โพลชี้-ลูกขอพ่อ ใจเย็น-เลิกเหล้า
แพทย์แนะ 3 วิธีสร้างครอบครัวเป็นสุข
เผยผลสำรวจวันพ่ออึ้ง ลูกส่วนใหญ่เห็นว่าพ่อคือตัวปัญหา แฟมิลี่โพลล์เผยผลสำรวจหัวข้อ “หยุดทุกข์ สร้างสุข เพื่อครอบครัว” รับวันพ่อแห่งชาติ พบลูกส่วนใหญ่เห็นว่าพ่อคือตัวปัญหาภายในบ้าน แถมพ่อขี้เหล้ากลายเป็นความทรงจำด้านลบที่ลูกมีมากที่สุด
นักวิชาการกระตุ้นสร้างโมเดลครอบครัวพอเพียง แก้ปัญหาครอบครัวอมโรค จิตแพทย์ แนะ 3 วิธีสร้างครอบครัวเป็นสุข ต้องรับผิดชอบ สร้างความผูกผัน พ่อแม่ร่วมเลี้ยงลูกเท่าๆ กัน
เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้าง เสริมสุขภาพ(สสส.) จัดเวทีครอบครัวสร้างสุข ในหัวข้อ “กว่าพ่อจะรู้เดียงสา หยุดทุกข์ สร้างสุข เพื่อครอบครัว” โดยนายวันชัย บุญประชา ผจก.มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า เครือข่ายครอบครัว ทำการสำรวจ หรือแฟมิลี่โพลล์ เรื่อง “หยุดทุกข์สร้างสุขเพื่อครอบครัว” ในกลุ่มตัวอย่าง 504 คน อายุ 16-30 ปี เมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา
พบความทรงจำด้านบวก ที่มีต่อพ่อ ทั้งของลูกชายและลูกสาว คือ เป็นคนดี ใจดี รักครอบครัว แต่ความทรงจำด้านลบคือเรื่องแรกที่ตรงกัน คือ การดื่มสุรา ความดุ อารมณ์ร้อน และไม่มีเวลาให้ลูก ทำตัวห่างเหิน
“เมื่อถามถึงปัญหาภายในครอบครัว กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 22 เห็นว่า พ่อเป็นบุคคลที่ทำให้เกิดปัญหา รองลงมายอมรับว่าคือตัวเองร้อยละ 21.1 อีก 15.5 คิดว่าเป็นเพราะแม่ ซึ่งสิ่งที่คิดว่าคนที่สร้างปัญหาภายในครอบครัว ควรปฏิบัติ 5 อันดับแรกคือ 1.การควบคุมอารมณ์ให้ใจเย็นลงร้อยละ 28.3, 2.เลิกเหล้าร้อยละ 14.2, 3.เลิกบ่นร้อยละ 13.5, 4.เปลี่ยนแปลงความคิดร้อยละ 6.7, 5.เอาใจใส่ เข้าใจกันมากขึ้นร้อยละ 5 โดยสิ่งที่เห็นว่าจะทำให้ครอบครัวมีความสุขมากขึ้นคือ ต้องรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น พูดคุยกันมากขึ้น ใช้สติ และมีเหตุผล คิดก่อนทำ” นายวันชัยกล่าว
ด้านรศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจทรุดตัว และการเมืองที่มีความแตกแยกอย่างรุนแรง ทำให้ครอบครัวไทยต้องกลายเป็นครอบครัวอมโรค เพราะเผชิญกับความเครียด เสี่ยงต่อการติดเหล้าและเกิดความรุนแรงในครอบครัวตามมา
เมื่อพิจารณาจากผลการสำรวจ ยังถือว่าสถานะของหัวหน้าครอบครัว คือ พ่อ ยังอยู่ในระดับที่ดี แม้ผลการสำรวจจะชี้ว่าครอบครัวที่เกิดปัญหาจะเกิดจากพ่อ ซึ่งมีปัจจัยมาจากเหล้า และการใช้อารมณ์ที่รุนแรง ทำให้กลายเป็นครอบครัวอมโรคในที่สุด
รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้จำเป็นต้องค้นหาและสร้างโมเดลครอบครัวพอเพียง เพื่อเป็นตัวอย่างและสร้างกำลังใจให้ครอบครัวอื่นๆ ให้กลับมาอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุข
ลักษณะของครอบครัวพอเพียง คือ
1.ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น งดอบายมุขเหล้าบุหรี่ ทำรายรับรายจ่าย
2.กินข้าวร่วมกันในครอบครัว อย่างน้อยวันละ 1 มื้อ เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันแลกเปลี่ยนทุกข์สุข
3.แสวงหาความสุขเรียบง่าย เช่น เล่นกีฬา ฟังเพลง ท่องเที่ยวในประเทศด้วยกัน นอกจากดีต่อสุขภาพยังนำเงินที่เหลือมาใช้ในครอบครัวได้อย่างมีความสุข
พ.ญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าวว่า การสร้างครอบครัวให้มีความสุขร่วมกัน ต้องมีหลัก 3 ข้อ
1.ความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก หากขาดความรับผิดชอบร่วมกันในครอบครัว โอกาสที่จะทำให้ครอบครัวสงบสุข เป็นไปได้ยาก
2.ความสัมพันธ์ระหว่างกัน ทั้งพ่อ แม่ ต้องมีบทบาทในการเลี้ยงดูลูกเท่าๆ กัน เพราะมีผลต่อการสร้างความสัมพันธ์ต่อผู้อื่นของเด็ก
3.สร้างความผูกพัน พยายามใช้ชีวิตร่วมกันในทุกด้าน เด็กต้องการเรียนรู้และเลียนแบบบุคลิกภาพด้านดี ของทั้งเพศชาย เพศหญิง ซึ่งจะทำให้เด็กจะสามารถสร้างสัมพันธภาพที่ดีได้กับผู้อื่น และสามารถสร้างครอบครัวที่มีความสุขได้
วันเดียวกัน นายธวัชชัย ไทยเขียว อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 5 ธ.ค.นี้ กรมพินิจฯ ได้ให้ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนทั่วประเทศคัดเลือกเด็กและเยาวชนที่มีความประพฤติดี เพื่อขอลดระยะเวลาการฝึกอบรมเด็กและเยาวชนและปล่อยตัว โดยมีเด็กและเยาวชนได้รับการลดระยะเวลาฝึกอบรม จำนวน 2,045 ราย และมีเด็กและเยาวชนได้รับการปล่อยตัวกลับคืนสู่ครอบครัว จำนวน 121 ราย
นายธวัชชัยกล่าวอีกว่า เด็กและเยาวชนที่อยู่ในศูนย์ฝึกและอบรมฯ และสถานพินิจฯ ทั่วประเทศ ที่ไม่ได้รับการปล่อยตัว กรมพินิจฯ มีนโยบายให้เด็กที่มีความประพฤติดีลาเยี่ยมบ้านได้ ส่วนเด็กที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ได้มอบนโยบายให้จัดกิจกรรมวันพ่อ เพื่อเปิดโอกาสให้พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ได้เยี่ยมอย่างใกล้ชิดและลดความเครียดของเด็กเรื่องการคิดถึงบ้านไปอีกทางหนึ่ง
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
update 08-12-51