โน้ตบุ๊ก กับท่านั่งทำงาน
ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน
แฟ้มภาพ
ปัจจุบันนี้มีการใช้โน้ตบุ๊กกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากความสะดวกสบายที่โน้ตบุ๊กเป็นคอมพิวเตอร์ที่สามารถนำพาไปได้เกือบทุกที่ อีกทั้งประสิทธิภาพของโน้ตบุ๊กก็ไม่ด้อยไปกว่าคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และเทคโนโลยียุคปัจจุบันยิ่งสนับสนุนให้มีการใช้โน้ตบุ๊กมากขึ้น
วิธีแก้ไขให้โน้ตบุ๊กให้ได้ท่าทางการทำงานที่ถูก
จากการที่โน้ตบุ๊กเป็นสิ่งที่ถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานในระยะสั้นๆ แต่หากมีความจำเป็นที่ต้องใช้โน้ตบุ๊กเป็นระยะเวลานานๆ หรือใช้แทนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะสามารถทำได้ ดังนี้
1. หาแป้นพิมพ์และเมาส์มาใช้เพิ่ม และวางโน้ตบุ๊กบนหนังสือหรือเก้าอี้เล็กๆ ให้สูงขึ้นมาจากโต๊ะจนกระทั่งขอบบนของจออยู่ที่แนวการมองของตาเมื่อมองไปตรงๆ ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ลงทุนน้อยที่สุดแต่นั่นหมายความว่าขนาดของจอโน้ตบุ๊กต้องใหญ่พอสมควร
2. หากจอโน้ตบุ๊กมีขนาดเล็ก วิธีแก้ไขก็คือใช้โน้ตบุ๊กต่อกับจอภายนอก โดยให้ปรับระดับของจอตามตำแหน่งที่ต้องการเหมือนกับจอคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะทั่วไป แล้วใช้แป้นพิมพ์จากตัวโน้ตบุ๊ก แต่แป้นพิมพ์ต้องปรับให้เอียงลาดเล็กน้อยเพื่อให้ข้อมือไม่งองุ้มและถูกกด
3. การจัดที่สมบูรณ์แบบที่สุดคือ ใช้โน้ตบุ๊กโดยต่อกับจอ แป้นพิมพ์ และเมาส์ภายนอก นั่นหมายถึงเราสามารถปรับทุกอย่างได้เหมือนกับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โดยใช้ตัวซีพียูของโน้ตบุ๊ก ทำให้ทำงานในลักษณะท่าทางที่เหมาะสมได้ ขณะเดียวกันก็สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องไม่ต้องโอนถ่ายข้อมูล เมื่อต้องเปลี่ยนสถานที่ทำงาน
4. คำแนะนำจาก OSHA (the Occupational Safety and Health Administration) องค์กรที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและสุขภาพในการทำงานของสหรัฐอเมริกา คำแนะนำจาก OSHA นี้ให้ใช้อุปกรณ์เสริมในลักษณะเอียงประมาณ 30 องศา สำหรับวางโน้ตบุ๊ก ทำให้แป้นพิมพ์เอียงตัวขึ้น จอสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ให้ปรับการนั่งเก้าอี้ให้เอียงไปด้านหลัง ซึ่งมีผลต่อระดับการมองทำให้ไม่ต้องก้มศีรษะ แขนและข้อมือ ไม่มีการกด การบิดและการเอียงของข้อมือมากนัก ขณะเดียวกันหลังพักอยู่เบาะแรงกดต่อหมอนรองกระดูกก็ลดลง
อย่างไรก็ตาม พึงระลึกเสมอว่าโน้ตบุ๊กเหมาะสำหรับการใช้ชั่วคราว ใช้เมื่อทำงานนอกสถานที่หรือเปลี่ยนที่ทำงานบ่อย ดังนั้น ไม่ควรใช้โน้ตบุ๊กต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ