โพลชี้สามี 89% พร้อมทำงานบ้าน

 เป็นได้ทั้งผู้นำและผู้ตามที่ดี

 

 โพลชี้สามี 89% พร้อมทำงานบ้าน

          โพลมูลนิธิเพื่อนหญิงพบชายไทยร้อยละ 91 เชื่อคนดีต้องเป็นทั้งผู้นำและผู้ตามของเพศหญิง ไม่เกี่ยงกับบทบาทความเท่าเทียมของการ ช่วยภรรยาทำงานบ้าน ผอ.มูลนิธิฯ ชี้ ทัศนติดังกล่าวสร้างความเท่าเทียม ลดปัญหาการใช้ความรุนแรง

 

          เมื่อวาน (4 พ .ย.) ที่ลานวิคตอรี่พอยท์ มูลนิธิเพื่อนหญิงร่วมกับกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเสวนาหัวข้อ แค่เลิกคิดว่าชายเป็นใหญ่ สิ่งดีๆก็เกิดขึ้นได้….จริงหรือ?” เพื่อเป็นการรณรงค์ให้สังคมลดการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี

 

          โดยนายจะเด็จ เชาวิไล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า เนื่องจากแต่เดิมสังคมไทยส่วนใหญ่มักมองว่าเพศชายเป็นเพศที่ยิ่งใหญ่และมีภาวะผู้นำในครอบครัว ขณะที่เพศหญิงมักถูกมองว่าเป็นผู้ตามและต้องเชื่อในความคิดและคำสั่งของเพศชายเสมอ หรือเรียกว่าวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ซึ่งบางครั้งแนวคิดดังกล่าวนำไปสู่พฤติกรรมการเอาเปรียบเพศหญิง และการใช้ความรุนแรงในครอบครัวได้ ดังนั้นเพื่อให้สังคมเกิดความเท่าเทียม คนในสังคมต้องเปลี่ยนแปลงแนวคิดไปจากที่เป็นอยู่ให้ได้

 

          ทั้งนี้ในเบื้องต้นทางมูลนิธิฯ ได้สำรวจทัศนคติของเพศชายในหัวข้อ แค่เลิกคิดว่าชายเป็นใหญ่ สิ่งดีๆ ก็เกิดขึ้นได้ในระหว่างวันที่ 17-23 ต.ค. 2553 จากการสอบถามความคิดเห็นจากเพศชายอายุตั้งแต่ 20 ปี ขึ้นไป โดยเจาะกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,139 คน จากพื้นที่ 9 จังหวัด คือ กทม. สุรินทร์ อำนาจเจริญ ชุมพร สมุทรสาคร นครปฐม สมุทรปราการ เชียงใหม่และลำพูน พบว่ามุมมองความคิดเกี่ยวกับความเสมอภาคของหญิงและชายนั้นมีแนวโน้มที่ดีขึ้น อีกทั้งมองว่าการให้เกียรติผู้หญิงเป็นสิ่งดีก็มีท่าทีที่สูงขึ้น

 

          โดยผลการสำรวจพบว่า ผู้ชายในกลุ่มตัวอย่างมองว่า ชายเป็นได้ทั้งผู้นำและผู้ตามที่ดี ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ยึดติดกับความคิดของตนเองว่าเป็นใหญ่ฝ่ายเดียว มีถึงร้อยละ 91.90, มองว่าการแสดงออกทางความรักครอบครัวด้วยการมีความรับผิดชอบนั้น ดีกว่าพฤติกรรมการกินเหล้า มีร้อยละ 89.60

 

          นายจะเด็จ กล่าวว่า ขณะที่ประเด็นเกี่ยวกับการแสดงความเท่าเทียมด้วยการปฏิบัติหน้าที่ภายในครัวเรือน เช่น การช่วยผู้หญิงทำงานบ้าน เพื่อแบ่งเบาภาระมีอยู่ร้อยละ 89.80,ประเด็นเรื่องของการมีรักเดียวใจเดียว ซื่อสัตย์กับภรรยาเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง พบว่าเพศชายร้อยละ 86.90 เห็นด้วยอย่างยิ่งกับเรื่องนี้ และที่ประเด็นที่สำคัญคือ ทัศนคติของการใช้ความรุนแรง โดยถามในหัวข้อ ภรรยาไม่ใช่สมบัติของสามี จึงต้องให้เกียรติไม่ทุบตี ไม่ดุด่า บังคับหลับนอน ปรากฏว่ากลุ่มตัวอย่างเห็นด้วยอย่างยิ่งกับเรื่องนี้มีอยู่ถึงร้อยละ 82.90 ขณะที่ยังคงมีผู้ไม่เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าวอยู่ร้อยละ 0.7 ซึ่งทางมูลนิธิฯจำเป็นต้องเดินหน้ารณรงค์ในเรื่องของการยุติการใช้ความรุนแรง และลดวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ต่อไปเรื่อยๆ โดยปี 2553 เน้นที่ประเด็นของ สองเราเท่าเทียม เพื่อสะท้อนให้คนในสังคมเห็นว่า ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน ใครจะเป็นใหญ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้

 

          การรณรงค์ดังกล่าวทางมูลนิธิฯ จะมีการขับเคลื่อนแนวคิดโดยเร่งประสานงานร่วมกับภาครัฐ หลักๆ 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ โดยการเสนอให้มีการเร่งให้เผยแพร่ความรู้เรื่องความเท่าเทียมในสังคม กระทรวงวัฒนธรรมเน้นเรื่องการ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เน้นเรื่องของปราบปรามและลดการใช้ความรุนแรงแก่เด็กและสตรีนายจะเด็จ กล่าว

 

          ด้านพ.ต.ท.วิเชียร สุวพิศ สารวัตรประจำสถานีตำรวจภูธรสลุย จ.ชุมพร ในฐานะตัวแทนของมูลนิธิฯ ที่ร่วมรณรงค์เรื่องของความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงกับชาย กล่าวว่า ชายไทยส่วนใหญ่มองว่าตนเองเป็นใหญ่ในสังคม จึงมักไม่ค่อยให้ความสำคัญกับสตรีโดยเฉพาะภรรยา เนื่องจากลายคนอาจจะอับอายที่จะยอมเป็นผู้ตามในครอบครัว แต่สำหรับตนนั้นมองว่าการช่วยเหลืองานบ้านแก่ภรรยา คือหน้าที่ของสามี และเป็นหนทางแห่งการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน และที่สำคัญสามีและภรรยา ต้องดูแลครอบครัวให้ดีในฐานะหัวหน้า ไม่ใช่โยนภาระให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เนื่องจากสังคมปัจจุบันเปลี่ยนไป เพศหญิงก็มีงานนอกบ้านที่ต้องรับผิดชอบ ดังนั้นจะให้รับภาระงานในบ้านเพียงลำพังก็เป็นสิ่งไม่เหมาะสม

 

          ผมกับภรรยาเป็นหัวหน้าครอบครัวด้วยกัน เราต้องช่วยกันเลี้ยงลูกให้ดี และทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ พยายามเปิดใจรับฟังเหตุผลซึ่งกันและกันเสมอ ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าภาระอันยิ่งใหญ่ คือ ลูก ดังนั้นทุกอย่างที่เราทำก็ต้องคำนึงถึงลูกเสมอ ไม่ใช่คิดแค่เราสองคนพ.ต.ท.วิเชียร กล่าว

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพิ์astv ผู้จัดการ

 

 

update : 05-11-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : กิตติภานันทร์ ลีจันทึก

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code