โพธิสัตว์น้อยลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า
สพฐ.เดินหน้า หนุนเด็กไทยเติมภูมิคุ้มกันในตนเองและครอบครัวมากขึ้น หวั่นตกเป็นเครื่องมือธุรกิจน้ำเมาที่โหมโฆษณาและเข้าถึงทุกรูปแบบ จับมือเครือข่ายงดเหล้าขยายโรงเรียนแก้ปัญหาเหล้า บุหรี่อย่างน้อย 200 แห่งทั่วประเทศ
เตรียมจัดโพธิสัตว์น้อยลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า ประเดิมกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษาปีนี้ต่อเนื่อง หวังสร้างเครือข่ายสถานศึกษาในสังกัดเสริมพฤติกรรมดีมีคุณธรรมในการสอน สอดคล้องหลักค่านิยม 12 ประการคนไทย ย้ำ!!! ครู-โรงเรียน ชุมชนต้องใช้หลักศีล 5 ดำเนินชีวิต คุมสติตนเองให้คิดดีประพฤติดี ไม่หลงผิดในอบายมุข จะลดปัญหาสังคมได้มาก ด้านตัวแทนเด็กโพธิสัตว์น้อย วอนขอพ่อแม่คืนความสุขให้ลูกด้วยการงดดื่มเหล้า แล้วสร้างความรักในครอบครัวมากขึ้น พร้อมขอให้ธุรกิจเหล้าเบียร์งดขายช่วงเข้าพรรษา เพื่อเป็นการทำความดีร่วมกัน
วันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมหม่อมหลวงปิ่นมาลากุล กระทวงศึกษาธิการ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ เครือข่ายครูดีไม่มีอบายมุข แถลงข่าวการจัดโครงการโพธิสัตว์น้อย ลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า ปีที่ 6 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดนักดื่มแอลกอฮอล์หน้าใหม่ในเยาวชน และลดนักดื่มหน้าเก่าคือผู้ปกครอง พร้อมสร้างความร่วมมือ ขับเคลื่อนโครงการฯ ไปยังโรงเรียนประถมศึกษาในสังกัดอย่างน้อย 200 โรงเรียน ใน 4 ภูมิภาค ตอกย้ำกระบวนการรณรงค์ ที่สอดคล้องกับการปลูกฝังค่านิยมหลัก 12 ประการ ส่งผลให้ครอบครัวมีความสุขในการดำเนินชีวิต ลดภาระค่าใช้จ่าย และไม่หลงกลับไปดื่มแอลกอฮอล์อีก เตรียมเร่งพัฒนาคู่มือให้อยู่ในแผนกิจกรรมของการเรียนรู้ด้านคุณธรรม หรือหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม ในโรงเรียนสังกัด สพฐ.ทั่วประเทศ ตลอดปีการศึกษา
ดร.บรรเจอดพร สู่แสนสุข รอง ผอ.สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. กล่าวว่า การจัดโครงการโพธิสัตว์น้อย ลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้านั้น ทางสำนักพัฒนานวัตกรรมฯ ได้สนับสนุนให้เกิดการทำกิจกรรมร่วมกับนักเรียน ครู ผู้ปกครอง โรงเรียน และชุมชน เนื่องจากเป็นสิ่งที่สอดคล้องในการทำงานและพบว่า กิจกรรมตามโครงการดังกล่าว ส่งผลดีต่อตัวนักเรียน เพราะนอกจากการเรียนการสอนภายในโรงเรียนจะต้องได้มาตรฐานแล้ว การสร้างเสริมทางสภาวะจิตใจของนักเรียนก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเด็กหลายคนมีปัญหา มีภาวะความเครียดจากทางบ้าน ส่งผลให้การเรียนในโรงเรียนไม่ได้ผล การใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนๆในโรงเรียนก็เป็นปัญหา ครูจึงเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับนักเรียน จึงต้องหากิจกรรมที่เติมความรักก่อนให้ความรู้ เพื่อเป็นการปูพื้นฐานให้เด็ก หรือสร้างเสริมกิจกรรมที่เอื้อเฟื้อช่วยเหลือปัญหารับฟังความคิดเห็น ก็จะช่วยลดปัญหาต่างๆลงได้มาก
“ทั้งนี้จากการจัดกิจกรรมตามโครงการโพธิสัตว์น้อยในแต่ละปี พบว่า ลูกเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการดื่มเหล้า เบียร์ของพ่อแม่ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพการเรียนรู้ แต่ในทางตรงกันข้ามลูกก็เป็นผู้มีอิทธิพลสำคัญ ต่อการเลิกเหล้า เบียร์ บุหรี่ของพ่อแม่ โครงการโพธิสัตว์น้อย ฯ ยังเป็นการปลูกฝังให้นักเรียนตระหนักรู้พิษภัยเหล้า เบียร์ ซึ่งสอดคล้องกับค่านิยม 12 ประการของคนไทยที่ กำลังบ่มเพาะให้เกิดขึ้นกับคนไทย สอดคล้องกับอัตลักษณ์ 29 ประการ โรงเรียนวิถีพุทธ ที่ไม่ให้มีเหล้าเบียร์ บุหรี่ในโรงเรียน ซึ่งมีผลระยะยาวต่อคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียน คุณภาพประชากรในอนาคต จากผลการดำเนินงานช่วงเข้าพรรษาปี 2557 ซึ่งร่วมกับทางเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จากการสำรวจในกลุ่มตัวอย่าง 130 โรงเรียน พบว่า มีนักเรียนได้รับการเรียนรู้ในโครงการโพธิสัตว์น้อย และไปขอให้ผู้ปกครองงดเหล้าได้ จำนวน 19,505 คน ผู้ปกครองงดเหล้าได้ 9,897 คน ครูงดเหล้า 1,959 คนเฉลี่ยรายจ่ายที่ลดลงไปจากการงดเหล้าเข้าพรรษาเป็นเงินประมาณ 10,670,400 บาท ในเชิงการเรียนรู้ นักเรียนได้เรียนรู้และปฏิบัติตามหลักศีล 5 มากขึ้น ส่วนครูมีการบูรณาการปัญหาเหล้า บุหรี่ ไปกับการเรียนการสอนในรายวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาไทย ศิลปะ ได้มากขึ้นเช่นกัน และยังเป็นการปรับวิธีการให้ความรู้ที่สอดคล้องกับการเสริมสร้างการเรียนรู้ทั้งในวิชาการและนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ทันที”
นายอรุณ พรหมคุณ ผอ.โรงเรียนอนุบาลห้วยทับทัน จ.ศรีษะเกษ ตัวแทนเครือข่ายโรงเรียนบูรณาการแก้ไขปัญหาเหล้า บุหรี่ในโรงเรียน อ่านแถลงการณ์ มีใจความตอนหนึ่งว่า เครือข่ายโรงเรียนนำร่องบูรณาการฯ จำนวน 40 โรงเรียน ใน 4 ภาคทั่วประเทศได้ประชุมกันแล้ว พร้อมแสดงจุดร่วมกันเพื่อยืนว่า จะมีการสานต่อโครงการโพธิสัตว์น้อย ลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า ปี 2558 ให้ได้ผลสูงสุด พร้อมช่วยขยายผลการดำเนินงานไปสู่โรงเรียนใกล้เคียง ตลอดจนเป็นแนวร่วมที่สนับสนุนให้โรงเรียนในสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ จัดกิจกรรมเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กนักเรียนมากขึ้น ไม่เพียงแต่ในด้านวิชาการและการนำวิชาชีวิตไปใช้ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเด็กควรเรียนรู้ในสิ่งที่ถูกต้อง เหมาะสม เติบโตไปอย่างมีคุณภาพ มีหลักที่ดีในการดำรงชีวิต และจะร่วมรณรงค์ให้ข้าราชการครูภายในโรงเรียน บุคลาการในสถานศึกษา ตลอดจนและเจ้าหน้าที่ของสพฐ. ถือศีล 5 และงดเหล้าตลอดพรรษา เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็ก
ด้าน ด.ญ.วันทนี อุโมงค์ และ ด.ญ.พชรพรรณ กันทา(น้องเค๊ก) ตัวแทนโพธิสัตว์น้อย ลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า ปี 2558 ยื่นจดหมายเปิดผนึกอ่านข้อเรียกร้องต่อครูอาจารย์ ผู้ปกครองและผู้ประกอบการธุรกิจแอลกอฮอล์ มีใจความว่า ในฐานะลูกคนหนึ่ง จึงอยากวอนขอให้พ่อแม่เลิกเหล้า เพราะเหล้าได้แย่งความรักความอบอุ่นที่พ่อแม่จะให้ลูกไป ทำให้เกิดผลกระทบทั้งการเรียน การดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่มีความสุข จึงอยากให้พ่อแม่สนใจความรู้สึกของผู้ที่เป็นลูกมากขึ้น โดยการตัดเหล้าเบียร์ออกไปจากชีวิต แล้วมาสร้างความรักให้กันมากขึ้น และขอเป็นกำลังใจให้พ่อแม่ที่กำลังจะเลิกเหล้า ให้ต่อสู้เพื่อครัวให้กลับมาเป็นครอบครัวที่อบอุ่นอีกครั้ง ทั้งนี้ในนามโพธิสัตว์น้อย พวกเราจะตั้งใจทำความดีนี้ตลอดไป โดยพวกเราขอวิงวอนให้เจ้าของกิจการผลิตเหล้าเบียร์ หยุดขายในช่วงพรรษา เพื่อเป็นการทำความดีกับโพธิสัตว์น้อยซึ่งเป็นเด็กเยาวชนที่ต้องเติบโตไปเป็นอนาคตของประเทศ
ทั้งนี้ภายในงานมีการเสวนาในหัวข้อ “ทำไมเราต้องทำโครงการโพธิสัตว์น้อย ลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า สังคมไทยได้อะไร” โดย ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก /สสส. ตลอดจนตัวแทนครูที่ปรึกษาที่เข้าร่วมโครงการ และตัวอย่างโพธิสัตว์น้อย ที่ชวนพ่อแม่เลิกเหล้าได้สำเร็จมาถ่ายทอดประสบการณ์ในการทำความดี และการให้กำลังใจบุคลากรทางการศึกษา เด็กนักเรียนที่เข้าร่วมในโครงการโพธิสัตว์น้อย ลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า ปี 2558 ในการทำความดีอย่างต่อเนื่อง และยังมีพ.ท. วันชนะ สวัสดี (ผู้พันเบิร์ด) ในฐานะผู้ที่เป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม สนับสนุนการทำงานเพื่อเด็กเยาวชนอย่างต่อเนื่อง และในฐานะพ่อที่อบรม ดูแลลูกให้โตไปอย่างมีคุณภาพซึ่งจะส่งผลทั้งต่อตนเอง ครอบครัว สังคมและประเทศชาติ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมกันรณรงค์ให้ประชาชน ร่วมกันงดเหล้าเข้าพรรษา ลด ละ เลิกอบายมุข เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็กเยาวชน โดยการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน และสนับสนุนการทำความดีของเด็กเยาวชนไม่ให้ทำอย่างโดดเดี่ยวต่อไป
ที่มา: สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.)