โพลชี้เด็กอยากได้ “คอมฯ-เรียนฟรี-บ้านเมืองสงบสุข”
เผยร้อยละ 91 อยากเห็นผู้ใหญ่จงรักภักดีสถาบัน
เอแบคโพลล์เผยผลสำรวจความในใจเด็กกทม.ในวันเด็ก เผยร้อยละ 60 อยากเห็นความวุ่นวาย การประท้วงยุติลง ขณะที่อีกร้อยละ 91 อยากให้ผู้ใหญ่ในสังคมมีความจงรักภักดีต่อสถาบัน
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง ความในใจของเด็กวันเด็ก ต่อผู้ใหญ่ในสังคม ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง : กรณีศึกษาเด็กตัวอย่าง อายุ 10 -15 ปี ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,157 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 7 – 9 มกราคม 2552
ผลสำรวจที่ค้นพบคือ เด็กๆ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.9 ระบุลักษณะชุมชนที่ตนเองพักอาศัยอยู่มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันดี ในขณะที่ร้อยละ 14.1 ระบุ ต่างคนต่างอยู่
เมื่อถามถึงสิ่งที่อยากได้เป็นของขวัญวันเด็กจาก นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 39.0 อยากได้คอมพิวเตอร์ บ้าน รถ ที่ดิน มือถือ ขอเงินใช้ ของเล่น เป็นต้น รองลงมาหรือร้อยละ 26.9 อยากได้ทุนการศึกษา เรียนฟรี อุปกรณ์การเรียน หนังสือ
ในขณะที่ร้อยละ 22.2 อยากให้ดูแลบ้านเมืองให้สงบสุข ไม่วุ่นวาย สามัคคีกัน ไม่ทะเลาะกัน ไม่มีการประท้วง และอันดับรองๆ ลงไปคือ พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น สินค้าราคาถูก
อยากให้นายกรัฐมนตรีเป็นคนซื่อสัตย์ จงรักภักดี รับใช้ประชาชน ส่งเสริมด้านกีฬา รักเอาใจใส่ดูแลเด็กและเยาวชน สร้างสิ่งต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้เด็กมีสิทธิมีเสียงในสังคม และช่วยลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นของขวัญวันเด็กปีนี้
เมื่อถามถึง สิ่งที่อยากได้เป็นของขวัญวันเด็กจากผู้ที่จะมาเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนใหม่ พบว่า อันดับแรก หรือร้อยละ 31.2 อยากได้ คอมพิวเตอร์ บ้าน รถ ที่ดิน มือถือ ขอเงินใช้ ของเล่น เป็นต้น รองลงมาคือร้อยละ 23.6 อยากได้ทุนการศึกษา เรียนฟรี อุปกรณ์การเรียน หนังสือ
ในขณะที่ร้อยละ 15.0 ระบุอยากให้พัฒนากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่ ร้อยละ 9.4 อยากให้ผู้ว่าฯ ทำให้คนกรุงเทพฯ มีความสุข และรองๆ ลงไปคือ สร้างสิ่งต่างๆ ให้คนกรุงเทพมหานคร มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เช่น สวนสาธารณะ ทางม้าลาย
อยากให้ผู้ว่าฯ กทม. เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต อยากให้มีความสามัคคีกัน อยากให้บ้านเมืองสะอาด รถไม่ติด และอยากให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสาธารณูปโภค ตามลำดับ
เมื่อถามสิ่งที่อยากได้เป็นของขวัญวันเด็ก จากกลุ่มผู้ใหญ่ที่กำลังชุมนุมประท้วงทางการเมืองตามที่ต่างๆ ของประเทศขณะนี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.0 อยากให้เลิกชุมนุมประท้วง อยู่ในความสงบ รองลงมาคือ ร้อยละ 37.2 อยากให้รักและสามัคคีกัน เลิกทะเลาะกัน ในขณะที่ร้อยละ 15.8 อยากให้ผู้ใหญ่ที่ขัดแย้งกันหันมาบริจาคสิ่งของให้เด็กๆ เช่น อุปกรณ์กีฬา ของเล่น อุปกรณ์การเรียน เป็นต้น
ที่น่าพิจารณาคือ สิ่งที่เด็กๆ อยากให้ผู้ใหญ่ในสังคมแสดงการกระทำ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีในปี พ.ศ. 2552 นี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.0 อยากให้แสดงความจงรักภักดีต่อสถาบัน รองลงมาคือ ร้อยละ 89.1 อยากให้รักและสามัคคีต่อกัน ไม่แตกแยก เลิกทะเลาะกัน
ร้อยละ 72.5 อยากให้เคารพต่อกฎหมายบ้านเมือง ร้อยละ 71.8 อยากให้ช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกัน ในขณะที่ ร้อยละ 70.4 อยากให้แสดงความกตัญญู รู้คุณต่อประเทศชาติโดยส่วนรวม
นอกจากนี้ สิ่งที่เด็กๆ อยากได้เป็นของขวัญจากคนในครอบครัวเดียวกัน พบว่า ร้อยละ 42.4 อยากได้ความรัก ความอบอุ่น การดูแลเอาใจใส่ กำลังใจและช่วยเหลือกันในครอบครัว ไม่ทะเลาะกัน รองลงมาคือ ร้อยละ 35.5 อยากได้สิ่งของต่างๆ จากพ่อแม่ เช่น เงิน ของเล่น อุปกรณ์การเรียน คอมพิวเตอร์
ในขณะที่ รองๆ ลงไป คือ อยากให้ทุกคนในครอบครัวอยู่พร้อมหน้าเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันเช่น ไปเที่ยว ทานอาหาร และอยากให้ครอบครัวมีความสุข มีสิ่งดีๆ เข้ามาในครอบครัว อยากให้พ่อแม่กลับมาอยู่ด้วยกัน ไม่แยกทางกัน อยากให้สมาชิกในครอบครัวเลิกดื่มเหล้า เลิกสูบบุหรี่ เลิกยาเสพติด และเลิกอบายมุข เป็นต้น
ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า เด็กๆ ยังรู้สึกว่าชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่มีความช่วยเหลือเกื้อกูลกันดี แต่สิ่งที่อยากวอนขอจากผู้ใหญ่ บางกลุ่ม บางคนที่กำลังมีความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงขณะนี้ คือ อยากให้อยู่ในความสงบ อยากให้รักและสามัคคีกัน เลิกทะเลาะกัน หันมาดูแลเอาใจใส่เด็กๆ มากขึ้น อย่าทำลายบรรยากาศการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของสังคมไทย
และยิ่งไปกว่านั้น เด็กๆ อยากเห็นผู้ใหญ่กระทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่อง ความจงรักภักดีต่อสถาบัน รักและสามัคคีต่อกัน เคารพต่อกฎหมายบ้านเมือง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และแสดงความกตัญญู รู้คุณต่อประเทศชาติโดยส่วนรวม
สำหรับความรู้สึกนึกคิดของเด็กๆ เหล่านี้ กลุ่มผู้ใหญ่ที่กำลังแบ่งขั้วแยกข้างในขณะนี้ น่าจะนำไปพินิจวิเคราะห์ให้ดีถึงผลกรรมที่ตนเองกำลังกระทำอยู่เวลานี้ว่า อาจทำลายบรรยากาศ ประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทยเสียไป
จนกลายเป็นตัวอย่างให้เด็กๆ ลอกเลียนแบบพฤติกรรมใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา ไม่หลงเหลือความเอื้ออาทร และไมตรีจิตต่อกัน ผลที่ตามมาคือ เด็กๆ คงจะไม่รู้สึกอีกต่อไปว่าชุมชนที่ตนเองพักอาศัยอยู่มีความช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกัน
และจะเป็นอันตรายต่อวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนผู้บริสุทธิ์ ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรกับเกมการเมืองที่กำลังแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ในเวลานี้
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
update 09-01-52