอาหาร ร้านค้าประเภทต่างๆ หรือที่เรียกว่า “กลยุทธ์ในการผลัก” (push strategy) โดยใช้ร้านค้าเป็นตัวกลางเพื่อนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปยังผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าว ถือว่าบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และร้านค้าสนับสนุนให้เกิดการโฆษณา ส่งเสริมการขาย และเป็นกลยุทธ์ที่เรียกว่า win-win หมายถึง บริษัทผู้ผลิตต้องการผลักสินค้าของตนเองออกไปให้ได้มากที่สุด ในขณะที่ร้านค้าเองก็ต้องการใช้ประโยชน์จากการส่งเสริมการขายของบริษัทผู้ผลิต เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อสินค้า ทำให้ขายดีมีกำไร

เครือข่ายนักวิชาการฯ กล่าวว่า กลยุทธ์ที่ร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใช้เรียกลูกค้า และมาแรงที่สุดคือ 1. กลยุทธ์ “การตลาดแบบปล่อยเชื้อ” โดยเน้นป้ายโฆษณาจำนวนมาก เพื่อให้ชื่อและตราสินค้ามีความถี่ในการพบเห็น จดจำได้ และติดตาติดปาก รวมถึงการใช้โปรโมชั่นและกิจกรรมพิเศษ โดยเฉพาะในเรื่องของความบันเทิง เช่น การจัดแสดงดนตรีหรือคอนเสิร์ตภายในร้าน เพื่อเป็นเครื่องมือในการเรียกลูกค้าให้เข้าร้าน สั่งซื้อ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2.กลยุทธ์ “การติดความเมาเข้าที่ตัวภาษา” โดยร้านค้าจะดัดแปลง คิดภาษา และประดิษฐ์คำผ่านชื่อร้าน เช่น ยกซด จามาว ซัก กริ๊ป เมามันส์ ห้องสมุดตักสุรา ซึ่งกลยุทธ์นี้ไม่เพียงแต่จะเรียกความสนใจเป็นที่ถูกอกถูกใจวัยรุ่น แต่ความแรงของคำยังถูกใช้เพื่อเป็นตัวกระตุ้นพฤติกรรมการดื่มและการเมาให้เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า มีการใช้โฆษณาแฝงผ่านสิ่งของต่างๆ ภายในร้าน เช่น เมนูอาหาร ร่มเห็ด แก้วน้ำ กล่องทิซชู เป็นต้น

“เพื่อลดจำนวนนักดื่มหน้าใหม่และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จึงขอเรียกร้องผ่านไปยังการทำงานของคณะกรรมการนโยบายเครื่องแอลกอฮอล์แห่งชาติและการทำงานในพื้นที่ระดับจังหวัด ให้เร่งจัดโซนนิ่งร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัยเป็นการเร่งด่วน และขอให้ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หันมาทำการตลาดแบบโปร่งใส มีจริยธรรม ที่สำคัญผู้ประกอบการ พนักงานเสิร์ฟ ควรมีหลักสูตรอบรมข้อกฎหมาย ตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2552 ก่อนเข้าทำงาน” ดร.นิษฐา กล่าว

ขณะที่ นายสุเทพ สดชื่น ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาตกเป็นเหยื่อของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น แทบทุกร้านมักจะละเมิดกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ทั้งในมาตรา 29 ว่าด้วยการห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีและคนเมาที่ครองสติไม่ได้ มาตรา 30 ว่าด้วยการส่งเสริมการขาย ลด แลก แจก แถม และมาตรา 32 ที่ยังคงโฆษณา การอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม จึงเป็นห่วงว่าผลกระทบและความเสี่ยงจะตกอยู่ที่เยาวชน และเพิ่มปัญหาขึ้นเรื่อยๆถ้ายังไม่มีการจัดการอย่างจริงจัง ส่วนธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังคงลอยตัวไม่ต้องมารับผิดชอบต่อสังคมต่อไป จึงอยากฝากไปยังรัฐบาลให้เร่งออกมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อบังคับใช้ และอยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสาวต่อไปจนถึงร้านที่ขายเหล้าให้เด็กด้วย หากพบคดีของเด็กและเยาวชนที่เกิดเหตุหลังการดื่ม

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Shares:
QR Code :
QR Code