‘โนนสำราญ-ยางเรียน’ร.ร.ต้นแบบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ท่ามกลางแดดที่ร้อนจ้าในช่วงบ่าย กลับไม่ทำให้นักเรียนชั้น ป.5-ป.6 โรงเรียนบ้านโนนสำราญ – ยางเรียน รู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับภารกิจเก็บขยะ ที่น้ำตกถ้ำพระ อ.เซกา จ.บึงกาฬ แหล่งท่องเที่ยวถิ่นเกิดของพวกเขา แต่กลับเพลิดเพลินสนุกสนานเหมือนกำลังวิ่งเล่นอยู่สนามเด็กเล่นขนาดใหญ่

ด.ญ.อาภัสรา แสงพล หรือน้องมิ้น วัย 13 ปี ศิษย์เก่าโรงเรียนบ้านโนนสำราญ-ยางเรียน เล่าให้ฟังขณะเก็บขยะไปด้วยว่า ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เธอกับเพื่อนๆ และรุ่นน้องจะเดินทางขึ้นไปยังน้ำตกถ้ำพระ ต้นน้ำที่ไหลลงสู่ห้วยบังบาตร สายน้ำที่หล่อเลี้ยงชุมชนบ้านโนนสำราญ-ยางเรียน ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง ณ หมู่บ้านชัยพร จ.บึงกาฬ เพื่อเก็บขยะที่มาจากนักท่องเที่ยว หนึ่งในกิจกรรมการเรียนการสอนรายวิชาเพิ่มเติม กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง ห้วยบังบาตรภูวัว ใน “ชมรมคนรักภูวัว” ของครูเจียมใจ รุ่งเรืองวงศ์ โรงเรียนบ้านโนนสำราญ-ยางเรียน

“ตอนเรียนในห้องคุณครูให้ลงพื้นที่ไปสำรวจว่า หมู่บ้านของพวกเรามีปัญหาอะไรบ้าง พบเยอะเลยค่ะ เช่น ตลิ่งห้วยบังบาตรพัง น้ำตื้นเขิน คราบน้ำมันจากเรือโดยสารที่นำนักท่องเที่ยวขึ้นไปยังน้ำตก ขยะก็เยอะ หลังจากนั้นเราก็มาหาว่า ปัญหาไหนสำคัญและควรแก้ไขก่อน-หลัง ตอนแรกพวกเราจะแก้ปัญหาคราบน้ำมัน พอคุยกันไปมา และคุณครูบอกว่า ถ้าหากเราทำอย่างนั้นจะกระทบต่อคนขับเรือไหม พวกเราจึงเลือกแก้ปัญหาตลิ่งพัง โดยการไปค้นหาวิธีในอินเทอร์เน็ต เขาบอกว่าต้องปลูกหญ้าแฝกบริเวณตลิ่ง เพื่อชะลอการพังทลายของหน้าดิน ส่วนน้องๆ ป.5 แก้ไขปัญหาขยะที่นักท่องเที่ยวนำขึ้นไปแล้วไม่นำกลับลงมาทิ้ง”  น้องมิ้น กล่าว

น้องมิ้น บอกว่า ตอนนั้นเรียนอยู่ ป.6 แต่ถึงตอนนี้จบออกไปแล้วก็ยังขึ้นไปที่น้ำตกถ้ำพระ ช่วยรุ่นน้องเก็บขยะอยู่เป็นประจำ เพราะต้องการรักษาและอนุรักษ์ธรรมชาติที่งดงามของบ้านเกิดให้ยั่งยืน และเพื่อเป็นการดึงนักท่องเที่ยวให้อยากมาเยือน อีกทั้งน้ำสายนี้คือเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตของคนน้ำโขง

ครูเจียมใจ กล่าวว่า แรงบันดาลใจที่ทำให้สร้างหลักสูตรท้องถิ่นขึ้น เพราะต้องการให้นักเรียนรู้จักคิดแก้ปัญหา วิเคราะห์ โดยนำความรู้ที่ได้จากการอบรม 7 กระบวนการเรียนรู้ พัฒนาสิ่งแวดล้อมคนถิ่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 1.สำรวจสภาพปัญหา 2.ให้ความรู้ฐาน 3.วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่เรียนกับวิถีชีวิตเพื่อเชื่อมโยงสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน 4.การเรียนรู้รอด 5.วางแผนตามทางเลือกที่กำหนดไว้ 4 ขั้นตอน การวางแผน การลงมือปฏิบัติ การสอบงาน และการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น ที่เรียกว่าระบบ plan-do-check-act (pdca) มาเป็นเครื่องมือ 6.ลงมือปฏิบัติตามแผนงาน โดยดึงชุมชนเข้ามาร่วม และ7.การแลกเปลี่ยนเรียนรู้

7 กระบวนการเรียนรู้เมื่อนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทชุมชนผ่านการทำโครงงาน เริ่มจากสิ่งใกล้ตัว คือชุมชนมีแหล่งท่องเที่ยวน้ำตกและป่าภูวัว เมื่อมีธรรมชาติที่สวยงามเป็นการดึงนักท่องเที่ยว เกิดปัญหาขยะจำนวนมาก ตลิ่งห้วยบังบาตรพัง ได้ 7 กระบวนการเรียนรู้ ดังนี้ 1.จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ 2.ย้อนรอยอดีต 3.ห้วยบังบาตรเปลี่ยนไป 4.วิถีไทบ้าน 5.สรรค์สร้างทางแก้ 6.ดูแลร่วมกัน และ7.ห้วยบังบาตรยั่งยืน

ครูเจียมใจ พบว่า ผลที่เห็นชัดเจนคือ นักเรียนมีพัฒนาการเรื่องการคิดวิเคราะห์มากขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ รู้จักวางแผน มองอนาคตออก กล้าพูด กล้าแสดงออก กล้าที่จะนำเสนอ และสิ่งที่ตามมาคือ นักเรียนเกิดจิตสำนึกรักษ์บ้านเกิด ดูแลรักษาสภาพแวดล้อมในชุมชนอย่างยั่งยืน

“ครูแค่ให้โจทย์ แล้วให้เขาคิดเองตามขั้นตอน 7 ขั้น หากเกิดปัญหาระหว่างทำงานครูก็จะไม่ช่วยแก้แต่จะเป็นเชิงให้คำแนะนำ ผลออกมาครูพอใจมากอย่างเด็กบางคนเป็นสมาธิสั้น เรียนไม่ทันเพื่อน เด็กบางคนเป็นเด็กซนหลังห้องไม่ทำกิจกรรมอะไรเลย เขาเรียนดีขึ้น มีสมาธิมากขึ้น หันมาทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ และโรงเรียน ครูเหลือเวลาอีก 7 ปี จะเกษียณ ขออยู่กับเด็กๆ ช่วยเขาให้อยู่ในระบบการศึกษา หากจะหลุดก็ขอให้มีทักษะการใช้ชีวิตติดตัวไปด้วย” ครูเจียมใจ กล่าว

ด้วยการนำกระบวนการดังกล่าวมาใช้ ทำให้โรงเรียนแห่งนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นต้นแบบโรงเรียนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ “อีโค สคูล” ด้านครูเจียมใจเจ้าของความสำเร็จได้รับคัดเลือกให้เข้ารับทุนครูสอนดีจังหวัดบึงกาฬ จากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ผู้ที่สนใจโทรศัพท์สอบถามได้ที่ นายไพบูลย์ รุ่งเรืองวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียน 08-1739-1106 นางเจียมใจ รุ่งเรืองวงศ์ 08-6235-4449

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก โดย ขวัญเรียม แก้วสุวรรณ

Shares:
QR Code :
QR Code